การคุ้มครอง พลเรือนในขณะที่เกิดความขัดแย้ง
กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้กองทัพลดอันตรายต่อผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบให้เหลือน้อยที่สุดเมื่ออยู่ในภาวะสงคราม
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ข้อพิพาทด้านดินแดน ความทะเยอทะยานทางการเมือง และการแข่งขันด้านทรัพยากรมักจะจุดชนวนหรือทำให้ความขัดแย้ง
ทางอาวุธทวีความรุนแรงขึ้น สงครามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม จะนำมาซึ่งผลกระทบที่ซับซ้อน ผลกระทบ
หนึ่งในนั้นคือ การทำลายล้างในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการเสียชีวิตของพลเรือนซึ่งคิดเป็นร้อยละเกือบ 90 ของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตในสงคราม ตามรายงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประจำ พ.ศ. 2565
หนึ่งในภาพที่โหดร้ายที่สุดของความขัดแย้งที่คร่าชีวิตประชาชนทั่วไป คือการทำสงครามของรัสเซียต่อยูเครน ซึ่งได้สังหารผู้อยู่ในเหตุการณ์ “ในบ้านของพวกเขาและในขณะที่กำลังพยายามตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นในชีวิตของตน เช่น การกักเก็บน้ำและการซื้ออาหาร” นายโวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุในข่าวประชาสัมพันธ์
“ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น เหล่านักเรียนพบว่าการศึกษาของตนต้องหยุดชะงักลงหรือถูกรบกวนจากการโจมตีสถานศึกษา ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุและผู้พิการต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ในบางกรณีที่ไม่อาจไปถึงที่หลบภัยหรือต้องใช้ชีวิตในห้องใต้ดินเป็นเวลานานในสภาพที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา” นายเติร์กระบุในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 “ทุกวันที่การละเมิดสิทธิ-มนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศยังคงดำเนินต่อไป การค้นหาหนทางเพื่อก้าวผ่านความทุกข์ทรมานและการทำลายล้างไปสู่สันติภาพถือเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ”
สงครามส่งผลสะท้อนไปทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนค่าอาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความทุกข์ยากที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประเทศที่สุ่มเสี่ยงที่สุด “ความเสียหายที่มีต่อพลเรือนนั้นเกินจะทานทน” นายเติร์กระบุ
‘ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันล่วงหน้าที่เป็นไปได้ทั้งหมด’
กฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธหรือที่เรียกว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการต่อสู้ในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ ทว่าการมีพลเรือนจะเพิ่มภาระผูกพันให้แก่ฝ่ายที่ทำสงครามเพื่อจำกัดอันตรายของพลเรือน ตามรายงานของฮิวแมน ไรท์ วอตช์ ซึ่งเป็นองค์การ-นอกภาครัฐที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ทหาร “ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองที่เป็นไปได้ทั้งหมด” เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดความเสียหายต่อพลเรือนหรือการสูญเสียชีวิตพลเรือนให้น้อยที่สุด
“มาตรการป้องกันล่วงหน้าเหล่านี้ได้รวมถึงการดำเนินการทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อตรวจสอบว่าวัตถุเป้าหมายของการโจมตีเป็นวัตถุเป้าหมายทางทหารและไม่ใช่พลเรือนหรือเป็นวัตถุเป้าหมายทางพลเรือน และออก‘คำเตือนการโจมตีขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพ’ เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย” ตามรายงานขององค์การนอกภาครัฐในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 “ฝ่ายที่โจมตีไม่ได้พ้นจากภาระผูกพันที่จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของพลเรือน เพียงเพราะเห็นว่าฝ่ายป้องกันต้องรับผิดชอบในการที่ตนมีตำแหน่งเป้าหมายทางทหารอยู่ในหรืออยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่มากอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตีพิมพ์คู่มือที่ชื่อว่า “การยกระดับความคุ้มครองสำหรับพลเรือนในความขัดแย้งทางอาวุธและสถานการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ” ที่แบ่งปันข้อมูลและเคล็ดลับในการปกป้องผู้บริสุทธิ์ คู่มือนี้มุ่งเน้นไปที่คนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งทางอาวุธหรือสถานการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ พลเรือนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางอาวุธหรือสถานการณ์ความรุนแรง และผู้ที่เผชิญกับความเสี่ยง เช่น ผู้หญิงและเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่พลัดถิ่นจากบ้านของพวกเขา
“พลเรือนไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับความรุนแรงโดยตรงมากขึ้นเรื่อย ๆแต่การควบคุมประชากรพลเรือนมักเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในสถานการณ์ความขัดแย้ง” ตามคู่มือของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ “การดำเนินไปสู่สถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากความตึงเครียดระหว่างชุมชน ชาติพันธุ์ และศาสนาที่เพิ่มขึ้น การล่มสลายของโครงสร้างรัฐ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ อาวุธที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย การก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้น และการแพร่กระจายของสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้งทางอาวุธที่ไม่สมมาตร ในปัจจุบัน การไม่ได้รับความคุ้มครองโดยทั่วไปในวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางอาวุธและสถานการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ ไม่ได้เป็นเพราะกรอบการทำงานที่ไม่เพียงพอ ทว่าเป็นเพราะการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างหาก”
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ พัฒนาแผนคุ้มครองไว้ส่วนหนึ่งสำหรับช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งซึ่งได้แก่
การนำเสนอ อธิบาย ส่งเสริม และหารือเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมการคุ้มครองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเข้าใจบทบาทของตนและยินดีที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย
พัฒนาเครือข่ายการติดต่อที่เชื่อถือได้ระหว่างทางการและกับผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียที่มีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคประชาสังคมที่อาจช่วยจัดหาทรัพยากรในช่วงวิกฤตได้
เลือกสรรภูมิภาค ระยะเวลา และบุคลากรที่จะมอบหมายอำนาจล่วงหน้าสำหรับการปฏิบัติหน้าที่หรือความช่วยเหลือ
ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมที่อำนวยความสะดวกแก่การคุ้มครองในนามของพลเรือน เช่น โครงการความช่วยเหลือและกิจกรรมการสื่อสาร
จัดทำและสร้างกิจกรรมการคุ้มครองในภาคสนาม และนำเสนอแก่พลเรือน
“ในขณะที่ดำเนินกิจกรรมการคุ้มครอง แต่ละองค์กรควรแสวงหาการส่งเสริมภาคสนามและเน้นการปฏิบัติการในเชิงรุกกับผู้มีบทบาทด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการตอบสนองที่ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้นั่นเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งยวดในการสร้างความแตกต่างในชีวิตของผู้คนที่มีความเสี่ยง” คู่มือของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศระบุ
ภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ
หนึ่งในประเทศที่กระทำผิดร้ายแรงที่สุดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกคือเกาหลีเหนือ ซึ่งยังคงพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์และยิงขีปนาวุธเพื่อแข็งขืนต่อการคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติ ความเสี่ยงในการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้น “เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นกังวล”นายลอรองต์ จีเซล หัวหน้าหน่วยอาวุธและปฏิบัติการสงครามของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ กล่าวยืนยันในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 “อาวุธนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อมนุษยชาติที่ร้ายแรงที่สุด” นายจีเซลระบุ “การใช้อาวุธเหล่านั้นจะก่อให้เกิดอันตรายที่ไม่อาจหวนคืนได้ต่อคนรุ่นถัดไปและคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติ”
นายจีเซลกล่าวยืนยันว่า มีอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า 13,000 ชิ้นทั่วโลกและคาดการณ์ว่าจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกับ
ความเสี่ยงในการใช้อาวุธ
“ความเสี่ยงนี้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากการปรับปรุงคลังอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่มีการระบุว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่อาจเพิ่มความสุ่มเสี่ยงของอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนระบบการสั่งการและการควบคุมของพวกเขาต่อความผิดพลาดของมนุษย์หรือเครื่องจักร และการโจมตีทางไซเบอร์” นายจีเซลกล่าวยืนยัน “การพัฒนาเหล่านี้จะยังเกิดขึ้นแม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงผลกระทบอันน่า-สะพรึงกลัวในระยะยาว และไม่อาจหวนคืนได้ของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร แม้ว่าจะไม่มีขีดความสามารถเพียงพอสำหรับการตอบสนองด้านมนุษยธรรมในกรณีที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการลุกลามของสถานการณ์ที่เกิดจากการใช้งานใด ๆ ก็ตาม”
ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีเนื่องจากภัยคุกคามจากขีปนาวุธของรัฐบาลเกาหลีเหนือ กระตุ้นให้นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ สั่งให้มีการปรับปรุงแผนการปฏิบัติการทางทหารของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นแผนที่สรุปสถานการณ์ฉุกเฉินตามสถานการณ์สงครามต่าง ๆ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565
“เราจำเป็นต้องเตรียมมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับประกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนของเรา ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงแผนการปฏิบัติการเพื่อต่อต้านภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง” นายยุนกล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์
แผนในปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงความก้าวหน้าที่รุดหน้าไปไกลของเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง “นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง”เจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริการะบุ ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา
“สภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงมีความเหมาะสมและจำเป็นที่เราจะต้องมีแผนปฏิบัติการที่ปรับปรุงและปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุ ขีดความสามารถของเกาหลีใต้เองก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน โดยส่งผลมาจากแผนการปฏิบัติการทางทหาร เจ้าหน้าที่กล่าวเสริม
แผนการปฏิบัติการทางทหารได้รวมจุดยืนการป้องกันร่วมของกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ แผนที่ปรับปรุงแล้วจะมีสามระยะ ได้แก่ การสกัดกั้นการรุกรานของเกาหลีเหนือข้ามเขตปลอดทหาร การติดตั้งการป้องกันตอบโต้เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารข้ามเขตปลอดทหาร และกองกำลังร่วมระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ ข้ามเขตปลอดทหารในการโจมตีตอบโต้ ตามรายงานของนิตยสารเดอะ ดิโพลแมต
“เป้าหมายสูงสุดของเราคือสันติภาพและความขัดแย้งเป็นศูนย์ และเพื่อดำเนินไปสู่จุดนั้น ประเทศของเราได้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันเพื่อยับยั้งความขัดแย้งขนาดใหญ่ เสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกันของเรา และปกป้องระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่ทำให้เราทุกคนปลอดภัย” นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 หลังการหารือร่วมกับนายลี จงซอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ “ความมุ่งมั่นของเราในการคุ้มครองสาธารณรัฐเกาหลียังคงเหนียวแน่น สหรัฐอเมริกายืนหยัดในความมุ่งมั่นในการป้องปรามที่แผ่ขยายออกไป และนั่นรวมถึงขีดความสามารถในการคุ้มครองของสหรัฐฯอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงขีดความสามารถในการป้องกันอาวุธตามแบบแผน นิวเคลียร์ และขีปนาวุธของเรา”
วิธีการเตรียมความพร้อมให้แก่พลเรือน: บทเรียนจากเกาหลีใต้
รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินการฝึกซ้อมอพยพและการฝึกซ้อมเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเป็นประจำ รวมถึงได้ออกแผนสำหรับเหตุฉุกเฉินให้แก่สถานเอกอัครราชทูตเพื่อแจกจ่ายให้กับชาวต่างชาติที่อาจได้รับผลกระทบ แนวทางดังกล่าวจะให้คำแนะนำตามระดับการแจ้งเตือน 4 ระดับ ได้แก่
ระดับ 1: การแจ้งเตือนที่เพิ่มขึ้น
ตัวบ่งชี้: การยั่วยุอย่างต่อเนื่อง เช่น การทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์ และถ้อยคำที่สร้างความขุ่นเคือง นี่ถือเป็นระดับ
การแจ้งเตือนเริ่มต้นในเกาหลีใต้สิ่งที่ต้องทำ: อยู่ในความสงบ แต่ต้องคอยระมัดระวังตัว มีความระมัดระวังและตรวจสอบประกาศจากสถานเอกอัครราชทูตและรัฐบาลเกาหลีใต้
ระดับ 2: การจำกัดการเดินทาง
ตัวบ่งชี้: ทหารเกาหลีเหนือและทหารของสาธารณรัฐเกาหลีเข้าประจำการตามแนวชายแดนมากขึ้น สถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในกรุงโซลออกคำแนะนำและคำเตือนเกี่ยวกับการจำกัดการเดินทางในบางพื้นที่ กระทรวงความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงออกคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยของพลเรือนหลายครั้ง อาจมีการเผชิญหน้าทางทหารมากขึ้นในสถานที่ห่างไกล ซึ่งอาจเกิดขึ้นบ่อย ๆ ตามตามแนวเขตปลอดทหาร
สิ่งที่ต้องทำ: ลดการเดินทางและหลีกเลี่ยงสถานที่ที่อาจมีความขัดแย้งปฏิบัติตามคำแนะนำของตำรวจหรือกองกำลังป้องกันพลเรือน เตรียมพร้อมสำหรับการอพยพไปยังสถานพักพิงในท้องถิ่น เตรียมอุปกรณ์ยังชีพที่ประกอบด้วยสิ่งของจำเป็นให้ใช้ได้นาน 72 ชั่วโมง
ระดับ 3: การส่งกลับประเทศโดยสมัครใจ
ตัวบ่งชี้: การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพเกาหลีเหนือและกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีตามแนวชายแดนรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลเกาหลีใต้ออกคำแนะนำในการอพยพสำหรับพื้นที่ตามแนวชายแดน บุคลากรทางทหารจำนวนมากเริ่มเข้าประจำการและเดินทางมาจากสหรัฐฯและอาจจะมาจากญี่ปุ่น ทหารเข้าประจำการตามตามเขตปลอดทหารมากขึ้น สถานเอกอัครราชทูตและองค์กรระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในกรุงโซลแนะนำไม่ให้เดินทางไปยังเกาหลีใต้สิ่งที่ต้องทำ: สถานเอกอัครราชทูตในท้องถิ่นแนะนำให้ชาวต่างชาติออกจากเกาหลีใต้โดยสมัครใจ และอาจให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อดำเนินการดังกล่าว เดินทางพร้อมอุปกรณ์ยังชีพ ซึ่งควรได้รับการตรวจสอบทุก ๆ หกเดือนเพื่อให้แน่ใจว่าพร้อมใช้งาน
ระดับ 4: การบังคับอพยพ
ตัวบ่งชี้: ความขัดแย้งทางทหารที่รุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น สถานทูตเตรียมชาวต่างชาติที่มีจากประเทศตนให้พร้อมสำหรับการอพยพครั้งใหญ่จากเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ หน่วยงานพลเรือนยุติการปฏิบัติการ ชายชาวเกาหลีใต้ที่ลงทะเบียนการเกณฑ์ทหารไว้จะได้รับการเรียกตัวให้เข้าประจำการสิ่งที่ต้องทำ: เดินทางไปยังจุดอพยพที่กำหนด ซึ่งมักจะเป็นสถานที่ที่อยู่ไกลออกไปทางตอนใต้และห่างจากเขตปลอดทหาร ทุกคนควรมีอุปกรณ์ยังชีพ
การสร้างความยืดหยุ่น
ความขัดแย้งทางอาวุธอาจทำให้เกิดความท้าทายที่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ทว่าการไม่เตรียมพร้อมสำหรับการปกป้องพลเรือนไม่ควรเป็นหนึ่งในนั้น แหล่งข้อมูล เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและองค์การสหประชาชาติ รวมถึงตัวอย่างจากเกาหลีใต้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับพัฒนาแผน “สถานการณ์ที่ซึ่งกฎแห่งสงครามได้ช่วยชีวิตผู้คนไว้นั้นแทบจะไม่มีอยู่เลย” คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศระบุ “เราไม่เคยได้ยินเรื่องราวของนักบินที่ตัดสินใจไม่ทิ้งระเบิดหลังจากประเมินว่ามีผู้คนจำนวนมากจะได้รับอันตราย เราไม่เคยพบเห็นภาพของบุคลากรทางการที่ข้ามไปยังแนวหน้าที่มีความขัดแย้งเพื่อให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพที่จำเป็น”
แม้ว่าการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังคงมีอยู่ ทว่าก็ยังมีแผนการปฏิบัติการที่คุ้มครองพลเรือนและพลรบที่เคารพกฎการมีส่วนร่วม และให้เกียรติภาระผูกพันของตนที่ว่าจะไม่ทำอันตรายต่อพลเรือน
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศระบุว่า “จะต้องเกิดความหวาดกลัว ความเจ็บปวด และความแหลกสลายในความขัดแย้งอย่างไม่ต้องสงสัย” “ถึงกระนั้นก็ยังมีความยืดหยุ่น การสร้างขึ้นมาใหม่ และการฟื้นฟูด้วยเช่นกัน ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งก็มีหลายแง่มุมเช่นเดียวกันกับความขัดแย้งเอง”