ความร่วมมือเรื่องเด่นโอเชียเนีย

กรอบการทำงาน สู่ความสำเร็จ

พันธมิตรและหุ้นส่วนจัดหาทรัพยากรและการสนับสนุนเพื่อแปซิฟิกที่มีความยืดหยุ่น

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ในช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 พายุไซโคลนต่อเนื่องที่พัดถล่มวานูอาตูด้วยความเร็ว 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ทำให้บ้านเรือนพังทลายและสายไฟฟ้าขาด ทว่าครอบครัวชาวแปซิฟิกสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว แม้ในขณะที่ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งมีประชากร 319,000 คนได้เริ่มดำเนินการภารกิจใหญ่ในการรวบรวมซากปรักหักพังอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีพายุรุนแรงสองลูก ตามมาอย่างรวดเร็วด้วยแผ่นดินไหวกึกก้องสองครั้ง ความช่วยเหลือก็กำลังจะไปถึง

เครื่องบิน ซี-17เอ โกลบมาสเตอร์ ของกองทัพอากาศออสเตรเลีย ได้บรรทุกทีมประเมินอย่างรวดเร็ว รวมทั้งที่พักพิงและอุปกรณ์บำบัดน้ำเป็นระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตรไปยังวานูอาตู ในขณะที่ทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ และเจ้าหน้าที่บริการอื่น ๆ ของกองทัพฟิจิหลายสิบคนเข้าไปช่วยเหลือพร้อมกับเจ้าหน้าที่รับมือเหตุฉุกเฉินทางพลเรือนกองทัพฝรั่งเศสระดมสินทรัพย์ทางอากาศและทางเรือเพื่อส่งมอบถังเก็บน้ำและเสบียงบรรเทาภัยพิบัติขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น อีกทั้งทหารฝรั่งเศสได้กวาดล้างถนนที่มีต้นไม้ซึ่งถูกถอนรากถอนโคนและดำเนินการอพยพทางการแพทย์ เกาหลีใต้อนุมัติเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจำนวนประมาณ 7.2 ล้านบาท (ประมาณ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ) “ทางรัฐบาลหวังว่าความช่วยเหลือนี้จะช่วยให้ชาววานูอาตูที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติและฟื้นตัวจากความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว” ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้

ระลอกคลื่นแห่งการสนับสนุนการช่วยชีวิตชาววานูอาตูสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งที่เริ่มขึ้นใหม่ ซึ่งประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันกำลังมีส่วนร่วมในหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อสร้างความยืดหยุ่นต่อความท้าทาย เช่น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยคุกคามด้านสาธารณสุข ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรนี่ถือเป็นการดำเนินการแบบพหุภาคีที่ส่งผลลัพธ์อันใหญ่หลวงเนื่องจากภูมิภาคที่กว้างใหญ่นี้เผชิญกับภัยคุกคามที่มีอยู่ของการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศท่ามกลางการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์สำหรับอิทธิพลและการแผ่ขยายของความกังวลเกี่ยวกับความตั้งใจของจีน ผู้นำแปซิฟิกประเทศหนึ่งยังได้กล่าวหาว่า รัฐบาลจีนติดสินบน สอดแนม และทำสงครามทางการเมืองอีกด้วย

ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากพายุไซโคลนถล่ม เรือเอชเอ็มเอเอส แคนเบอร์รา ของกองทัพเรือออสเตรเลียและกองกำลัง 600 นาย รวมทั้งยานยกพลขึ้นบก เฮลิคอปเตอร์ สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ และเสบียงได้มาถึงพอร์ตวิลา เมืองหลวงของวานูอาตู โดยได้เข้าร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศออสเตรเลียสองลำที่ดำเนินการประเมินและเฝ้าระวัง นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังอนุมัติการสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 90 ล้านบาท (ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งยังให้ความช่วยเหลือด้านความเชี่ยวชาญทางโลจิสติกส์ด้วย นางเพนนี หว่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า “การประกาศและการเข้าไปช่วยเหลือนี้เป็นผลจากการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติและกิจกรรมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีมาอย่างยาวนานของออสเตรเลียในวานูอาตูและทั่วทั้งภูมิภาค” “ในช่วงวิกฤต ประชากรในภูมิภาคแปซิฟิกสามารถพึ่งพาออสเตรเลียในการทำงานร่วมกันได้”

ทหารของกองทัพบกออสเตรเลียและบุคลากรของกองกำลังเคลื่อนที่วานูอาตูร่วมกันทำความสะอาดเมืองหลวงอย่างพอร์ตวิลา กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ความยืดหยุ่นที่ได้รับการยกระดับ

สองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ และห่างจากพอร์ตวิลาไปทางตะวันออก 1,000 กิโลเมตร รัฐบาลออสเตรเลียได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อภูมิภาคนี้โดยที่นางหว่องได้ประกาศมอบเงินทุนเป็นจำนวนประมาณ 160 ล้านบาท(ประมาณ 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่ฟิจิเพื่อสร้างโรงเรียนเก้าแห่งที่ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนใน พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 ขึ้นมาใหม่ “สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่เพียงแต่สร้างขึ้นใหม่เท่านั้น แต่ยังสร้างขึ้นใหม่ให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อให้สามารถป้องกันพายุไซโคลนระดับ 5อีกทั้งเราจะทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าโรงเรียนเหล่านั้นมีความยั่งยืนโดยใช้พลังงานหมุนเวียนและทรัพยากรในท้องถิ่น” นางหว่องกล่าวตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะ ฟิจิ ไทมส์

ในฐานะหุ้นส่วนความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแบบทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของฟิจิ ออสเตรเลียได้ให้การสนับสนุนงบประมาณโดยตรงกว่า 5.8 พันล้านบาท (ประมาณ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แก่ประเทศหมู่เกาะที่มีประชากร 950,000 คนตั้งแต่ พ.ศ. 2563 รวมถึงเพื่อ “การปรับปรุงสภาพภูมิอากาศและความยืดหยุ่นทางสังคม” ตามรายงานของคณะข้าหลวงใหญ่ออสเตรเลีย

โครงการความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาคนี้ที่มีเกาะปะการังและหมู่เกาะกว่า 30,000 แห่งซึ่งกระจายอยู่ทั่วมหาสมุทรโดยคิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นผิวโลกและวงแหวนไฟที่รวมเข้าด้วยกัน และการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกส่งผลให้ประชากร 12 ล้านคนต้องประสบกับแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พายุไซโคลนและน้ำท่วมมีความรุนแรงและความสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ภูมิภาคแปซิฟิกใต้ต้องเสียเงินประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี ตัวอย่างโครงการริเริ่มต่าง ๆ ที่ประกาศในช่วงต้น พ.ศ. 2566

นิวซีแลนด์มอบเงินทุนจำนวนประมาณ 162 ล้านบาท (ประมาณ 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แก่ฟิจินอกเหนือจากคำมั่นสัญญาก่อนหน้านี้ที่เป็นจำนวนเงินประมาณ 325 ล้านบาท (ประมาณ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)สำหรับโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะ ฟิจิ ไทมส์ “ฉันต้องการรับรองว่าการอภิปรายของเราส่วนใหญ่เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อชุมชนของเรานั้น เป็นประเด็นที่เราสามารถมั่นใจได้ว่าพันธมิตรจะทำงานร่วมกับฟิจิและนิวซีแลนด์ เพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถตอบสนองต่อความท้าทายสำคัญที่เรามีได้” นางนาไนอา มาฮูทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายซิติเวนี ราบูกา นายกรัฐมนตรีฟิจิ

สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ จะจัดหาเงินทุนสูงถึง 360 ล้านบาท (ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ในเมืองตามาวูอาซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงซูวา เมืองหลวงของฟิจิ”เราขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลและประชาชนเกาหลีใต้ผ่านสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ สำหรับโครงการที่มาถึงอย่างทันเวลานี้” นายราบูกากล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะ ฟิจิ ไทมส์

ในซามัว องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาได้มอบเงินประมาณ 54 ล้านบาท (ประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับโครงการริเริ่มที่นำโดยชุมชนซึ่งเกี่ยวกับการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมถึงการสุขาภิบาลและสุขอนามัย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ซามัว ออปเซิร์ฟเวอร์ “รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีและปลอดภัย โดยปราศจากการหยุดชะงักอันเนื่องมาจากภัยพิบัติของชุมชนที่สุ่มเสี่ยงที่สุดในภูมิภาคเกาะแปซิฟิก” นายแพทริค โบเวอร์ส รองที่ปรึกษาด้านการพัฒนาขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าว

ญี่ปุ่นมอบเงินช่วยเหลือแก่ซามัวสำหรับซื้อรถตำรวจใหม่ 14 คันในขณะที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเปิดตัวโรงเรียนที่ได้รับการปรับปรุงใหม่สองแห่งซึ่งได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากเยอรมนี ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ซามัว ออปเซิร์ฟเวอร์ “การศึกษามีบทบาทสำคัญในการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับความท้าทายระดับโลกที่เรากำลังเผชิญ” นางบีท เกรสกี้ นักการทูตพิเศษของเยอรมนีประจำภูมิภาค กล่าว

ไต้หวันบริจาคเครื่องฟอกไต เครื่องกรองน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆเพื่อจัดตั้งศูนย์ฟอกเลือดในเมืองลาบาซา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฟิจิ การให้การสนับสนุนฟิจิตลอดสองทศวรรษของรัฐบาลไต้หวันนับรวมถึงการส่งทีมเพื่อช่วยเหลือบริการผู้ป่วยนอกและการผ่าตัดมากกว่า 8,000 ราย “ไต้หวันจะยังคงให้ความช่วยเหลือแก่ฟิจิในภาคส่วนการดูแลสุขภาพ เช่นเดียวกับในประเด็นอื่น ๆ เพื่อกระชับมิตรภาพและความร่วมมือของเรา” นายโจเซฟ เชา ตัวแทนของเกาะปกครองตนเองไปยังฟิจิ กล่าวในแถลงการณ์

ลูกเรือของเรือคัตเตอร์ โอลิเวอร์ เฮนรี ของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ส่งเสบียงไปยังเกาะปะการังโอลีเอ ประเทศไมโครนีเชีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการรีมาเทาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 จ.อ. แบรนดัน มัลโดว์นีย์/กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ

กลับมาสู่เส้นทางเดิม

การมุ่งเน้นที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการเสริมการป้องกันแก่ภูมิภาคจากแรงกระแทก ทั้งจากธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาด้านความมั่นคงใน พ.ศ. 2565 ระหว่างจีนและหมู่เกาะโซโลมอน แม้ว่ารายละเอียดจะยังคงเป็นความลับ แต่เราเชื่อว่าข้อตกลงนี้คือเพื่อเปิดให้เรือรบจีนมาประจำการในหมู่เกาะโซโลมอน และช่วยให้กองกำลังความมั่นคงของจีนสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการบังคับใช้กฎหมายในประเทศหมู่เกาะนี้ซึ่งไม่มี กองทัพ นักวิเคราะห์ยืนยันว่า ข้อตกลงนี้อาจเป็นสารตั้งต้นของการเข้ามามีบทบาททางการทหารของจีนอย่างถาวร ซึ่งทั้งสองประเทศได้ปฏิเสธ “เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เห็นการดำเนินการบางอย่างของจีนในหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งจีนอาจยึดเป็นฐานที่มั่น” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าวในคำปราศรัยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ในสิงคโปร์ “ผมคิดว่าการดำเนินการนี้กระตุ้นให้เราแน่ใจว่าเราใช้เวลามากขึ้น มีส่วนร่วม รวมถึงให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่หมู่เกาะแปซิฟิก … ผมขอบอกว่าเราได้กลับมาสู่เส้นทางเดิม และเรายังคงมีส่วนร่วมในวิธีการที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเหล่านั้น”

ซึ่งรวมถึงกรอบยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2565 – 2570 ขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาสำหรับหมู่เกาะแปซิฟิก โครงการริเริ่มของภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์นี้เป็นการพยายามเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชน การปกครองระบอบประชาธิปไตย และการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกทั้ง 12 ประเทศ เพื่อ “ตอบสนองและปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ภาวะการระบาดใหญ่ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้วยระบบการเมืองที่เข้มแข็งซึ่งสนับสนุนคุณค่าของประชาธิปไตย การกำกับดูแลที่ดี สิทธิมนุษยชน รวมถึงส่งเสริมความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมสำหรับประชากรในหมู่เกาะแปซิฟิกทุกคน”

ในขณะที่สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนได้เพิ่มการลงทุนในภูมิภาคแปซิฟิก รัฐบาลจีนได้ลดความช่วยเหลือทางการเงินลง
ความช่วยเหลือแบบทวิภาคีและการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาของจีนที่มีต่อประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกนั้นลดลงจากที่สูงถึงประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2559 เป็นประมาณ6.8 พันล้านบาท (ประมาณ 188 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน พ.ศ. 2563 ซึ่งต่ำกว่าการสนับสนุนใน พ.ศ. 2551 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะ ฟิจิ ไทมส์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ในขณะเดียวกัน เกือบหนึ่งในสี่ของหนี้ต่างประเทศของฟิจิใน พ.ศ. 2563 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 6.9 พันล้านบาท (ประมาณ 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นหนี้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลตามรายงานของธนาคารกลางฟิจิ

ความกังวลที่ยืดเยื้อเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้ขยายออกไปไกลกว่าเรื่องการเงิน และจะไม่ได้รับการบรรเทาลงได้ด้วยการแต่งตั้งนักการทูตพิเศษประจำภูมิภาคแปซิฟิกที่ล่าช้าในช่วงต้น พ.ศ. 2566 ในปีก่อนหน้า ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกทั้ง 10 ประเทศได้ปฏิเสธข้อเสนอในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของจีนนายเดวิด ปานูเอโล ประธานาธิบดีสหพันธรัฐไมโครนีเซีย ณ ขณะนั้น ได้เตือนว่าแผนการดังกล่าวจะนำพาภูมิภาคนี้ “เข้าใกล้วงโคจรของรัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก” และต่อมาเขาได้เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติเปลี่ยนความจงรักภักดีทางการทูตที่มีต่อจีนไปเป็นไต้หวัน ตามรายงานของนิตยสารเดอะ ดิโพลแมต นายปานูเอโลกล่าวหาว่า รัฐบาลจีนใช้ยุทธวิธีพื้นที่สีเทา เช่น การติดสินบนและการสอดแนม เพื่อรักษาการสนับสนุนจากไมโครนีเซีย หรืออย่างน้อยก็ให้ตั้งตนเป็นกลาง หากจีนรุกรานไต้หวันโดยอ้างว่าเป็นดินแดนของตน

“เหตุผลหนึ่งที่การทำสงครามทางการเมืองของจีนประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้านคือเราถูกติดสินบนให้มีส่วนร่วมกระทำผิด เราถูกสินบนให้ไม่มีปากเสียง” นายปานูเอโลเขียนไว้ในจดหมายเมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ. 2566 “หากจะพูดให้ชัด เจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการคุกคามความปลอดภัยส่วนบุคคลของผม”

รัฐบาลจีนปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าวแม้ว่าจีนจะมีผลประโยชน์อย่างจำกัดในภูมิภาค เช่น สนธิสัญญาหมู่เกาะโซโลมอน
ทว่า “ภาพรวมทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกกลายเป็นทะเลสาบของจีน และจะเผชิญกับกระแสต่อต้านที่รุนแรงในอนาคตอันใกล้” นายเดนนี รอย นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์อีสต์เวสต์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระที่ตั้งอยู่ในรัฐฮาวาย เขียนไว้ในบทความของเว็บไซต์เอเชียไทมส์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566″การต่อต้านส่วนใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องเผชิญในมหาสมุทรแปซิฟิกได้รับแรงกระตุ้นจากการกระทำของรัฐบาลจีนเอง ซึ่งเป็นลักษณะการทำ เกินกว่าเหตุแบบดั้งเดิม”

เรือลาดตระเวน เอชเอ็มเอเอส บรูม ของกองทัพเรือออสเตรเลีย (ซ้าย) และเรือลาดตระเวน อาร์เอฟเอ็นเอส ซาเวนาก้า ของกองทัพเรือสาธารณรัฐฟิจิ ดำเนินการฝึกซ้อมขึ้นเรือในระหว่างการฝึกกากาดู ที่นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของออสเตรเลียในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

การพร้อมตอบสนอง

ในขณะที่นายปานูเอโลกำลังเปิดโปงการบีบบังคับของจีน เรือคัตเตอร์ โอลิเวอร์ เฮนรี ของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ เพิ่งดำเนินภารกิจส่งกำลังพลไปยังไมโครนีเซียเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เสร็จสิ้น เพื่อต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมายและเสริมสร้างความร่วมมือกับชุมชนบนเกาะปะการังที่ห่างไกล เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการรีมาเทา ลูกเรือของเรือคัตเตอร์ลำดังกล่าวได้ส่งมอบเสบียงมากกว่า 2,000 กิโลกรัมที่ได้รับบริจาคจากชาวบ้านและภาคธุรกิจในกวม ซึ่งประกอบด้วยอาหาร เสื้อผ้า สื่อการเรียนรู้ ของเล่น อุปกรณ์ตกปลา ชุดซ่อมไฟเบอร์กลาสทางทะเล และปั๊มน้ำ การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการฝึกซ้อมค้นหาและกู้ภัยของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ กับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยสาธารณะและเจ้าหน้าที่จัดการภัยพิบัติในท้องถิ่น “การเสริมสร้างขีดความสามารถของหุ้นส่วนอย่างสหพันธรัฐไมโครนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการค้นหาและกู้ภัยนั้น ยังคงมีความสำคัญสูงสุด” น.อ. นิค ซิมมอนส์ ผู้บัญชาการกองกำลังไมโครนีเซียของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ/ภาคส่วนของกวม กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์

สำหรับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ ได้มีการส่งกำลังพลของบุคลากรกองทัพนิวซีแลนด์ประมาณ 300 คนไปยังฟิจิผ่านทางเรือเคลื่อนพลทางทะเล เอชเอ็มเอ็นซีเอส แคนเทอร์เบอรี สำหรับปฏิบัติการมาฮีทาฮี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ทำการฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การยกพลสะเทินน้ำสะเทินบก และการส่งมอบหนังสือและเสบียงอื่น ๆ ให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ นอกจากนี้ ทหารเรือชาวฟิจิยังได้รับการฝึกอบรมด้านปฏิบัติการยานยกพลขึ้นบกและเฮลิคอปเตอร์บนเรือเอชเอ็มเอ็นซีเอส แคนเทอร์เบอรี “การตอบสนองต่อภัยพิบัติทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกถือเป็นบทบาทสำคัญสำหรับกองทัพนิวซีแลนด์ และเราต้องฝึกอบรมให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อส่งมอบขีดความสามารถอันแสนสำคัญนี้ในยามจำเป็น” พ.อ. เมล ไชลด์ ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วมกลุ่มที่เป็นผู้นำการฝึกซ้อมครั้งนี้ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์”ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ฝึกและทำงานร่วมกับกองทัพฟิจิตลอดชีวิตการทำงานของผม และเรามีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับเหล่าเพื่อนกองทัพฟิจิ”

ข้อตกลงความมั่นคงระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนแสดงให้เห็นว่าความพยายามดังกล่าวรุ่งเรืองขึ้นเพียงใด เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ปาปัวนิวกินีและสหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหม ซึ่งจะช่วยยกระดับการฝึกอบรมและโครงสร้างพื้นฐานกองทัพปาปัวนิวกินี โดยเป็นไปตามข้อตกลงที่อนุญาตให้บุคลากรของปาปัวนิวกินีโดยสารเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ และเรือของกองทัพเรือที่ลาดตระเวนเพื่อตรวจสอบการลักลอบ การทำประมงผิดกฎหมาย และกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ

นอกจากนี้ ปาปัวนิวกินียังกำลังเจรจาสนธิสัญญาด้านความมั่นคงกับออสเตรเลีย ซึ่งจะ “สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการพัฒนาของผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน โดยตระหนักว่าความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และองค์ประกอบประดิษฐกรรมของรัฐทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ของเรา” ทั้งสองประเทศกล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้ลงนามในความร่วมมือด้านความมั่นคงกับวานูอาตู ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การตำรวจ ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพและความปลอดภัยทางทะเล ข้อตกลงดังกล่าว “เป็นการแสดงออกในทางปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับแรก เพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคของเรา”นายริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวในแถลงการณ์ “การดำเนินการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของออสเตรเลียและวานูอาตูในการทำงานร่วมกันในฐานะ
สมาชิกของครอบครัวแปซิฟิก เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน”

พล.ต. มาร์ค โกอินนา ผู้บัญชาการกองทัพปาปัวนิวกินี (ซ้าย) และ พล.อ. แองกัส แคมป์เบลล์ ผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลีย ลงนามในข้อตกลงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 สำหรับการส่งมอบอากาศยานสาธารณูปโภค พีเอซี-750เอ็กซ์แอล ใหม่สองลำให้แก่กองทัพปาปัวนิวกินี กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

เสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ความท้าทายเหล่านั้นยังรวมไปถึงเส้นทางแสนยาวไกลของวานูอาตูอันเป็นผลมาจากการทำลายล้างของพายุไซโคลนทั้งสองลูก ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ทั่วทั้งหมู่เกาะ80 แห่งของประเทศ โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเกินครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่มีมูลค่า ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) พันธมิตรและหุ้นส่วนทั้งหลายวางแผนที่จะอยู่ช่วยเหลือที่วานูอาตูเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากเกิดพายุ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะเปิดสถานเอกอัครราชทูตในเมืองพอร์ตวิลาเพื่อ “อำนวยความสะดวกในด้านความร่วมมือแบบทวิภาคีและความช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงความพยายามในการแก้ไขวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศด้วย” ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 โครงการอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติได้เป็นผู้นำในการส่งมอบอาหารและเวชภัณฑ์กว่า 30 ตัน รวมถึงการบริจาคจากฟิจิและการติดตั้งระบบสื่อสารฉุกเฉิน

แม้ในขณะที่ความพยายามเพื่อฟื้นฟูประเทศจะคืบหน้ามากแล้ว หุ้นส่วนทั้งหลายก็ให้คำมั่นว่าจะลงทุนระยะยาวในภูมิภาคนี้
สหราชอาณาจักรได้เปิดตัวโครงการอำนวยความสะดวกด้านความร่วมมือในภูมิภาคแปซิฟิกในเมืองซูวา เพื่อมอบเงินช่วยเหลือสำหรับชุมชนที่เปราะบางและสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะ ฟิจิ ไทมส์ ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2566 ในซามัว ธนาคารพัฒนาเอเชียได้บริจาคเงินประมาณ362 ล้านบาท (ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติและเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความพร้อมรับมือต่อภัยพิบัติในภูมิภาคแปซิฟิกที่เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2560และมีกำหนดจะดำเนินการจนถึง พ.ศ. 2569 ญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงินจำนวนประมาณ 1.3 พันล้านบาท (ประมาณ 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)ในระยะสองปีผ่านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกทั้ง 4 ประเทศ อันได้แก่ ปาปัวนิวกินี ซามัว ติมอร์-เลสเต และวานูอาตู ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ “หลายประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกได้พัฒนาแผนงานของตนเพื่อต่อสู้กับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีบทบาทเพียงเล็กน้อยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม” นางคันนี วิญณาราชา ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก กล่าวในแถลงการณ์

มีเพียงการตอบสนองต่อความท้าทายของภูมิภาคที่เป็นหนึ่งเดียวและครอบคลุมเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้ได้รับชัยชนะ นายราบูกา นายก-รัฐมนตรีฟิจิ กล่าว “ท่ามกลางผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคของเรา ควบคู่ไปกับภัยคุกคามที่แท้จริงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายราบูกากล่าว “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของครอบครัวแปซิฟิกของเรานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button