ความมุ่งมั่น ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว
พันธมิตรและหุ้นส่วนรวมตัวกันในออสเตรเลียเพื่อเข้าร่วมการฝึกซ้อมทาลิสมันเซเบอร์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
พ.อ. เบน แม็กเลนแนน แห่งกองทัพออสเตรเลียก้าวเท้าราวกับนักเต้นรำเมื่อเดินผ่านควีนส์แลนด์ตะวันออกเฉียง-เหนือ เนื่องจากระมัดระวังไม่ให้เหยียบโมเดลศัตรูที่อยู่บนพื้น พ.อ. แม็กเลนแนนเดินไปบนแผนที่ขนาด 8 คูณ 16 เมตร ที่เต็มไปด้วยโมเดลพลาสติกสีแดงและสีน้ำเงินของรถถัง เรือรบ อากาศยาน และกองทหารพร้อมชี้แจงกลยุทธ์ของทาลิสมันเซเบอร์กับ พ.จ. เคนโรเบิร์ตสัน ที่ปรึกษาการทหารอาวุโสของหัวหน้ากองทัพออสเตรเลีย โดยเป็นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ระหว่างกลางของ “การแข่งขันโอลิมปิกสงคราม” ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมสำคัญที่มีพลทหาร 34,500 นาย จากสิบกว่าประเทศมารวมตัวกันที่ออสเตรเลีย เพื่อทำการฝึกซ้อมในสถานการณ์จริงและแบบจำลองในทุกขอบเขตของการสู้รบในสงคราม
“เราถือว่านี่เป็นการฝึกซ้อมเช่นเดียวกับกิจกรรมทางทหารอื่น ๆ” พ.อ. แม็กเลนแนน กล่าวกับ พ.จ. โรเบิร์ตสัน ซึ่งนั่งโน้มตัวไปข้างหน้าบนเก้าอี้ตัวหนึ่งที่เรียงยาวไปตามแนวเส้นรอบวงเขตความขัดแย้งจำลอง “เรากำลังฝึกซ้อมแง่มุมสำคัญเกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องใช้ในปฏิบัติการและการต่อสู้แบบกองกำลังผสม นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกัน การแก้ปัญหาร่วมกัน ความร่วมมือที่จะฝึกอบรมร่วมกันเพื่อให้เราดีขึ้นไปพร้อมกัน และหากจำเป็น เราจะดำเนินการ ร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคของเรา”
การฝึกซ้อมทุกสองปีของออสเตรเลีย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 10 นี้มีขนาดใหญ่และซับซ้อนอย่างไม่มีใครเทียบได้ โดยสะท้อนถึงความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ในอินโด- แปซิฟิกได้อย่างมาก เช่น ความตึงเครียดที่เกิดจากการเสริมสร้างกำลังทหารอย่างรวดเร็วของรัฐบาลจีนการยิงขีปนาวุธที่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลเกาหลีเหนือและการโจมตียูเครนอย่างไร้เหตุผลของรัฐบาลรัสเซีย ในขณะเดียวกัน การฝึกซ้อมนี้ก็เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือของประเทศที่มีแนวคิดคล้ายกัน สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากรายชื่อผู้เข้าร่วมการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ครั้งที่หนึ่ง ซึ่งได้แก่ ฟิจิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี และตองงา รวมถึงผู้ที่มาสังเกตการณ์เป็นครั้งแรกอย่างอินเดีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ตองงา การฝึกซ้อมระยะเวลา 2 สัปดาห์นี้ถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่ได้เป็น “ส่วนหนึ่งของการจัดการความมั่นคงในภูมิภาค” พ.ท. ทาว อโฮเลเลผู้บัญชาการกองกำลังฉุกเฉินของตองงาในออสเตรเลียกล่าวโดยกองกำลังนี้มีสมาชิก 40 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 7ของกองทัพตองงา “เราทุกคนล้วนมีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่แตกต่างกันไป แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกัน” พ.ท. อโฮเลเล กล่าวกับ ฟอรัมที่สนามฝึกทาวน์สวิลล์ฟิลด์
ของกองทัพออสเตรเลียในควีนส์แลนด์ซึ่งมีพื้นที่ 2,300 ตาราง-กิโลเมตร ใหญ่กว่าตองงาสามเท่า ในฐานะ “หนึ่งในผู้เข้าร่วม
ที่มีขนาดเล็กที่สุด เราก็อยากจะแสดงให้หุ้นส่วนด้านความมั่นคงเห็นว่าเราสามารถมีส่วนสนับสนุน และนอกจากมีส่วนสนับสนุนแล้วเรายังช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่ปฏิบัติการ ความร่วมมือ และเราเป็นหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้และน่าเชื่อถือในเรื่องปฏิบัติการด้านความมั่นคง”
การรวมกองกำลังของตองงาและประเทศอื่น ๆ เข้ามาในการฝึกทาลิสมันเซเบอร์เป็นไปด้วย “ความราบรื่นอย่างยิ่ง” พ.อ. แม็กเลนแนน ผู้บัญชาการศูนย์ฝึกรบของกองทัพออสเตรเลียและผู้มีประสบการณ์ในการฝึกซ้อมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2548 กล่าว “ข้อเท็จจริงที่ว่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี เราได้เพิ่มจาก 2 ประเทศเป็น 13 ประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเป็น 17 ประเทศในครั้งถัดไปนั้นเป็นเรื่องยอดเยี่ยมมาก” พ.อ. แม็กเลนแนนกล่าวกับ ฟอรัม “การประสานกันเกิดขึ้นทั้งกับบุคลากร กระบวนการ
และแพลตฟอร์ม ผมคิดว่าบุคลากรของเราซึ่งมาจากประเทศที่มีแนวคิดคล้ายกัน ประสานกันได้ค่อนข้างดี โดยมีความกระตือรือร้นและความปรารถนาที่จะทำงานร่วมกัน ร่วมมือกัน และเป็นทีมเดียวกันอย่างแท้จริง … ดังนั้นกิจกรรมประเภทนี้
จึงยอดเยี่ยมสำหรับการช่วยพัฒนากระบวนการที่มีร่วมกัน ซึ่งใช้ได้ผลกับบุคลากรจากหลายประเทศ”
ฝึกทักษะให้เฉียบคม
ในเต็นท์และรถเทรลเลอร์ที่ห่างไม่กี่ก้าวจากแผนที่ของ พ.อ. แม็กเลนแนนที่ทาวน์สวิลล์ฟิลด์ มีนักวิเคราะห์ฝ่ายทหารและพลเรือนนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ใต้จอแสดงผลที่เต็มไปด้วย ฟีดวิดีโอและการแสดงภาพการเคลื่อนไหวของกองทหารแบบดิจิทัล ซึ่งมีภารกิจ คือประเมินประสิทธิภาพเชิงปฏิบัติการแบบเรียลไทม์ โดยลงรายละเอียดถึงระดับบุคคล การเคลื่อนพลลวงที่สะพานข้ามแม่น้ำของกองกำลังผสมจะทำให้ศัตรูตอบโต้ตามที่ คาดหรือไม่ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจะช่วยให้ข้อมูลสำหรับ
การเคลื่อนไหวถัดไป เพื่อทำให้ข้าศึกสับสนพร้อมกับปิดบังเป้าหมายที่แท้จริงได้อย่างไร
การประเมินแบบกำหนดเองประกอบด้วยเครื่องติดตามจีพีเอส อุปกรณ์มือถือ และผู้ฝึกสอนที่เข้าร่วมการฝึก ลองนึกถึงกีฬาระดับมืออาชีพ พ.อ. แม็กเลนแนน กล่าว “เราจะให้ข้อเสนอแนะระหว่างเกมการแข่งขัน แทนที่จะรอให้ข้อเสนอแนะ ในตอนที่สิ้นสุดกิจกรรม ดังนั้นจึงเป็นข้อเสนอแนะสำหรับ การเล่นจังหวะต่อไป ไม่ใช่สำหรับเกมถัดไปในสัปดาห์หน้า” พ.อ. แม็กเลนแนน กล่าวกับหนังสือพิมพ์สตาร์แอนด์สไตรปส์ “นี่เป็นเรื่องของการเรียนรู้และการเติบโตโดยอาศัยข้อเสนอแนะและเครือข่ายการฝึกอบรมของเรา พร้อมข้อเสนอแนะที่ได้จากศูนย์บูรณาการข้อมูลข่าวสารนี้”
การเชื่อมโยงของการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงกับมนุษย์ก็ดำเนินการในภาคส่วนอื่นเช่นกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ทดสอบระบบความพร้อมและสมรรถภาพด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือที่สวมใส่เหนือหัวใจเพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจนในเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ และตัวชี้วัดทางสรีรวิทยาอื่น ๆ เทคโนโลยีนี้ใช้อัลกอริทึมคาดการณ์จึงสามารถแจ้งเตือนแพทย์และผู้นำทีมให้ทราบถึงสัญญาณของความเครียดจากความร้อน ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจ และลดประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของกองทัพยังทำงานในทีมพหุชาติ เพื่อดูแลผู้เข้าร่วมการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ทั่วทวีปออสเตรเลีย ควบคู่กับการยกระดับความพร้อมในการปฏิบัติงานของตนเอง “เป้าหมายของเราคือการทำงานร่วมกันและการมีความสามารถ ในการปรับใช้ร่วมกัน” ร.อ. โจนาธาน โพลาเสก แห่งกองทัพออสเตรเลียและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดจากกองพันสาธารณสุข ที่ 3 กล่าวกับ ฟอรัม ที่คลังสำรองของกองทัพร็อกแฮมตัน หรือ “แคมป์ร็อกกี้” ซึ่งอยู่ห่างจากบริสเบนเมืองหลวงของรัฐ ควีนส์แลนด์ไปทางเหนือประมาณ 520 กิโลเมตร “ออสเตรเลียและอเมริกาเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนานสำหรับ การจัดการกับปัญหาหลายอย่างในโลก และเราพบว่าเรามีมุมมองร่วมกัน และรูปแบบการปฏิบัติที่คล้ายกันในด้านการแพทย์และการพยาบาล และเราสามารถเชื่อมโยงกับวิธีการดำเนินงานของเราแต่ละฝ่ายได้อย่างรวดเร็ว และเข้ากันได้อย่างรวดเร็วเพื่อมอบขีดความ-สามารถประเภทดังกล่าว”
“การสามารถปรับตัว ทำงานร่วมกัน และสื่อสารกันได้ เป็นเรื่องที่ดีมาก” ร.อ. อันเดรีย โบเยอร์ ผู้ช่วยแพทย์ในกองร้อยสนับสนุนทางการแพทย์เขต 144 ของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิยูทาห์ ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมการฝึกครั้งนี้เกือบ 50 คน กล่าวเสริม “เราสามารถทำงานร่วมกันและฝ่าฟันเหตุการณ์บาดเจ็บต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ และกลายเป็นระบบปฏิบัติงาน
ที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวโดยสมบูรณ์ … เราได้เรียนรู้จากกันและกัน มากมาย”
ความร่วมมือและนวัตกรรมดังกล่าวสอดแทรกอยู่ในการฝึก ทาลิสมันเซเบอร์ ซึ่งมีเรือและเรือดำน้ำเกือบ 30 ลำ รวมถึงเครื่องบินมากกว่า 50 ลำที่ปฏิบัติภารกิจมากกว่า 500 ภารกิจ ตัวอย่างความสำเร็จ:
กองทัพออสเตรเลียและกองทัพสหรัฐฯ ใช้ระบบขีปนาวุธเชิงยุทธวิธีของกองทัพบกซึ่งมีพิสัย 300 กิโลเมตร เพื่อโจมตี
เป้าหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขีดความสามารถในการโจมตีแบบหลายขอบเขต
กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นดำเนินการยิงจริงด้วยขีปนาวุธจากพื้นดินสู่เรือประเภท 12 และขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศชูแซมประเภท 3 เป็นครั้งแรกในออสเตรเลีย
กองทัพสาธารณรัฐเกาหลีส่งระบบจรวดยิงหลายครั้งแบบขับเคลื่อนด้วยตนเอง เค239 ชุนมู และปืนใหญ่วิถีโค้งขับเคลื่อน
ด้วยตนเอง เค9 ธันเดอร์ ไปยังออสเตรเลียเป็นครั้งแรก
กองทัพบกและกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้จัดตั้งท่อส่งปิโตรเลียมจากเรือสู่ฝั่งความยาว 3 กิโลเมตรในภาคเหนือของรัฐควีนส์-แลนด์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการส่งกำลังบำรุงในสถานที่ห่างไกล
กองทัพออสเตรเลียและกองทัพสหรัฐฯ ได้สร้างท่าเรือ ลอยน้ำที่มีความยาว 540 เมตรที่เมืองโบเวน รัฐควีนส์แลนด์
เครื่องบินอเนกประสงค์ เคซี-30เอ ของกองทัพอากาศออสเตรเลียและเรือบรรทุกน้ำมัน เคซี-46เอ เพกาซัส ของกองทัพ
อากาศสหรัฐฯ ประสานงานกันในปฏิบัติการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง กลางอากาศเป็นครั้งแรก
เป้าหมายของการฝึกซ้อมขยายขอบเขตไปเกินกว่าการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังหลายกองกำลัง “จุดที่เราพยายามจะพัฒนาคือความสามารถในการสับเปลี่ยนกันได้ ซึ่งถือเป็นขั้นต่อไป เพื่อให้พวกเราทุกคนสามารถปฏิบัติภารกิจ ให้แก่พันธมิตรประเทศอื่นได้ ไม่ว่าตนเองจะติดธงของชาติใด” พล.ร.ต. คริส สโตน ผู้บัญชาการกองกำลังโจมตีนอกประเทศที่ 7 กองกำลังเฉพาะกิจ 76 และกองเรือสะเทินน้ำสะเทินบกแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าวของสถาบันกองทัพเรือสหรัฐฯ “เราพยายามที่จะพัฒนาไปสู่จุดที่เราสามารถประสานงานกันได้ทันทีเหมือนเสียบปลั๊ก โดยมีกลยุทธ์ เทคนิค ขั้นตอน หลักการ ความเข้าใจ การฝึกอบรม และความชำนาญที่คล้ายกัน”
กระชับสายสัมพันธ์
ที่ปลายทางของถนนลูกรังความยาว 25 กิโลเมตรผ่านทุ่งเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเส้นทางคดเคี้ยวขรุขระไม่น่าพิศมัยสำหรับโช้คอัพและเครื่องดื่มที่ไม่มีฝาปิด พล.ท. เกร็ก บิลตัน แห่งกองทัพออสเตรเลีย เฝ้าดูจากบนเนินทรายขณะที่เรือโฮเวอร์คราฟต์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยกพลกองกำลังเยอรมัน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ขึ้นบกที่หาดแลงแฮม ผืนทรายสีทองทอดยาวหน้าอ่าวสตาเนจ ซึ่งอยู่ห่างจากทาวน์สวิลล์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 725 กิโลเมตร ที่ปลายคาบสมุทรซึ่งยื่นไปทางเหนือ ในทะเลคอรัล มีรูปร่างเหมือนหมวกบนหัวของนกแคสโซแวรี บนขอบฟ้าที่มืดครึ้มจากเมฆพายุทำให้เรือรบกลืนไปกับเงาเมฆ จนแทบจะมองไม่เห็น ในขณะที่เรือเคลื่อนไปทางตะวันออก เครื่องบินใบพัดกระดก เอ็มวี-22บี ออสเปรย์ ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ส่งเสียงดังกึกก้องขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ทอดเงาไปตามแนวชายฝั่ง ที่อ่าวโชลวอเตอร์ทางตะวันออกเฉียงใต้ พลร่มอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ได้ดำเนินการแทรกซึมทางยุทธวิธี จาก ซี-130เอส และนาวิกโยธินของเกาหลีใต้ได้ยึดหัวหาด อีกแห่งหนึ่ง
การซ้อมจู่โจมแบบสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความเป็นพหุชาติของการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ “ซึ่งเราเห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นมาร่วมฝึกในวันนี้” นายบิลตัน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการร่วมของกองทัพ-เรือออสเตรเลีย กล่าวกับผู้สื่อข่าว “นอกจากนี้ ยุโรปยังมีความสนใจอย่างมากในภูมิภาคนี้ พวกเขามองว่าการฝึกเหล่านี้เป็นโอกาสให้กองทัพของพวกเขาได้มาปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมนี้” น.อ. โจนาส ลิงก์ แห่งกองพันทหารเรือเยอรมัน เข้าร่วมการส่งกำลังพลครั้งแรกในอินโดแปซิฟิก โดยมีทหารอากาศและทหารราบเยอรมันกว่า 200 นายที่เดินทางมาไกลถึง 15,000 กิโลเมตร ความแตกต่างทางวัฒนธรรมถูกลบล้างด้วยภารกิจที่มีร่วมกันและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน น.อ. ลิงก์ กล่าวที่จุดระดมพลที่อ่าวสตาเนจ “การมีส่วนร่วมกับนาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองกำลังญี่ปุ่นเป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมในการฝึกอบรม เราแต่ละคนพูดภาษาที่แตกต่างกัน แต่เราทุกคนพูดภาษาทหารเดียวกันและทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน”
พล.ท. อารีฟ วิดยันโต แห่งกองทัพอินโดนีเซียนำกำลังพลร่มกว่า 30 นายบุกโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งกำลังพลครั้งแรกของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนกว่า 100 นาย ไปยังการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ “เราได้เรียนรู้มากมายตั้งแต่เริ่มต้นการฝึก แม้แต่ตอนที่วางแผนการฝึก” พล.ท. อารีฟ ผู้บัญชาการกองพันทหารอากาศที่ 501 กล่าวกับ ฟอรัม “นี่เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับกองทหารอินโดนีเซียที่สามารถเข้าร่วมการฝึกขนาดใหญ่เช่นนี้นอกประเทศของเราได้ … นำมาซึ่งประโยชน์มากมายสำหรับเรา ไม่เพียงสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเคียงข้างกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับกองกำลังภาคพื้นดินที่จะสามารถรู้ถึงความสามารถของกองกำลังพันธมิตรและเรียนรู้ มากขึ้นเกี่ยวกับกองกำลังอื่น ๆ”
มีการเรียนรู้และแบ่งปันบทเรียนในพุ่มไม้และที่ค่ายทหาร “เราพูดคุย ถึงแนวคิดเกี่ยวกับอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการแต่ละกองทัพ โดยมองไปที่ด้านต่าง ๆ ที่เราสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้” พ.ท. อโฮเลเล กล่าวพร้อมนั่งคุยกับ พล.ท. อารีฟ ที่โต๊ะพับใกล้กับเต็นท์อันยุ่งเหยิงของทาวน์สวิลล์ฟิลด์และครัวสนามซึ่งมีกลิ่นหอมของ เนื้อแกะย่างและสเต็กแสนรัญจวนใจในยามพลบค่ำกลางฤดูหนาว “นี่เป็นเรื่องของความร่วมมือและการกระชับความสัมพันธ์เหล่านั้น แม้ว่าการนั่งในห้องประชุมแล้วแสดงออกอย่างเป็นทางการและพูดในสิ่งที่ถูกต้องจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่การได้พูดคุยแบบ ตัวต่อตัวจะได้สายสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นรากฐานของการ สร้างความไว้วางใจและความเคารพ”
‘ความมุ่งมั่นที่รวมเป็นหนึ่งเดียว’
น้ำที่ซัดสาดกระเซ็นสูงถึงหน้าต่าง ทำให้ฝุ่นสีโคลนที่ปกคลุมรถโตโยต้า แลนด์ครูเซอร์สีขาวกลายเป็นสีดำทะมึนในขณะที่ พ.อ. ไบรอัน มาร์ติน แห่งกองทัพสหรัฐฯ ขับรถผ่านร่องธารที่ทาวน์สวิลล์ฟิลด์ ทักษะการบังคับรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อของเขาเหนือกว่าระบบส่งกำลังของรถยนต์ที่ดูจะไม่เข้าร่องเข้ารอยดีนัก พ.อ. มาร์ติน ผู้บัญชาการศูนย์-หมุนเวียนข้ามชาติร่วมแปซิฟิกในฮาวาย และรองผู้อำนวยการฝึกทาลิสมัน-เซเบอร์กำลังสำรวจสนามรบที่กว้างใหญ่ เพื่อยืนยันตำแหน่งของตนเองผ่านแผนที่และวิทยุมือถือในขณะที่วิเคราะห์ปฏิบัติการ ขณะก้าวลงจาก แลนด์ครูเซอร์เพื่อสำรวจภูมิประเทศที่โหดร้ายด้วยการเดินเท้า
เขาสังเกตเห็นระยะห่างระหว่างยานพาหนะจำนวนหนึ่งที่พรางตัวอยู่ท่ามกลางไม้พุ่มและต้นไม้ที่หนาแน่น “คุณคงไม่อยากอยู่ในรัศมีการระเบิด 155 มม.” พ.อ. มาร์ติน กล่าวกับ ฟอรัม “การกระจายตัวค่อนข้างดี แต่ตรงนี้ยังแน่นไปหน่อย”
ในการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ครั้งอื่น ศูนย์หมุนเวียนข้ามชาติร่วมแปซิฟิก และศูนย์ฝึกการต่อสู้ของกองทัพออสเตรเลียได้ผสานขีดความสามารถสำหรับปฏิบัติการใช้กำลังบุกรุกร่วมระยะเวลา 10 วัน ซึ่งปกป้องสาธารณรัฐเกาะจากศัตรูที่รุกราน โดยที่กองกำลังแนวร่วมมีจำนวนมากกว่าอย่างมาก สถานการณ์ที่ยืดหยุ่นและทดสอบความมุ่งมั่นทำให้นักวางแผน “สร้างความไม่แน่นอนและแรงกดดันได้” พ.อ. มาร์ตินกล่าว “นี่แสดงให้เห็นถึงการที่ประเทศที่มีความคิดคล้ายกันมารวมตัวกันทำงานเพื่อเป้าหมายทางทหารร่วมกัน และแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้ในแง่มุมของการแสดงออกถึงอำนาจและการดำเนินการ
ใช้อำนาจในภาคพื้นดินที่เด็ดขาดในภูมิภาคแปซิฟิก”
ตั้งแต่การวางแผนจนถึงการลงมือปฏิบัติ การฝึกครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ ที่ทรงพลังในการขยายความร่วมมือทางทหารของออสเตรเลียและสหรัฐฯ ซึ่งมีมานานกว่าหนึ่งศตวรรษนับตั้งแต่สนามเพลาะของแนวรบ ด้านตะวันตกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับการตอกย้ำด้วยสนธิสัญญาการป้องกันร่วมที่ลงนามใน พ.ศ. 2494 เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่การฝึกซ้อมจะเริ่มขึ้น รัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดเผยการทบทวนยุทธศาสตร์ด้านกลาโหม ซึ่งเป็นการประเมินที่ครอบคลุมถึงความท้าทาย ด้านความมั่นคงที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่ แสดงถึงความจำเป็น ที่กองทัพออสเตรเลียซึ่งมีสมาชิก 85,000 จะต้อง “ทำให้ศัตรูที่อันตรายอยู่ห่างจากชายฝั่งของเรายิ่งขึ้น” ส่วนหนึ่งของคำแนะนำที่ได้จากการทบทวนดังกล่าว คือพัฒนาขีดความสามารถในการโจมตีระยะไกล เช่น ระบบจรวดหลายลำกล้องอัตตาจรสูง บูรณาการขีปนาวุธต่อต้านเรือ-พิสัยไกลเข้ากับเครื่องบินขับไล่ เพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนทางทหารกับสหรัฐฯ และเพิ่มการหมุนเวียนของกองกำลังสหรัฐฯ ที่ออสเตรเลีย
ในขณะที่การฝึกทาลิสมันเซเบอร์เข้าสู่สัปดาห์ที่สอง กระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้พบกันที่บริสเบน โดยตกลงที่จะกระชับความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงการที่เรือดำน้ำของกองทัพเรือ สหรัฐฯ เดินทางมาเยี่ยมยาวนานขึ้นและสม่ำเสมอมากขึ้น และการหมุนเวียน เรือของกองทัพบกสหรัฐฯ และเครื่องบินตรวจการณ์และลาดตระเวน ทางทะเลของกองทัพเรือสหรัฐฯ ไปยังออสเตรเลีย นอกจากนี้ ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ยังตกลงที่จะจัดตั้งศูนย์ข่าวกรองร่วมภายในองค์การข่าวกรอง กลาโหมของออสเตรเลียภายใน พ.ศ. 2567 และร่วมผลิตระบบจรวดนำวิถีแบบยิงหลายครั้งในออสเตรเลียภายใน พ.ศ. 2568 พร้อมกับกล่าวว่าทั้งสองประเทศจะยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค
“ไม่เคยมีการสู้รบครั้งใดที่ผมไม่ได้เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศออสเตรเลีย รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนจำนวนมากที่เป็นตัวแทนที่นี่ในวันนี้” นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง-กลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งรับใช้กองทัพสหรัฐฯ เป็นเวลา 41 ปี กล่าวกับผู้เข้าร่วมการฝึกในระหว่างการเยือนค่ายลาวาแร็กในทาวน์สวิลล์ กับนายริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย “นี่คือสิ่งที่เรายึดมั่นเรายึดมั่นความสามารถในการทำงานร่วมกัน เรายึดมั่นการทำงานร่วมกันเรายึดมั่นการส่งเสริมวิสัยทัศน์ร่วมกันของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”
ฝุ่นที่ฟุ้งกระจายในทาวน์สวิลล์ฟิลด์จากล้อตีนตะขาบของรถถัง ใบพัด-เครื่องบิน และรองเท้าบูทที่ย่ำพื้นยังไม่ทันจะจางหาย พ.อ. แม็กเลนแนน พ.อ. มาร์ติน และนายทหารคนอื่นก็เริ่มวางแผนการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ครั้งต่อไปใน พ.ศ. 2568 แล้ว เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องที่ชาวออสเตรเลียอาจเปรียบได้กับ “การทาสีสะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์” แต่ก็เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับความร่วมมือระดับพหุชาติ
พ.อ. แม็กเลนแนน กล่าวว่า “โดยรวมแล้วผมคิดว่ามันเป็นความสำเร็จ ที่น่าทึ่ง” ซึ่งแผนที่สนามรบที่เท้าของเขาแสดงให้เห็นถึงขนาดและขอบเขต ของภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ “และผมคิดว่านี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่น ที่รวมเป็นหนึ่งเดียวและความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกัน ฝึกอบรมร่วมกัน และดีขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อต่อสู้ร่วมกันเมื่อเป็นไปได้ …
เมื่อทุกคนมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นเอง อย่างที่เราทุกคนทราบ นี่เป็นความสัมพันธ์ที่จะทำให้เรายังคงอยู่ด้วยกัน เมื่อเกิดวิกฤต”