ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายมาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับการบุกรุก “เข้าใกล้ชายฝั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ” นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566

สถานการณ์เริ่ม “เลวร้ายมากขึ้น” นายมาร์กอสกล่าวที่ศูนย์เอเชียแปซิฟิกเพื่อการศึกษาด้านความมั่นคงแดเนียล เค. อิโนะอุเอะ ในโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ความคืบหน้าเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นไปอย่างช้า ๆ ดังนั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงเร่งพัฒนาระเบียบการของตนเองพร้อมหาโอกาสทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซียและเวียดนามที่มีข้อพิพาทด้านอาณาเขตทางทะเลเช่นเดียวกัน

จีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงอาณาเขตภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ แม้ว่าศาลระหว่างประเทศจะตัดสินใน พ.ศ. 2559 ว่าการยืนยันสิทธิ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง รัฐบาลจีนได้เพิกเฉยต่อคำตัดสินดังกล่าว และยังคงคุกคามลูกเรือประมงและเจ้าหน้าที่ทหารของฟิลิปปินส์ในภูมิภาค นายมาร์กอสกล่าวว่า “ยุทธวิธีเชิงบีบบังคับและการซ้อมรบที่เป็นอันตราย” ของกองกำลังรักษาชายฝั่งและกองกำลังทางทะเลต่างชาติ “กำลังทำให้ชีวิตของประชาชนของเราตกอยู่ในความเสี่ยง” โดยไม่ได้มีการระบุถึงจีน

“ความตึงเครียดกำลังเพิ่มขึ้น” นายมาร์กอสกล่าวและเสริมว่าฟิลิปปินส์ต้องยกระดับความร่วมมือและทรัพยากรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน “ฟิลิปปินส์จะไม่ยอมยกพื้นที่ของเราแม้แต่หนึ่งตารางนิ้วให้แก่มหาอำนาจต่างชาติใด ๆ”

นายมาร์กอสกล่าวว่าความเป็นพันธมิตรที่ไม่อาจทำลายได้ของรัฐบาลฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางสนธิสัญญาด้านกลาโหมมากว่า 72 ปี ยังคงเป็นหุ้นส่วนที่เป็นรากฐานสำคัญของฟิลิปปินส์ กองกำลังติดอาวุธของฟิลิปปินส์ยังคงยกระดับความร่วมมือและขีดความสามารถ “เมื่อเผชิญกับความท้าทายต่อความมั่นคงของเราในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เพิ่มขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลง” นายมาร์กอสกล่าว

โฮโนลูลูเป็นสถานที่สุดท้ายในการเยือนสหรัฐฯ สามเมืองในระยะเวลาหกวันของนายมาร์กอส หลังจากที่ได้เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย “เราจำเป็นต้องเร่งความพยายามในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายด้วยมุมมองที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในลักษณะที่ยั่งยืน ซึ่งสร้างงาน ดึงผู้คนเข้าสู่เศรษฐกิจกระแสหลัก รวมถึงลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ” นายมาร์กอสกล่าวในที่ประชุมกับผู้นำของ 21 ประเทศเศรษฐกิจในภูมิภาค ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะมะนิลาไทมส์

ในโฮโนลูลู มาร์กอสได้เน้นย้ำถึงข้อตกลงที่ลงนามกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับแนวทางของการประชุมสุดยอดซึ่งจะช่วยให้มั่นใจว่าจะมีการจัดหาพลังงานนิวเคลียร์ที่ “ราคาไม่แพง เชื่อถือได้ และยั่งยืน” สำหรับฟิลิปปินส์ รัฐบาลฟิลิปปินส์ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 75 ภายใน พ.ศ. 2573 และพลังงานนิวเคลียร์จะช่วยให้ฟิลิปปินส์บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์โฮโนลูลูสตาร์แอดเวอร์ไทเซอร์ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน

ที่ฮาวาย นายมาร์กอสได้พบกับผู้นำทหารระดับสูงของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึง พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับการกระทำการเพื่อยืนยันสิทธิ์ของจีนเกี่ยวกับไต้หวันที่ปกครองตนเองและในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ หนึ่งวันหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ของนายมาร์กอส กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้ประกาศการลาดตระเวนทางอากาศและทางเรือร่วมกัน ซึ่งจะเริ่มต้นจากมาวูลิส ซึ่งเป็นเกาะเหนือสุดของฟิลิปปินส์ที่อยู่ห่างจากไต้หวันประมาณ 100 กิโลเมตร

ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้จัดการฝึกทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษไปเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566

นายมาร์กอสได้พูดถึง “ความท้าทายและโอกาสที่สำคัญ” ซึ่งรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ เทคโนโลยีทางทหารในอวกาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความจำเป็นในการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงโครงการขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ นายมาร์กอสกล่าวว่าเทคโนโลยีไซเบอร์และนวัตกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วอื่น ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ นำมาทั้งประโยชน์และความเสี่ยง โดยเน้นย้ำว่าเทคโนโลยีสามารถนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาได้หากประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

“ฟิลิปปินส์จะยังคงเป็นเพื่อนบ้านและหุ้นส่วนที่มีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบ” นายมาร์กอสกล่าว “ซึ่งจะคอยหาทางทำงานร่วมกันโดยมีจุดหมายปลายทางคือผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ สันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button