ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากผ่านไปราวสิบปี
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ในช่วงสิบปีนับตั้งแต่นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกาศโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีหลักฐานปรากฏเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าโครงการที่กว้างขวางของแผนงานดังกล่าวมักเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เป็นวิสัยทัศน์ของนายสี ในการเพิ่มการเข้าถึงของสาธารณรัฐประชาชนจีนทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก แอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรป ทำให้รัฐบาลจีนได้แจกจ่ายเงินไปมากกว่า 46.4 ล้านล้านบาท (ประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์) ในการสร้างถนน ทางรถไฟ เขื่อน โรงไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ จีนให้เงินทุนสนับสนุนโครงการโดยส่วนมากผ่านเงินกู้ที่ทำให้ประเทศที่กู้ยืมเงินมีภาระหนี้ และมีหลายแผนงานถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม บางชุมชนได้ต่อสู้กับการพัฒนาของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทำให้โครงการถูกระงับและบีบบังคับให้โครงการอื่น ๆ ต้องลดขนาดลง เนื่องด้วยความกังวลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและน้ำ การพังทลายของดิน และการพลัดถิ่นของประชากร
เช่น กลุ่มสิ่งแวดล้อมในอินโดนีเซียได้ตรวจสอบการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนเกาะสุมาตราของบริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชัน จำกัด ของจีน โดยระบุว่าโครงการนี้จะเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงและคุกคามสายพันธุ์อุรังอุตังที่ใกล้สูญพันธุ์ เหตุการณ์แผ่นดินถล่มและอุโมงค์ถล่มที่ไซต์ก่อสร้างบาตังโตรูมีผู้เสียชีวิต 17 คนตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ตามข้อมูลจากมองกาเบย์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข่าววิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ได้ประกาศในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ว่าจะยกเลิกการนำเงินในกองทุนบำเหน็จบำนาญของประเทศไปลงทุนใน เพาเวอร์คอนสตรักชันกรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซิโนไฮโดร จำกัด ของจีน โดยอ้างถึงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม
การไหลเข้าของเมกะโปรเจกต์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในลาวทำให้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น ตามข้อมูลในเอกสารการทำงานจากศูนย์นโยบายการพัฒนาทั่วโลกของมหาวิทยาลัยบอสตัน การป้องกันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบจากการพัฒนาเหล่านี้มักถูกละเลยเนื่องจากต้องการเร่งรัด “โครงการสำคัญ” ซึ่งรวมถึงรถไฟความเร็วสูงจากเวียงจันทน์เมืองหลวงของลาว ไปยังบ่อเต็นที่ชายแดนจีน นักวิจารณ์กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับค่าชดเชยและการสื่อสารกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่สอดคล้องกัน การตัดไม้ทำลายป่าและการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นอาจทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวที่นำเชื้อโรค และกลายเป็นต้นตอของการระบาดใหญ่ครั้งใหม่ ตามรายงานของรอยเตอร์
เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จีนได้พยายามปกปิดการมีส่วนร่วมของตนโดยใช้บริษัทต่างชาติเป็นตัวกลาง ตัวอย่างกรณีหนึ่งคือ บริษัทเพาเวอร์คอนสตรักชัน รัฐวิสาหกิจของจีนได้ว่าจ้างผู้รับเหมาชาวอียิปต์เพื่อสร้างสถานีไฟฟ้า จูเลียสไนเรอร์ ของแทนซาเนีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2567 ตามรายงานของ เยล อี360 ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของวิทยาลัยสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเยล นักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นอันตรายต่อเขตห้ามล่าสัตว์เซลูส ซึ่งเป็นมรดกโลกขององค์การสหประชาชาติ และขัดขวางการไหลไปยังดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำรูฟิจิ คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกใน พ.ศ. 2563 เรียกร้องให้รัฐบาลแทนซาเนียละทิ้งโครงการนี้ โดยอ้างว่ามีงานวิจัยไม่เพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของเขื่อน และใน พ.ศ. 2564 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติแนะนำให้นำเซลูสออกจากรายชื่อมรดกโลก เนื่องจากความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างเขื่อน
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลอินโดนีเซียระงับใบอนุญาตการทำเหมืองของบริษัทพีที ไดริ พริมา มิเนอรัล ขณะทำการตรวจสอบความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา บริษัทดังกล่าว ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท ฟอเรนเอนจิเนียร์ริงแอนด์คอนสตรักชัน จำกัด ของอุตสาหกรรมโลหะที่ไม่ใช่เหล็กของจีน ถูกระงับการทำเหมืองสังกะสีในอำเภอไดริที่สุมาตราเหนือ
ในขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ ณ เมืองเดเบรเซน ประเทศฮังการี บริษัท คอนเทมโพรารีแอมเพอเร็กซ์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีนได้ประกาศว่าจะลดขนาดโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามูลค่า 2.8 แสนล้านบาท (ประมาณ 7.9 พันล้านดอลลาร์) ลงร้อยละ 13 หลังจากชุมชนประท้วงการก่อสร้างโรงงานบนที่ดินเพื่อการเกษตรรวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งน้ำ
“นี่คือความก้าวหน้าและอนาคตจริงหรือ” นางเอวา คอซมา ผู้อยู่อาศัยรายหนึ่ง กล่าว “การเทคอนกรีตทับธรรมชาติทั้งที่เรารู้ว่าโรงงานจะสร้างมลพิษมากเพียงใดเช่นนี้น่ะหรือ”