ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียและเวียดนามกระชับความร่วมมือด้านกลาโหม ในขณะที่จีนยังคงรุกรานทางทะเลอย่างต่อเนื่อง

กัสดี ดา คอสตา

อินโดนีเซียและเวียดนามเข้าใกล้การยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไปสู่ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมมากขึ้น ดังที่ระบุไว้ในการประชุมผู้นำประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 และการเจรจานโยบายกลาโหมครั้งที่สามของทั้งสองประเทศในเดือนต่อมา

เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อินโดนีเซียและเวียดนามกำลังยกระดับความร่วมมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกลาโหม ทั้งสองประเทศซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ต่างเผชิญกับการรุกรานอาณาเขตทางทะเลจากเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ตกลงร่วมกันนอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือระดับทวิภาคีและดำเนินการตามข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือทางทะเล นอกเหนือจากลำดับความสำคัญอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงผลักดันในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจากความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์

ภายหลังจากการเจรจาดังกล่าวในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังได้มีการเจรจาด้านกลาโหมในกรุงฮานอยระหว่าง พล.ท. เฮือง ซวน เชียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม และ พล.ท. ดอนนี เออร์มาวัน ทอฟันโท เลขาธิการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่ “ขอยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาในการยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหมระดับทวิภาคีที่มุ่งเน้นผลลัพธ์และมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนความพยายามของทั้งสองประเทศในการยกระดับความสัมพันธ์เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” กระทรวงกลาโหมเวียดนามระบุ

การเพิ่มการแลกเปลี่ยนด้านการป้องกันอย่างเป็นทางการ “ในทุกระดับ” จะมาพร้อมกับ “การประสานงานที่ปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพ” ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเรือ กองกำลังรักษาชายฝั่ง และอุตสาหกรรมกลาโหมของทั้งสองประเทศ ตลอดจนในการฝึกอบรมและการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ กระทรวงกลาโหมเวียดนามระบุเพิ่มเติม

“เราพบว่ามีการพัฒนาหลายประการเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ซึ่งอาจเกิดภาวะไร้เสถียรภาพได้ โดยมีตัวอย่างเช่น การที่จีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่” พล.ต. เจน ปีเอตา เอเต ผู้เกษียณอายุราชการของกองทัพอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม “เนื่องด้วยการเจรจานโยบายกลาโหมระหว่างเวียดนามกับอินโดนีเซียซึ่งมาถึงครั้งที่สามเมื่อไม่นานมานี้ เราจึงได้ตอบสนองต่อความต้องการสำหรับเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายกลาโหม แสดงความโปร่งใสอย่างเปิดกว้างเพื่อกระชับความร่วมมือ และลดความขัดแย้งระหว่างกัน”

แต่ละประเทศต่างต้องเผชิญกับยุทธวิธีพื้นที่สีเทาของรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้ การกระทำที่บีบบังคับและมีความคลุมเครือดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสงคราม แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผลประโยชน์และอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา จีนได้ทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาตภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเลของอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งเป็นการแทรกแซงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้รับความสูญเสียอย่างต่อเนื่องซึ่งมีมูลค่าประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์สำหรับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของเรือที่ติดธงชาติจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ในพ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศได้ตัดสินว่าการอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลจีนในพื้นที่บริเวณกว้างของเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเหล่านี้มิชอบด้วยกฎหมาย

พล.ท. เชียน และ พล.ท. ทอฟันโท ยืนยันบทบาทของอาเซียนในการส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและความพยายามร่วมของทั้งสองประเทศเพื่อเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างอินโดนีเซียและเวียดนามยังส่งสัญญาณไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนว่า ความร่วมมือนี้เป็นมาตรการรับมือที่เหมาะสำหรับ “เป้าหมายที่ยั่งยืน” ในการครอบงำภูมิภาคนี้ของรัฐบาลจีน ตามรายงานของนายเดฟ ลักโซโน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียที่ 1 ซึ่งดูแลด้านกลาโหมและการต่างประเทศ

“อินโดนีเซียและเวียดนามมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านการเจรจา และยังคงมองหาแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในภูมิภาค” นายลักโซโนกล่าวกับ ฟอรัม “บทบาทของอินโดนีเซียและเวียดนามในฐานะ “คู่หูเชิงยุทธศาสตร์” ในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงแต่อย่างใด”

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button