กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนเผชิญกับการขาดแคลนผู้มีความสามารถ เนื่องจากบัณฑิตชั้นนำหลีกเลี่ยงการรับราชการทหาร
ฟีลิกซ์ คิม
นักวิเคราะห์ยืนกรานว่า การที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนขาดความสามารถในการสรรหาและรักษาบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปฏิบัติการและรักษาระบบที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไว้ได้นั้น อาจเป็นอุปสรรคกีดขวางการผลักดันเพื่อปรับปรุงความทันสมัยให้แก่กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังฉุดรั้งความทะเยอทะยานในการยึดครองภูมิภาค บัณฑิตชั้นนำหลีกเลี่ยงการรับราชการทหารเพื่อไปแสวงหางานที่มีค่าตอบแทนสูงและมีข้อบังคับน้อยกว่าในภาคเอกชน และการปฏิรูปกองทัพปลดปล่อยประชาชนเพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรก็ดูเหมือนจะประสบปัญหาที่รับมือได้ยาก
“กองทัพปลดปล่อยประชาชนนั้นยอมรับเองว่าตนยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องในการดึงดูดและรักษาบุคลากรผู้มีการศึกษาและมีทักษะที่สามารถใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ได้” ดร. ทิโมธี ฮีธ นักวิจัยอาวุโสด้านกลาโหมและกิจการระหว่างประเทศของแรนด์ คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม “การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมืออาจส่งผลต่อความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการดำเนินการฝึกอบรมที่มีความซับซ้อนควบคู่ไปกับมหาอำนาจระดับภูมิภาครายอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่ออิทธิพลและเกียรติยศของกองทัพปลดปล่อยประชาชน”
กองทัพปลดปล่อยประชาชนซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 2 ล้านนาย อาศัยการสรรหากำลังพลจากอาสาสมัครเป็นหลัก ซึ่งจำนวนนี้ประกอบไปด้วยบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนประมาณ 450,000 นาย นายทหารชั้นประทวน 850,000 นาย และนายทหารชั้นสัญญาบัตร 700,000 นาย
กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้หันไปพึ่งพามหาวิทยาลัยหลายแห่งของจีนเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยชิงหวาชั้นนำของรัฐบาลจีนแสดงให้เห็นว่ามีบัณฑิตเพียง 12 คนจาก 8,000 คนเท่านั้นใน พ.ศ. 2565 ที่เข้าร่วมกับกองทัพปลดปล่อยประชาชน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิสต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จำนวนบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชิงหวาที่เข้ารับราชการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนมีจำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 16 คน
การสำรวจสำมะโนประชากรใน พ.ศ. 2563 ของจีนระบุว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนไม่สามารถทำตามเป้าหมายระยะเวลา 10 ปีในการเพิ่มจำนวนบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเข้ามารับราชการเป็นกำลังพลของตนเองขึ้นอีกร้อยละ 70 ได้ โดยทำได้เพียงร้อยละ 57 เท่านั้นนับตั้งแต่ พ.ศ. 2553
นอกจากเงินเดือนที่ต่ำกว่าภาคเอกชนแล้ว ผู้สมัครมักจะพบว่าชีวิตทหารนั้นมีข้อจำกัดมากเกินไป ตามรายงานของดิอีโคโนมิสต์ เช่น กองทัพปลดปล่อยประชาชนจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อนหากจะแต่งงานหรือหย่า กำลังพลต้องประจำการอยู่ในค่ายทหาร นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารและนายทหารชั้นประทวนส่วนใหญ่จะมีสิทธิ์อาศัยอยู่กับคู่ครองของตนเองได้ก็ต่อเมื่อรับราชการมาเป็นเวลาสิบปีแล้วเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน อัตราการลาออกของบุคลากรของกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ประจำการอยู่ก็มีสูง เนื่องจากสิ่งจูงใจที่ใช้ดึงดูดผู้สมัครอย่างเงินสนับสนุนการศึกษาและสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตำแหน่งงานในภาครัฐหลังจากรับราชการทหาร ดูเหมือนจะส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดในการจูงใจให้เหล่ากำลังพลลาออกจากกองทัพทันทีที่มีโอกาส
“การค้นหาวิธีการลดอัตราการลาออกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการรักษาความพร้อมให้อยู่ในระดับสูงสุด เนื่องจากการพัฒนากองกำลังต่อสู้ที่มีทักษะนั้นใช้เวลาไม่น้อย” ดร. ฮีธกล่าว “อัตราการลาออกที่สูงบีบบังคับให้กองทัพต้องเสียเวลาไปมากกับการฝึกทหารใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทนที่จะใช้เวลาไปกับการขัดเกลาทักษะขั้นสูง”
นอกจากนี้ กองทัพปลดปล่อยประชาชนยังประสบปัญหาทหารหนีทัพอีกด้วย สถานการณ์เลวร้ายลงจนรัฐบาลจีนต้องจัดทำแคมเปญสื่อเพื่อสร้างความอับอายให้กับผู้กระทำผิด และประกาศบทลงโทษขั้นรุนแรง ตามการระบุของดิอีโคโนมิสต์
แม้ว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนจะยังคงพยายามลดการสูญเสียบุคลากรผู้มีความสามารถ แต่ความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นในการจัดหาเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจหลักการต่อสู้ในสงครามและเข้าใจในเทคโนโลยีและอาวุธที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภารกิจของกองทัพปลดปล่อยประชาชนยากยิ่งขึ้นไปอีก ดร. ฮีธกล่าว
“กองทัพที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีกำลังพลที่มีการศึกษาและมีทักษะ แต่เยาวชนผู้มีคุณสมบัติส่วนใหญ่กลับไม่คิดว่าการรับราชการทหารเป็นงานที่น่าดึงดูดใจ” ดร. ฮีธกล่าว “การขาดแคลนบุคลากรจะเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการรักษาความพร้อมในการสู้รบ เนื่องจากกองทัพจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนกำลังพล”
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้