ความร่วมมือสภาพภูมิอากาศโอเชียเนีย

ข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติระบุถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรกเมื่อประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกและสหรัฐฯ ได้ผลักดันเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานมากยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 สิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงกับเกือบ 200 ประเทศในการ “เปลี่ยนผ่าน” จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นับเป็นครั้งแรกที่ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ลดการเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผู้สังเกตการณ์บางคนเรียกว่าเป็นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นด่านหน้าในการเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่เกาะและประเทศที่อยู่ในพื้นที่ระดับต่ำที่มีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

“เราได้ข้อสรุปว่า ตอนนี้เรายังไม่ได้มาซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาที่จำเป็น” นางแอนน์ ราสมุสเซน ตัวแทนชาวซามัว ระบุในการปราศรัยกับพันธมิตรประเทศเกาะขนาดเล็กที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เราค่อย ๆ ดำเนินการไปตามปกติทีละนิด ๆ ในขณะที่แท้จริงแล้วสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ คือการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในด้านการดำเนินการและการสนับสนุนของเรา”

ข้อตกลงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เรียกร้องให้ “เปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงานในลักษณะที่เป็นธรรม เป็นไปตามขั้นตอน และเสมอภาค ซึ่งเร่งการดำเนินการในทศวรรษที่สำคัญนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593” และเพื่อยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล “โดยเร็วที่สุด”

นักวิทยาศาสตร์หลายคนระบุว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 75 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเกือบร้อยละ 90 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เป็นสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า การให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นโดยหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก

ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ต่างให้การสนับสนุนเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานมากขึ้น ซึ่งกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ทยอยยุติการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แทนที่จะเพียงแค่ลดปริมาณการใช้งานลง

ในขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ รวมถึงรัสเซียและซาอุดีอาระเบียได้ผลักดันให้มีการประชุมที่ดูไบเพื่อมุ่งเน้นไปที่การลดมลพิษที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แทนที่จะแก้ไขเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่สนับสนุนการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แม้ว่าตัวแทนจากจีนจะสนับสนุนข้อเสนอด้านพลังงานทดแทนก็ตาม

นอกจากนี้ บางประเทศยังพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จีนแสดงความไม่พอใจที่ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดได้เสนอแนะให้มีการเชิญไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลจีนขู่ว่าจะผนวกรวมโดยใช้กำลัง รัสเซียอ้างว่าหากประเทศทางตะวันตกยินยอมปลดล็อกทองคำสำรองที่ถูกอายัดหลังจากที่รัฐบาลรัสเซียรุกรานยูเครนโดยไร้เหตุสมควร รัฐบาลรัสเซียอาจช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

สหรัฐฯ จัดลำดับความสำคัญของมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาและสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เช่น กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ได้จัดทำโครงการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ตั้งอยู่ที่ฮาวายใน พ.ศ. 2564 โครงการดังกล่าวทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนในการวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อคาดการณ์และรับมือกับผลกระทบด้านความมั่นคงอันเนื่องมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยสอดคล้องกับกรอบการทำงานระดับภูมิภาค เช่น ยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก พ.ศ. 2593 ในการสร้างความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ และให้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง

บทสรุปที่สำคัญจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่

  • ประเทศต่าง ๆ กว่า 120 ประเทศให้คำมั่นว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่าภายใน พ.ศ. 2573 จีนและสหรัฐฯ เห็นพ้องกับมาตรการข้างต้นก่อนการประชุมสุดยอดดังกล่าว
  • สหภาพยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงินมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แก่กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
  • ออสเตรเลีย เอสโตเนีย อิตาลี โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐฯ มอบเงินจำนวน 1.2 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่กองทุนกรีนไคลเมตเพื่อช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาในการปรับตัวและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • สหรัฐฯ ประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซลงเกือบร้อยละ 80 จนถึง พ.ศ. 2581 ก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบมากที่สุด
  • บริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ห้าสิบรายซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของการผลิตทั่วโลก ตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงจนเกือบเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2573

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button