ความร่วมมือโอเชียเนีย

เจ้าหน้าที่ของกองทัพปาปัวนิวกินีได้รับการแต่งตั้งในกองทัพบกออสเตรเลียเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ออสเตรเลียและปาปัวนิวกินีที่คั่นกลางด้วยช่องแคบทอร์เรสซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองดินแดนและมีระยะห่างเพียง 150 กิโลเมตร ได้ขยับความสัมพันธ์เข้ามาใกล้กันมากขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ด้วยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของกองทัพปาปัวนิวกินีให้ดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูงในกองทัพบกออสเตรเลีย

พ.ท. โบนิเฟส อารุมะ ทหารผ่านศึกผู้ปฏิบัติหน้าที่มา 27 ปี จะได้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 3 แห่งกองทัพบกออสเตรเลียในเมืองทาวน์สวิลล์ รัฐควีนส์แลนด์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567

“ผมคิดว่านี่เป็นวิวัฒนาการครั้งใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพปาปัวนิวกินีและกองพลน้อยที่ 3” พ.อ. เดวิด แมคแคมมอน ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 3 แห่งกองทัพบกออสเตรเลีย กล่าวกับ ฟอรัม “เรามีความสัมพันธ์อันยาวนานมาหลายทศวรรษแล้ว และนี่ถือเป็นขั้นสุดท้ายที่จะทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้นในฐานะกองกำลังที่ปฏิบัติการร่วมกันอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคใกล้เคียง”

พ.ท. อารุมะ มี “ประสบการณ์มากมายที่กองทัพปาปัวนิวกินี และเขาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เหล่านั้นที่นี่หลายต่อหลายครั้ง” พ.อ. แมคแคมมอนระบุ “เขามีความสามารถในการมองสถานการณ์ด้วยมุมมองที่แตกต่างและเห็นโอกาสที่เราอาจไม่เห็นในพื้นที่นั้น”

เมื่อไม่นานมานี้ พ.ท. อารุมะซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการศึกษาด้านกลาโหมในออสเตรเลีย เพิ่งเสร็จสิ้นการฝึกอบรมของกองทัพออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์ราเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับตำแหน่งใหม่ของเขา

“สำหรับประเทศของเรา นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ … และเป็นย่างก้าวครั้งสำคัญสำหรับเราในฐานะองค์กร” พ.ท. อารุมะกล่าวกับสำนักข่าวออสเตรเลียนบรอดแคสติงคอร์ปอเรชัน “นี่ถือเป็นการแต่งตั้งในระดับสูงที่สุดที่เราเคยได้รับในต่างประเทศ”

เมื่อไม่นานมานี้ กองทัพออสเตรเลียประกาศว่าจะมีการโยกย้ายกำลังทหารหลายร้อยนายไปยังเมืองทาวน์สวิลล์ ซึ่งจะกลายเป็นที่ตั้งของรถหุ้มเกราะ รวมถึงหน่วยการบินโจมตีและการบินระดับกลางที่เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างของกองทัพบกออสเตรเลีย เมืองชายฝั่งแห่งนี้อยู่ห่างจากเมืองหลวงของปาปัวนิวกินีอย่างพอร์ตมอร์สบีไปทางใต้ประมาณ 1,000 กิโลเมตร

“ในตอนนี้ กองทัพบกออสเตรเลียจะได้มีคนจากภูมิภาคแปซิฟิกมาร่วมทำงานด้วยแล้ว อีกทั้งยังเป็นคนที่มีความเข้าใจลึกซึ่งเกี่ยวกับภูมิภาคนี้มากขึ้นด้วย” พ.ท. อารุมะกล่าว “เรามีค่านิยมร่วมกันและมีแนวคิดเหมือนกันในแง่ที่ว่า เราต้องการให้ภูมิภาคของเราเป็นแบบใด นั่นคือ ปลอดภัย มั่นคง และมีเสถียรภาพ”

กองกำลังของทั้งสองประเทศดำเนินการฝึกทวิภาคี โดยรวมถึง ชุดการฝึกปุกปุก และชุดการฝึกโอลเกต้าวอร์ริเออร์ นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2566 กองทัพปาปัวนิวกินีได้เข้าร่วมในการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐอเมริกาที่จัดขึ้นทุกสองปีเป็นครั้งแรก ซึ่งมีทหารเข้าร่วมเกือบ 35,000 นายจากประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนกว่าสิบประเทศ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ออสเตรเลียได้มอบอากาศยานลำเลียงขนาดเล็ก พีเอซี 750 ใหม่สองลำให้กับกองทัพปาปัวนิวกินี และกำลังช่วยปรับปรุงฐานปฏิบัติการกองกําลังทางอากาศในพอร์ตมอร์สบีอีกด้วย ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ไม่เพียงแค่นั้น ทั้งสองประเทศยังกำลังเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาความมั่นคงที่จะยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหมด้วย ปาปัวนิวกินีและสหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลงที่คล้ายกันนี้ในช่วงกลาง พ.ศ. 2566 เพื่อยกระดับความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังจากทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

การแต่งตั้ง พ.ท. อารุมะ จึงถือเป็น “ข้อพิสูจน์ถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างปาปัวนิวกินีกับออสเตรเลียในด้านกลาโหมและความมั่นคง” ตลอดจนเป็น “การแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของแปซิฟิกอย่างชัดเจน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านต่างร่วมมือกันเพื่อยกระดับความสามารถในการป้องกันร่วมกัน” นายจอห์น รอซโซ รองนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี กล่าวในแถลงการณ์

“ปาปัวนิวกินีตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้ไว้” นายรอซโซระบุ “เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคแปซิฟิก”

พ.ท. อารุมะกล่าวว่า การแต่งตั้งของเขาสามารถกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแปซิฟิกเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันของพวกเขาผ่านการสนับสนุนของกองทัพออสเตรเลีย “นี่เป็นหนึ่งในวิธีที่เราสามารถเสริมสร้างศักยภาพให้กับประเทศขนาดเล็กเหล่านั้นได้” พ.ท. อารุมะกล่าวกับออสเตรเลียนบรอดแคสติงคอร์ปอเรชัน “กองทัพปาปัวนิวกินีต้องการเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคนี้ และผมคิดว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button