ประเทศต่าง ๆ พิจารณาใช้เส้นทางการค้าอื่น หลังใกล้ถึงขีดจำกัดของช่องแคบมะละกา

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ไม่กี่นาทีหลังจากเที่ยงคืนของวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ เอ็มวีกาลาปากอส และเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เซเฟอร์ลูมอส ชนกันขณะที่เรือขนาดมหึมาทั้งสองลำแล่นผ่านช่องแคบมะละกานอกชายฝั่งทางตอนใต้ของมาเลเซีย ความมืดที่ปกคลุมทะเลและท้องฟ้าถูกทะลวงโดยลำแสงที่ส่องนำทางจากเรือกว่า 250 ลำ ที่แล่นผ่านช่องทางแคบ ๆ ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกในแต่ละวัน เพื่อส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ จำนวนมากของโลก
การชนกันในครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นเพราะการทำงานผิดพลาดของระบบหางเสือของเรือเอ็มวีกาลาปากอส ซึ่งทำให้เกิดรูรั่วขนาดใหญ่บนตัวเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีความยาว 225 เมตรลำนี้ ซึ่งเป็นการหยุดชะงักการเดินทางจากออสเตรเลียตะวันออกไปยังอินเดียตะวันออกของเรือลำนี้ ตามข้อมูลจากรายงานภาคอุตสาหกรรม ไม่มีผู้บาดเจ็บจากทั้งทางฝั่งของเรือเอ็มวีกาลาปากอสที่ติดธงมอลตาลำนี้และเรือเซเฟอร์ลูมอสที่ติดธงสหราชอาณาจักรที่มีความยาว 366 เมตร ซึ่งได้เริ่มใช้งานเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ และกำลังเดินทางจากสิงคโปร์ไปยังคลองสุเอซ แต่มีน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจากรอยบนกราบขวาของเรือเอ็มวีกาลาปากอส ไหลปะปนลงในน้ำ
การชนกันในครั้งดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนความทรงจำอันน่าหวาดหวั่นถึงความไม่แน่นอนของจุดแออัดในทะเล ที่ซึ่งอุบัติเหตุ การปิดกั้น ความขัดแย้ง หรือการกระทำอันเป็นโจรสลัดอาจส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลกได้ ช่องแคบมะละกาที่มีลักษณะเป็นรูปกรวยนี้ เป็นช่องแคบที่แบ่งกั้นคาบสมุทรมลายูกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย และมีพื้นที่ที่แคบเพียง 2.7 กิโลเมตร ซึ่งเท่ากับเรือเซเฟอร์ลูมอสประมาณ 7 ลำเรียงติดต่อกัน
มีเรือประมาณ 100,000 ลำแล่นผ่านเส้นทางน้ำดังกล่าวทุกปี ซึ่งเป็นเส้นทางทางทะเลที่สั้นที่สุดระหว่างมหาสมุทรสองแห่ง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่กลับมีความลึกเพียง 23 เมตร ตามข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก สินค้าของเรือที่แล่นผ่านเส้นทางน้ำนี้มีมูลค่าทางการค้าถึง 121 ล้านล้านบาท (ประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของการนำเข้าพลังงานของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และประมาณร้อยละ 80 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
อย่างไรก็ตาม ภายใน พ.ศ. 2573 การขนส่งทางเรือคาดว่าจะเกินขีดจำกัดของช่องแคบมะละกา ซึ่งถือเป็นเส้นตายที่กำลังใกล้จะมาถึงที่ดึงความสนใจจากทุกฝ่ายทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกและพื้นที่อื่น ๆ ให้หาเส้นทางการค้าอื่น ๆ สหรัฐอเมริกา รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนรับรองถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจผ่านเส้นทางในทะเลที่ปลอดภัยและมั่นคง
ทางเลือกอื่นที่จะมาแทนช่องแคบมะละกาได้รับการเสนอมาตั้งแต่ที่เมืองท่าที่ใช้ชื่อเดียวกับช่องแคบได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในศตวรรษที่ 16 รวมถึงยังมี “ข้อเสนอเก่าแก่ที่มีอายุหลายร้อยปีในการขุดลอกคลองผ่านคอคอดกระ” ในคาบสมุทรมลายู ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
หากไม่มีการเข้าถึงช่องแคบมะละกา ซึ่งมีการจราจรมากเป็นสามเท่าของการจราจรในคลองปานามาและคลองสุเอซรวมกัน “เกือบครึ่งหนึ่งของเรือขนส่งทั่วโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางรอบหมู่เกาะอินโดนีเซีย” เช่นผ่านทางช่องแคบลมบกหรือช่องแคบซุนดา ตามรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ
เช่น การเปลี่ยนเส้นทางเป็นการเดินทางผ่านช่องแคบลมบกจะทำให้ระยะทางไกลขึ้นประมาณ 4,600 กิโลเมตรและใช้เวลานานขึ้น 170 ชั่วโมง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 “การเปลี่ยนเส้นทางจะทำให้ขีดจำกัดการขนส่งทั่วโลกติดขัด และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง และอาจส่งผลต่อราคาพลังงาน” ตามรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ
หุ้นส่วนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์มุ่งที่จะต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและลดการชนกันและการเกยตื้นในช่องแคบมะละกาด้วยการแบ่งปันข้อมูลการลาดตระเวนทางทะเลร่วมกัน ในขณะเดียวกัน โครงการอื่น ๆ ก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างความก้าวหน้าในการรับรองถึงการค้าที่ไร้ซึ่งอุปสรรค
“เมื่อคำนึงถึงผลกระทบแบบระลอกคลื่นที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการรักษากระแสสินค้าที่เปิดกว้างผ่านจุดแออัดอย่างช่องแคบมะละกาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแต่สำหรับประเทศที่อยู่ติดกันเท่านั้น แต่ยังสำคัญสำหรับประชาคมโลกด้วย” ตามรายงานของนิตยสารอินไซด์ซัพพลายแมเนจเมนต์ ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของสถาบันเพื่อการบริหารอุปทาน “ความท้าทายเหล่านี้ยังแสดงถึงโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมและบริษัทในการคิดทบทวนและสร้างความหลากหลายให้กับห่วงโซ่อุปทานของตน สำรวจหาหุ้นส่วนและเส้นทางใหม่ ๆ เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
“นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การติดตามสินค้าที่พัฒนาขึ้นและการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ อาจช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถเตรียมพร้อมได้ดีขึ้นต่อการคาดการณ์และตอบสนองต่อการหยุดชะงักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ตามรายงานของนิตยสารอินไซด์ซัพพลายแมเนจเมนต์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566
ในเดือนเดียวกันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ได้เชิญชวนให้มีการลงทุนในสะพานเชื่อมที่มูลค่า 9.76 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทยเพื่อข้ามช่องแคบ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ นายเศรษฐากล่าวว่า โครงการที่มีความยาว 100 กิโลเมตรนี้จะเชื่อมต่อท่าเรือในทะเลอันดามันเข้ากับอ่าวไทยผ่านเครือข่ายถนน รถไฟ และท่อ ซึ่งจะลดระยะเวลาการขนส่งลงสี่วันและลดต้นทุนลงร้อยละ 15
“สะพานเชื่อมจะเป็นเส้นทางที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่งในการสนับสนุนการขนส่ง และเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาช่องแคบมะละกา” นายเศรษฐากล่าวในซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ที่นายเศรษฐาได้เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก “นี่จะเป็นเส้นทางที่ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า”
โครงการดังกล่าวอาจเป็นที่น่าดึงดูดใจต่อประเทศในอินโดแปซิฟิก รวมถึงสมาชิกการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด อย่าง ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันก็ตอบโต้ความพยายามของรัฐบาลจีนในการสร้างอิทธิพลในฐานะผู้ให้กู้เงิน ตามข้อมูลจากบทความที่เผยแพร่โดยสถาบันโลวีในกรุงซิดนีย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566
บทความดังกล่าวระบุว่า ภูมิภาคนี้ถือว่าเป็น “ประตูความมั่นคง” สำหรับออสเตรเลีย ซึ่งต้องอาศัยการค้าทางทะเลอย่างมาก “การลงทุนของออสเตรเลียในการพัฒนาดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้มีการกระชับความสัมพันธ์ สร้างเส้นทางการค้าใหม่ และลดแรงกดดันต่อจุดแออัดในทะเลในช่องแคบมะละกา และอาจช่วยให้สามารถเข้าถึงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งของประเทศไทยได้”