ผู้ผลิตยาของอินเดียได้รับประโยชน์จากพื้นที่นอกประเทศจีน

รอยเตอร์
ผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้ผลิตยาพยายามลดทอนการพึ่งพาผู้รับเหมาจากจีนในการผลิตยาเพื่อการทดลองทางคลินิกและการผลิตในขั้นต้น ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เป็นประโยชน์กับบริษัทของอินเดีย
ปัจจัยต่าง ๆ อย่างต้นทุนที่ถูกและความรวดเร็วในการผลิตทำให้ผู้ผลิตยาตามสัญญาในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวเลือกที่ต้องการสำหรับการวิจัยทางเภสัชกรรมและบริการด้านการผลิตเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ซึ่งยังคงเป็นเช่นนั้นแม้ว่าจะเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดกับรัฐบาลจีนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลแนะนำให้บริษัทต่าง ๆ “ลดความเสี่ยง” ด้านห่วงโซ่อุปทานจากจีนลง
ซึ่งนำไปสู่การที่บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพพิจารณาใช้ผู้ผลิตในอินเดียเพื่อการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมสำหรับการทดลองทางคลินิกหรืองานจัดจ้างภายนอกอื่น ๆ
“ณ วันนี้ คุณอาจไม่ได้ส่งคำขอข้อเสนอให้กับบริษัทจีน” นายทอมมี เอร์เด หัวหน้าร่วมของฝ่ายวาณิชธนกิจด้านการดูแลสุขภาพที่เจฟเฟอร์รีส์ ซึ่งเป็นบริษัทวาณิชธนกิจในนิวยอร์ก “เหมือนกับว่า ‘ผมไม่อยากรู้ คงไม่สำคัญหรอกว่าพวกเขาสามารถทำได้ในราคาที่ถูกกว่า ผมแค่ไม่อยากเริ่มนำผลิตภัณฑ์ของผมเข้าไปในจีน’ ”
ดร. แอชนิช นิมกาออนกา ผู้ก่อตั้งไกลเซนด์ เทอราพิวติกส์ บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในสหรัฐอเมริกาที่ทำการทดลองการรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 และโรคอ้วนในการทดลองระยะแรก กล่าวแสดงความเห็นด้วย “ปัจจัยทั้งหมดตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้จีนเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจน้อยลงสำหรับเรา” ดร. นิมกาออนกากล่าว
องค์กรการพัฒนาและการผลิตตามสัญญาของอินเดียจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าเมื่อไกลเซนด์ร้องขอข้อเสนอในภายหลังในขั้นตอนการพัฒนายา ดร. นิมกาออนกากล่าว
องค์กรการพัฒนาและการผลิตตามสัญญาที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียสี่แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ไซจีน อราเจนไลฟ์ไซแอนส์ พิรามอลฟาร์มาโซลูชัน และไซไลฟ์ไซแอนส์ ต่างกล่าวว่าความสนใจและคำขอจากบริษัทเภสัชกรรมตะวันตกรวมทั้งนานาชาติได้เพิ่มสูงขึ้นใน พ.ศ. 2566
ผู้บริหารระดับสูงของบริษัททั้งสี่แห่งกล่าวว่า ลูกค้าบางรายต้องการเพิ่มอินเดียเข้าไปเป็นแหล่งผลิตที่สอง ในขณะที่รายอื่น ๆ ต้องการจะเลิกใช้บริการจีนและสร้างต้นกำหนดห่วงโซ่อุปทานในอินเดีย
อินเดียมุ่งที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มยอดขายของอุตสาหกรรมเภสัชกรรมมูลค่า 1.45 ล้านล้านบาท (ประมาณ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของตน
มอร์ดอร์อินเทลิเจนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทการวิจัยในอินเดีย คาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมองค์กรการพัฒนาและการผลิตตามสัญญาที่ 5.4 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2566 เมื่อเทียบกับ 9.39 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในจีน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้ต่อปีของอินเดียคาดว่าจะเกินร้อยละ 11 ในอีกห้าปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของจีนที่ร้อยละ 9.6
ไซไลฟ์ไซแอนส์กล่าวว่าบริษัทได้เพิ่มกำลังผลิตขึ้นเป็นเกือบสองเท่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2562 โดยวางแผนที่จะขยายออกไปอีกร้อยละ 25 ในปีถัด ๆ ไป
นายราเมช สุบรามาเนียน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ของอราเจนไลฟ์ไซแอนส์ ซึ่งได้เติบโตขึ้นจากจำนวนพนักงาน 2,500 คนเป็น 4,500 คนในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ได้กล่าวว่าการเติบโตของรายได้ที่ร้อยละ 21 ใน พ.ศ. 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสัญญาใหม่กับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในตะวันตก