ความร่วมมือเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2566

การกระชับวัตถุประสงค์และความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีร่วมกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

กัสดี ดา คอสตา

ทหารพลร่มของไทยและสหรัฐอเมริกากว่า 500 นายกระโดดร่มลงในทุ่งหญ้าเขตร้อนที่ขึ้นสูงใกล้ค่ายธนะรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทางภาคตะวันตกของไทยเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 หลังจากนั้นไม่นาน เฮลิคอปเตอร์ เอ็มวี-22 ออสเปรย์ และซีเอช-53อี ซูเปอร์สตัลเลียน ที่บรรทุกนาวิกโยธินของสาธารณรัฐเกาหลีไทย และสหรัฐฯ ได้ดูแลความปลอดภัยบริเวณลานบินเพื่อให้กองกำลังที่ตามมาสามารถซ้อมรบได้อย่างอิสระ

ในวันถัดมา ผู้เข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์พ.ศ. 2566 ได้มีส่วนร่วมในการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริงและจำลองการโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก รวมถึงการป้องกันทางไซเบอร์และปฏิบัติการทางอวกาศเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่สมรภูมิทั้งหมด การฝึกอบรมประกอบไปด้วยโครงการวิศวกรรมโยธา หลักสูตรการเอาชีวิตรอดในป่า และบทเรียนการชกมวยแบบดั้งเดิมของไทยหรือที่เรียกว่ามวยไทย

บุคลากรทางทหารกว่า 10,000 คนจาก 27 ประเทศส่งกำลังพลมายังไทยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึง10 มีนาคม เพื่อเข้าร่วมการฝึกซ้อมครั้งที่ 42 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากไทย และการฝึกซ้อมขั้นต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ยังจัดขึ้นในจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ลพบุรี ระยอง และสระแก้วด้วย

อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ได้มาฝึกซ้อมในฐานะผู้เข้าร่วมอย่างเต็มตัวในการฝึกทางทหารแบบพหุภาคี ซึ่งเป็นหนึ่งในการฝึกที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดในโลก คณะผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ อีกกว่า 20 ประเทศมีส่วนร่วมในฐานะ
ผู้เข้าร่วมอย่างจำกัดหรือผู้สังเกตการณ์ โครงการที่ครอบคลุมกว้างขวางของการฝึกคอบร้าโกลด์สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายร่วมสมัยที่หลากหลายซึ่งกองทัพในภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่

“ขอบเขตของปฏิบัติการทางทหารที่ช่วยยกระดับเสถียรภาพในภูมิภาคของเรานั้น ได้ขยายออกไปเพื่อเตรียมรับมือกับภัยคุกคามอย่างเต็มรูปแบบในทุกพื้นที่ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางไซเบอร์ และทางอวกาศ นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการรักษาสันติภาพความมั่นคงทางทะเล ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติอีกด้วย” พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดงาน “โครงการทั้งหมดนี้ช่วยให้เรารักษาความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติที่จำเป็นดังที่เราเคยได้แสดงให้เห็นแล้วในอดีต”

กำลังพลของกองทัพจากสิงคโปร์และสหรัฐฯ สร้างอาคารอเนกประสงค์ที่โรงเรียนบ้านหมอมุ่ย จังหวัดระยอง ประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ส.ท. แองเจลิน่า ซาร่า/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

“ในการฝึกคอบร้าโกลด์นี้ เราแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะตอบสนองต่อความท้าทายในอนาคตร่วมกัน และรักษาภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ที่ซึ่งทุกประเทศสามารถประสบความสำเร็จได้” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าวในพิธี

การฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2566 แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการสู้รบและปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมทว่าการแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยี การเตรียมความพร้อม ตลอดจนการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นถือเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกซ้อมนี้

“การฝึกร่วมกันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในภูมิภาค เราต่างก็รู้จักกันดี”พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าว ตามรายงานของเดอะ ดีเฟนส์ โพสต์ ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ

“แม้ว่าเราทุกคนจะพูดกันคนละภาษา ทว่าเรามารวมตัวกันด้วยหน้าที่ในการแสวงหาภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่การฝึกคอบร้าโกลด์ยึดถือเป็นหลัก” น.อ. โจนาธาน โคโรเนล นาวิกโยธินสหรัฐฯ กล่าว ตามรายงานของเดอะ ดีเฟนส์ โพสต์

บุคลากรของสหรัฐฯ กว่า 8,400 คนเข้าร่วมการฝึกซ้อมดังกล่าวร่วมกับบุคลากรของไทยอีก 4,000 คน เกาหลีใต้ 420 คน ญี่ปุ่น 146 คน และสิงคโปร์ 54 คน โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมจากประเทศอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งของพันธมิตรและความร่วมมือในระดับภูมิภาค

การเตรียมพร้อมสำหรับสู้รบ

ภายใต้ท้องฟ้าสีคราม ยานพาหนะยกพลสะเทินน้ำสะเทินบกแล่นข้ามทะเลไปยังชายหาดที่ห่างไกล นาวิกโยธินของสาธารณรัฐเกาหลีพร้อมกับนาวิกโยธินของไทยและสหรัฐฯ เคลื่อนตัวผ่านชายหาดพร้อมกับถืออาวุธไว้ในมือ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์บินโฉบอยู่เหนือศีรษะ กองกำลังอื่น ๆ ลงสู่พื้นเพื่อป้องกันสหายร่วมรบที่กำลังรุกคืบเข้าไป

ทีมยกพลขึ้นบกได้ซักซ้อมการยับยั้งอำนาจยิงของฝ่ายศัตรูด้วยการยิงโจมตีจากฐานทัพของตน พร้อมการสนับสนุนจากปืนใหญ่บนเรือและความช่วยเหลือทางอากาศอย่างใกล้ชิด จากนั้น กองทหารบกก็มาถึงชายหาดและบุกเข้าไปในอาณาเขตของฝ่ายศัตรู ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาเขตความปลอดภัยบริเวณชายหาดด้วย

การทำงานร่วมกันอย่างลื่นไหลในการฝึกซ้อมนี้เป็นผลมาจากการประสานงานอย่างรอบคอบและความอุตสาหะของนักวางแผน ผู้นำ ทหารกะลาสี นาวิกโยธิน ทหารอากาศ และบุคลากรฝ่ายอื่น ๆ

กองทัพเรือไทยได้ส่งเรือ เอชทีเอ็มเอส อ่างทอง ซึ่งเป็นเรือสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่ที่สุด พร้อมทั้งเดอะรอยัลราวี เรืออรรถประโยชน์ยกพลขึ้นบก ร่วมกับผู้บัญชาการภาคพื้นดินทางทะเลทั้งหลาย เกาหลีใต้ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 และยานพาหนะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกในขณะที่สหรัฐฯ ส่งเรือยูเอสเอส มาคิน ไอส์แลนด์ ซึ่งเป็นเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกระดับวอสป์ อีกทั้งเครื่องบินขับไล่เอฟ-35 และสินทรัพย์ทางทหารอื่น ๆ

การทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชน

ในขณะที่การฝึกซ้อมสู้รบแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจร่วมกันในการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2566 กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพลเมืองก็ยังเน้นย้ำถึงความอดทนและความยืดหยุ่น ทหารจากอินเดียและอินโดนีเซียได้เข้าร่วมกับบุคลากรของกองทัพอากาศไทยและทหารอากาศสหรัฐฯ จากฐานทัพร่วมเอลเมนดอร์ฟ-ริชาร์ดสัน รัฐอะแลสกา เพื่อก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ที่โรงเรียนบ้านเขาตลาด จังหวัดระยอง โครงการดังกล่าวสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการบริการชุมชนและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อปรับปรุงความร่วมมือในระดับภูมิภาคของการฝึกซ้อมนี้ ตามรายงานของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก

“ทีมงานของผมได้ทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 14 และกองทัพบกอินโดนีเซีย” ร.ท. แอนดรูว์ มอร์เกนสเติร์น แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าว “เราร่วมทีมกันได้อย่างดีเยี่ยมและได้รับบทเรียนจากกันและกันไม่น้อย สิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษคือประสิทธิภาพของทหารไทยและความเชี่ยวชาญของทหารอินโดนีเซีย”

เจ้าหน้าที่กองทัพบกอินโดนีเซียเน้นย้ำถึงความสำคัญของการฝึกซ้อมอย่างการฝึกคอบร้าโกลด์นี้ “การฝึกร่วมนี้ยังเป็นพื้นที่และโอกาสให้กองทัพที่เกี่ยวข้องได้มีปฏิสัมพันธ์ สร้างมิตรภาพ และสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และลักษณะนิสัยของแต่ละประเทศที่เข้าร่วม” เจ้าหน้าที่กล่าวกับ ฟอรัม “ความเข้าใจอย่างตรงไป
ตรงมาและลึกซึ้งนี้ช่วยจำกัดการสื่อสารที่ผิดพลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ… ผ่านการทำความเข้าใจลักษณะของแต่ละชาติ”

นายสมบัติ บัญชาเมฆ หรือที่รู้จักกันในชื่อ บัวขาว แชมป์ศิลปะการต่อสู้ฝึกสอนศิลปะการชกมวยแบบดั้งเดิมของไทยให้แก่บุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ ในระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2566 รอยเตอร์

การมีส่วนร่วมของหุ้นส่วน

เจ้าหน้าที่กองทัพสิงคโปร์เข้าร่วมฝึกซ้อมการป้องกันทางไซเบอร์และโครงการวิศวกรรมโยธาร่วมกับทหารของกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ เพื่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ที่โรงเรียนบ้านหมอมุ่ยในจังหวัดระยอง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นก็ได้เข้าร่วมกับกำลังพลของกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ ในการฝึกซ้อมอพยพที่ไม่ใช่การสู้รบ ณ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จังหวัดระยอง เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้น ตรวจสอบตัวตนและสัมภาระ รวมถึงทดสอบสารเคมีเมื่อผู้อพยพมาถึงสนามบินในระหว่างการจำลองเหตุการณ์

“ทุกคนได้รับทักษะและความชำนาญที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติการร่วมที่ซับซ้อนในระหว่างกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อบทบาทใด ๆ ที่เกาหลีจะต้องมี” พล.ท. ชุน อินบอม ผู้เกษียณอายุราชการจากกองทัพสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวกับ ฟอรัม “เพื่อให้มีประสิทธิภาพในช่วงวิกฤตระหว่างประเทศ การฝึกอบรมถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นเกาหลี จึงใช้ทุกโอกาสในการฝึกอบรมไปกับองค์กรระหว่างประเทศและกองทัพต่าง ๆ รวมถึงโอกาสที่ดียิ่งอย่างการฝึกคอบร้าโกลด์”

เกาหลีใต้เข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และกลายเป็นผู้เข้าร่วมอย่างเต็มตัวใน พ.ศ. 2553 กำลังพลของกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมกับการฝึกซ้อมยกพลสะเทินน้ำสะเทินบกร่วมกับกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ รวมถึงการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานพิเศษในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า

ประเทศต่าง ๆ อันได้แก่ แคนาดา ฟิจิ ฝรั่งเศส มองโกเลีย เนปาล ฟิลิปปินส์ และสหราชอาณาจักร ได้ส่งทีมขนาดเล็กเข้าร่วมการฝึกซ้อมบุคลากร

ในขณะเดียวกัน บุคลากรของกองทัพออสเตรเลียก็ได้เข้าร่วมในการฝึกซ้อมสำหรับบุคลากรและการฝึกซ้อมทางไซเบอร์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่มีร่วมกัน “ออสเตรเลียมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” โฆษกของกองทัพออสเตรเลียกล่าวกับ ฟอรัม “การฝึกซ้อมการป้องกันแบบพหุภาคี เช่น การฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ ช่วยให้กองทัพออสเตรเลียพัฒนาความร่วมมือและกระชับความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพทั้งหลาย เพื่อส่งเสริมภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มั่นคง รุ่งเรือง และยืดหยุ่น”

การให้ความสำคัญกับเทคนิคการต่อสู้แบบโบราณ

การให้ความสำคัญกับเทคนิคการต่อสู้แบบโบราณนายสมบัติ บัญชาเมฆ แชมป์ศิลปะการต่อสู้ของไทย ได้ทำการฝึกอบรมศิลปะมวยไทยซึ่งเป็นกีฬาการต่อสู้แบบโบราณที่มีลักษณะการใช้หมัด ข้อศอก เข่า และหน้าแข้งให้แก่กำลังพลของกองทัพสหรัฐฯ แชมป์คนนี้เป็นที่รู้จักในนามแฝงว่า บัวขาว โดยในภาษาไทยหมายถึง “ดอกบัวสีขาว””ทหารสหรัฐฯ ทุกคนที่เข้ามาฝึกคอบร้าโกลด์ต้องการแลกเปลี่ยนและศึกษาวัฒนธรรมของเราเกี่ยวกับมวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติของเรา” นายบัวขาวกล่าวกับรอยเตอร์

ส.ท. อดัม แคสเซิล จากกองทัพบกสหรัฐฯ ยกย่องประโยชน์ของการฝึกอบรมนี้และมองว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากในการศึกษาเทคนิคกับหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานชั้นนำ “การได้เรียนรู้ทักษะบางประการที่เราสามารถนำกลับมาใช้ได้ในอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม” ส.ท. แคสเซิล กล่าว

ผลกระทบที่คงอยู่นาน

การได้มาซึ่งทักษะ ความสามารถในการทำงานร่วมกันที่พัฒนาดีขึ้น และความคุ้นเคยกับระบบและเทคนิคใหม่ ๆ เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งที่มีต่อผู้เข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2566 ตามรายงานของนายเดฟ ลักโซโนนักกฎหมายจากคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย 1 ซึ่งดูแลกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม โอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศจากทั่วทั้งภูมิภาคจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งและยั่งยืนยิ่งขึ้น “ด้วยเครือข่ายที่กว้างขวางนี้ เจ้าหน้าที่รุ่นเยาว์สามารถเชื่อมต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับเดียวกันจากประเทศอื่น ๆ ได้” ส.ท. แคสเซิล กล่าว “ในวันนี้ พวกเขาอาจเป็นเพียงผู้บัญชาการกองพันหรือกองร้อย ทว่าในอนาคต พวกเขาอาจเป็นถึงผู้บัญชาการกองทัพบกในประเทศของตน หรือผู้กำหนดนโยบายในอนาคตก็เป็นได้”

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button