ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฟิลิปปินส์พยายามสร้างหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

รอยเตอร์

ฟิลิปปินส์ได้ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและเวียดนามเพื่อหารือเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้สำหรับแต่ละประเทศ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ระบุในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โดยอ้างถึงความคืบหน้าที่จำกัดในการบรรลุข้อตกลงระดับภูมิภาคในวงกว้างขึ้นกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

นอกจากนี้ นายมาร์กอสยังได้ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของกองบัญชาการสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก โดยได้ระบุถึงความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการค้าโลก ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องร่วมมือกับพันธมิตรและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรักษาสันติภาพ ในขณะที่สถานการณ์ “เลวร้ายลง”

นายมาร์กอสได้กล่าวถึงพฤติกรรม “อุกอาจ” ของรัฐบาลจีนมากขึ้น ในขณะที่ยืนยันความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาแต่เพียงผู้เดียวของฟิลิปปินส์

“เรายังคงเฝ้ารอหลักปฏิบัติระหว่างจีนและอาเซียน ทว่าน่าเสียดายที่ความคืบหน้าดำเนินไปค่อนข้างช้า” นายมาร์กอสระบุ

“เราได้เริ่มที่จะติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ทั่วทั้งอาเซียนที่เรามีความขัดแย้งด้านอาณาเขตด้วย ซึ่งเวียดนามเป็นหนึ่งในนั้น และมาเลเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งเช่นเดียวกัน และเพื่อสร้างหลักปฏิบัติของเราเอง” นายมาร์กอสระบุ “เราหวังว่าการดำเนินการนี้จะเติบโตต่อไปและแผ่ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน”

สถานทูตมาเลเซีย จีน และเวียดนามในกรุงมะนิลาไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอความคิดเห็นในทันที

แถลงการณ์ของนายมาร์กอสมีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ได้เข้าพบกับนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกรอบการประชุมด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้นำทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับวิธีลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้หลังจากการเผชิญหน้าหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนที่คุกคามและพุ่งชนเรือฟิลิปปินส์ที่ปฏิบัติภารกิจส่งเสบียงให้กับกองกำลังที่ประจำการอยู่ที่สันดอนโทมัสที่สอง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาเซียนและจีนได้พยายามที่จะสร้างกรอบการทำงานเพื่อต่อรองเกี่ยวกับหลักปฏิบัติ ซึ่งเป็นแผนงานย้อนหลังไปถึง พ.ศ. 2545 แต่ความคืบหน้าก็ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าทุกฝ่ายจะมีความมุ่งมั่นในการเร่งกระบวนการก็ตาม

การเจรจาเกี่ยวกับองค์ประกอบของหลักปฏิบัติดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น เนื่องด้วยความกังวลเกี่ยวกับรัฐบาลจีน ซึ่งอ้างสิทธิ์ว่าน่านน้ำเชิงยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นอาณาเขตของตน จะมีความมุ่งมั่นมากน้อยเพียงใดต่อการกำหนดกฎระเบียบที่มีผลผูกพัน ซึ่งสมาชิกอาเซียนต้องการให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

ใน พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศได้ยกฟ้องการอ้างสิทธิ์ของจีนว่ามิชอบด้วยกฎหมาย ทว่ารัฐบาลจีนก็ยังคงรุกรานเขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเลของประเทศอื่น ๆ รวมถึงบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามอยู่

จีนมีความดึงดันมากขึ้นในการกดดันเรื่องการอ้างสิทธิ์ของตนที่ถูกปฏิเสธ โดยจีนทำการเสริมกำลังทางทหารให้ไปประจำตามแนวปะการังใต้น้ำและสิ่งปลูกสร้างเทียมทางทะเลด้วยเรดาร์ ลานบิน และระบบขีปนาวุธ รวมถึงบางพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์

“แนวปะการังที่ใกล้ที่สุดที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนเริ่มแสดงความสนใจสำหรับการสร้างฐานทัพ ค่อย ๆ ขยับเข้ามาใกล้ชายฝั่งฟิลิปปินส์มากขึ้นเรื่อย ๆ” นายมาร์กอสระบุ “สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

นายมาร์กอสตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ “คอยสนับสนุนเรามาโดยตลอด ไม่เพียงแต่ในแง่การพูดโน้มน้าวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมด้วย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button