การแพร่ขยายอาวุธเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ประเทศที่แข็งข้อได้ท้าทายมาตรฐานการตรวจสอบอาวุธนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การไม่คำนึงถึงข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติที่ไม่สนับสนุนให้มีการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทั่วโลก บางประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกละเมิดสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์อย่างเปิดเผย หรือหละหลวมต่อมาตรการสร้างเสริมความมั่นใจ ข้อตกลงดังกล่าวหรือ สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2513 ถือเป็นรากฐานสำคัญของความพยายามทั่วโลกในการหยุดยั้งการขยายขีดความสามารถในการทำลายล้าง

เกาหลีเหนือถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ใน พ.ศ. 2546 และได้ปฏิเสธมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วยการทดสอบอาวุธต่าง ๆ รวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีป สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ขยายคลังแสงสรรพาวุธหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้งานได้จริงมากกว่า 500 หัว ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,000 หัวภายใน พ.ศ. 2573 ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 รัสเซียระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ หรือ นิวสตาร์ท กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการอนุญาตให้มีการตรวจสอบฐานปฏิบัติการนิวเคลียร์ร่วมกัน และเริ่มถอนการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม

สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งลงนามโดย 191 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องปรามการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ สนับสนุนให้ลดการสะสมยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ และส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ ก่อนที่สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์จะมีผลบังคับใช้ การปฏิบัติตามกฎระเบียบในหมู่ประเทศที่ไม่ได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้รับการตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ “กลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นมาตรการสร้างเสริมความมั่นใจอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืนที่สุด” นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

5 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ มีอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2513 โดยในปัจจุบันมีอีก 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ และปากีสถาน ได้มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองแล้ว ประเทศที่ลงนามซึ่งไม่มีคลังอาวุธนิวเคลียร์ก่อน พ.ศ. 2513 ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่รับหรือผลิตอาวุธนิวเคลียร์

สื่อรายงานว่า เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบขีปนาวุธมากกว่า 90 ครั้งใน พ.ศ. 2565 ซึ่งมากกว่าใน พ.ศ. 2564 อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังคงยิงขีปนาวุธอยู่อย่างต่อเนื่องใน พ.ศ. 2566 โดยได้ระบุว่าจะยิงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งในเดือนเมษายน ซึ่งตามทฤษฎีแล้วสามารถไปได้ไกลถึงทวีปอเมริกา ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ผ่านมติ 9 ฉบับว่าด้วยการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เนื่องจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าไม่มีการระบุถึงการทดสอบหลาย ๆ ครั้งในล่าสุดนี้ก็ตาม

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงานว่า การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจีนนั้นเพิ่มมากขึ้นกว่าการคาดการณ์ส่วนใหญ่ “เราพบว่าจีนยังคงพัฒนากองกำลังนิวเคลียร์ให้ทันสมัย มีความหลากหลาย และแพร่ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้จีนเป็นมหาอำนาจทางทหารสูงสุด รัฐบาลจีนกำลังผลิตเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกทะเลได้ภายใน พ.ศ. 2573 ตามรายงานของรอยเตอร์

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้พบกับผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมอาวุธของกระทรวงการต่างประเทศจีนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อร่วม “การอภิปรายเชิงลึกอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาวุธและการไม่แพร่ขยายอาวุธ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการรักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างและจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างมีความรับผิดชอบ” ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ในระหว่างการเจรจาซึ่งถือเป็นการเจรจาครั้งแรกระหว่างทั้งสองประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ “จีนเพิ่มความโปร่งใสทางนิวเคลียร์และการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับมาตรการในทางปฏิบัติ เพื่อจัดการและลดความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ในหลาย ๆ ด้านซึ่งรวมถึงนิวเคลียร์และอวกาศ” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังเน้นย้ำ “ความจำเป็นในการส่งเสริมเสถียรภาพ การช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันอาวุธที่ไม่มีข้อจำกัด และการดูแลการแข่งขันเพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้ง” กระทรวงการต่างประเทศกล่าว

ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่แบบทวิภาคีก็จำกัดจำนวนการใช้งานหัวรบเชิงยุทธศาสตร์และขีปนาวุธพิสัยไกลของรัสเซียและสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ฉบับสุดท้ายที่เหลืออยู่ระหว่างรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีคลังอาวุธนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก ข้อตกลงใน พ.ศ. 2554 ที่ต่ออายุใน พ.ศ. 2564 ช่วยให้สองประเทศสามารถดำเนินการตรวจสอบคลังอาวุธนิวเคลียร์ของอีกฝ่ายได้มากถึง 18 ครั้งต่อปี เพื่อให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญา การตรวจสอบได้ยุติลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 และไม่มีท่าทีว่าจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งหลังจากที่รัสเซียระงับการเข้าร่วมดังกล่าว

ความหวั่นเกรงความขัดแย้งด้านนิวเคลียร์เพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครนโดยไม่มีเหตุยั่วยุในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ปฏิเสธที่จะขีดทับการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลรัสเซียกำลังละเมิดสนธิสัญญาโดยไม่ยอมให้มีการตรวจสอบในอาณาเขตของตน นอกจากนี้ รัสเซียยังอ้างว่าจะไม่ต่ออายุสนธิสัญญาดังกล่าวที่จะสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2569 ตามรายงานของรอยเตอร์

นายปูตินกล่าวว่ารัสเซียกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ และอาจนำออกมาทดสอบ ตามรายงานของเนชันแนลพับลิกเรดิโอในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 คำแถลงของนายปูตินเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลรัสเซียจะยกเลิกการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ซึ่งห้ามมิให้มีการระเบิดเพื่อทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และการระเบิดนิวเคลียร์อื่น ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ทางพลเรือนหรือทางทหารไม่ว่าในกรณีใด ๆ

ความคืบหน้าในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นเรื่องจำเป็นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโลกต้องเผชิญกับความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น นางมีรยานา สโปลจาริก ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ กล่าวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 “วาทศิลป์และการคุกคามว่าจะอาวุธนิวเคลียร์อย่างแข็งกร้าว บทบาทที่เด่นชัดมากขึ้นของอาวุธนิวเคลียร์ในหลักนิยมทางทหารและนโยบายความมั่นคง ตลอดจนการพัฒนาคลังอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องนั้น ล้วนท้าทายต่อข้อห้ามเกี่ยวกับนิวเคลียร์ที่มีมายาวนานหลายสิบปี” นางสโปลจาริกกล่าว

หลักคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแถลงการณ์ร่วมใน พ.ศ. 2528 ระหว่างนายโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายมีฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ที่ว่า “สงครามนิวเคลียร์ไม่สามารถเอาชนะได้และต้องไม่ให้เกิดการสู้รบ”

มากกว่า 100 ประเทศได้เข้าร่วมโครงการริเริ่มโครงการหนึ่ง เพื่อป้องปรามการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และสินค้าผิดกฎหมายอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ปกป้องการค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย โครงการด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ช่วยให้สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนรับรองถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจผ่านเส้นทางในทะเลที่ปลอดภัยและมั่นคง โครงการดังกล่าวช่วยยกระดับการบังคับใช้โดยได้ควบคุมเส้นทางการสื่อสารทางทะเลและน่านฟ้าอาณาเขต สนับสนุนให้มีการหน่วงเหนี่ยว การขึ้นเรือ และการค้นหาเรือต้องสงสัย คณะผู้แทนของโครงการด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงได้พบปะกันที่เมืองเชจู ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เพื่อเน้นย้ำความจำเป็นในการกระชับความร่วมมือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่กำลังพัฒนาขึ้นจากอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button