ญี่ปุ่นและอาเซียนกระชับสัมพันธ์ในการประชุมสุดยอดที่มุ่งเน้นความมั่นคงและเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดกับรัฐบาลจีน
ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
ผู้นำจากญี่ปุ่นและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ได้ลงมติรับวิสัยทัศน์ร่วมกันที่มุ่งเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจพร้อมกับเคารพหลักนิติธรรม ในการประชุมสุดยอดพิเศษที่กรุงโตเกียว เมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
เดิมทีความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะอยู่ในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นแก่เศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาเป็นหลัก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์นี้ได้มุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงมากขึ้นจากสถานการณ์ความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้
การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นการครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน ซึ่งเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2516 ด้วยการเจรจาการค้าเกี่ยวกับการส่งออกยางสังเคราะห์ของญี่ปุ่น
ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ได้เรียกร้องให้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน “ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน” และร่วมทำงานเพื่อสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางทะเล เหล่าผู้นำยังได้เรียกร้องให้สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นในภูมิภาคนี้ เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของประชาชนในประเทศที่เกี่ยวข้อง
“เราเห็นพ้องในมุมมองร่วมกันที่จะส่งเสริมให้เกิดภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่เสรีและเปิดกว้าง และยอมรับหลักการสำคัญ เช่น ความเป็นเอกภาพและความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ความเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงความโปร่งใส” แถลงการณ์ของผู้นำในการประชุมสุดยอดระบุ
เหล่าผู้นำยังเน้นย้ำถึง “การเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน การยุติความแตกต่างหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี และการยกเลิกการคุกคามหรือการใช้กำลัง”
แม้ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวจะไม่ได้กล่าวถึงจีน แต่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้กล่าวถึงข้อกังวลในระหว่างการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ตลอดจนอ้างถึงความสำคัญของการยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น
ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้ลงมติรับแผนการดำเนินงานจำนวน 130 โครงการ ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงและกลาโหม เช่น การถ่ายโอนเทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์ทางกลาโหม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการแก้ไขปัญหาการบิดเบือนข้อมูล นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมการสนับสนุนการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ตลอดจนการลงทุน เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค
“เนื่องจากความแตกแยกและการเผชิญหน้าทวีความรุนแรงขึ้นและโลกต้องเผชิญกับหลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ญี่ปุ่นจึงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกับอาเซียนซึ่งเป็นเสาหลักของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในการประชุมข่าวกับนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน
“เราจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่โดยอาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกันของเรา และมีส่วนในการสร้างความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคเพื่อสร้างโลกที่ผู้คนได้ประโยชน์พร้อมกับได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีของตนเอง” นายคิชิดะกล่าว
ญี่ปุ่นใช้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 และกำลังเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมอย่างรวดเร็วและขยายความร่วมมือเพื่อตอบโต้ความก้าวร้าวของรัฐบาลจีน นายคิชิดะจัดการเจรจาทวิภาคีนอกรอบการประชุมสุดยอดครั้งนี้เนื่องจากญี่ปุ่นพยายามเพิ่มความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับประเทศสมาชิกอาเซียน
นายคิชิดะและนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 97.7 ล้านบาท (ประมาณ 2.8 ล้านดอลลาร์) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางทะเลของมาเลเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการของญี่ปุ่นที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงของกองทัพของประเทศมิตร
ความช่วยเหลือนี้รวมถึงเรือกู้ภัยและอุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับมาเลเซีย ซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญบนเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออก และมีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการเตือนภัยและเฝ้าระวังของทั้งภูมิภาค
ในขณะเดียวกัน นายคิชิดะและนายวิโดโดได้ตกลงที่จะอนุมัติเงินสนับสนุนสูงถึง 2.2 พันล้านบาท (ประมาณ 63.7 ล้านดอลลาร์) สำหรับแผนการพัฒนาขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงเรือลาดตระเวนที่ต่อโดยญี่ปุ่น
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่นประกาศว่าจะมอบเรดาร์เฝ้าระวังชายฝั่งแก่กองทัพเรือฟิลิปปินส์ และประเทศต่าง ๆ ก็ตกลงที่จะเริ่มการเจรจาสำหรับข้อตกลงกลาโหมที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงดินแดนของกำลังพลสำหรับการฝึกทางทหารร่วมกัน เมื่อกลางเดือนธันวาคม รัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่งของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน ญี่ปุ่นและเวียดนามยังได้ตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ของตนไปสู่ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมระดับสูงสุด ซึ่งทั้งสองประเทศจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านกลาโหมในวงกว้างยิ่งขึ้น