ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ความกังวลทั่วโลกเกี่ยวกับการจัดกำลังทางทหารในอวกาศของจีนผลักดันให้เกิดกฎเกณฑ์ใหม่

มาเรีย ที. เรเยส

เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงคุกคามสินทรัพย์ในขอบเขตทางอวกาศด้วยความสามารถในการต่อต้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอื่น ๆ ทำให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาต่างก็ออกมาเรียกร้องให้มีมาตรฐานการควบคุมสำหรับการใช้อวกาศ นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลสหรัฐยังร่วมมือกันเพื่อป้องปรามการจัดกำลังทางทหารในอวกาศของจีนอีกด้วย

“นอกเหนือจากการพัฒนาอาวุธพลังงานตรงและอุปกรณ์รบกวนสัญญาณดาวเทียมแล้ว กองทัพปลดปล่อยประชาชนยังมีขีปนาวุธสกัดกั้นดาวเทียมภาคพื้นดินที่ใช้งานได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป้าหมายดาวเทียมวงโคจรโลกต่ำ” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อว่า “การพัฒนาทางการทหารและความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 “จีนอาจตั้งใจที่แสวงหาอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำลายดาวเทียมได้จนถึงวงโคจรค้างฟ้าของโลก”

รัฐบาลจีนใช้ขีปนาวุธสกัดกั้นดาวเทียมเพื่อทำลายหนึ่งในดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่เลิกใช้งานแล้วของตนซึ่งอยู่สูงจากพื้นโลกกว่า 800 กิโลเมตรใน พ.ศ. 2550 ส่งผลให้มีเศษซากอวกาศที่สามารถติดตามได้มากกว่า 3,000 ชิ้น โดยที่มากกว่า 2,700 ชิ้นมีแนวโน้มที่จะอยู่ในวงโคจรโลกเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการใช้งานดาวเทียมและยานอวกาศ

เมื่อภัยคุกคามดังกล่าวที่มีต่อขอบเขตทางอวกาศเพิ่มสูงขึ้น การเรียกร้องกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ จึงมีมากขึ้นเช่นกัน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้อนุมัติหลักการ 5 ข้อเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบในอวกาศ หลักการที่ไม่ผูกมัดซึ่งได้รับการแก้ไขใน พ.ศ. 2566 ตั้งอยู่บนแนวคิดที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ การดำเนินการโดยคำนึงถึงดาวเทียมดวงอื่น และงดเว้นจากการแทรกแซงกิจกรรมของฝ่ายอื่น

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 สหราชอาณาจักรได้เสนอมติต่อคณะกรรมการชุดแรกของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปลดอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “การลดภัยคุกคามทางอวกาศผ่านบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ และหลักการของพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ” ซึ่งช่วยให้เกิดการอภิปรายทั่วโลกเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบในอวกาศ

ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังได้เสริมการจัดตั้งระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาเพื่อส่งเสริมการใช้อวกาศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของตน นายคาซูโตะ ซูซูกิ ศาสตราจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยนโยบายสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้เขียนให้แก่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกำลังทำงานร่วมกับผู้แทนสมาชิกองค์การสหประชาชาติจากอีก 33 ประเทศ เพื่อลดภัยคุกคามทางอวกาศผ่านมาตรการที่สะท้อนถึงข้อเสนอของสหราชอาณาจักร

เนื่องจากมีกฎสากลว่าด้วยการควบคุมปฏิบัติการในอวกาศเพียงไม่กี่ข้อ จึงทำให้แทบไม่สามารถป้องปรามผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ไม่ให้ทำการทดสอบขีดความสามารถของอาวุธสกัดกั้นดาวเทียม หรือการมีส่วนร่วมในการกระทำก่อกวนและเป็นอันตรายอื่น ๆ ในอวกาศ พล.อ. บี. แชนซ์ ซอลท์ซแมน ผู้บัญชาการกองทัพอวกาศสหรัฐฯ กล่าวกับหนังสือพิมพ์นิกเคอิ เอเชียของญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566

“เราต้องการเป็นผู้นำในการอภิปรายเกี่ยวกับการสร้างบรรทัดฐานของพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพ” พล.อ. ซอลท์ซแมน กล่าว “เราอยากเห็นทุกประเทศปรับใช้บรรทัดฐานของพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบเหล่านั้นและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการร่วมกับบรรทัดฐานนี้”

สำหรับการป้องปรามกิจกรรมในอวกาศที่เป็นอันตราย กองทัพอวกาศสหรัฐฯ วางแผนที่จะจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในญี่ปุ่น ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลสหรัฐฯ มีโครงการร่วมเดินทางที่ช่วยให้น้ำหนักบรรทุกของสหรัฐฯ เช่น เซ็นเซอร์ขั้นสูง สามารถโคจรไปพร้อมกับดาวเทียมญี่ปุ่นได้ พล.อ. ซอลท์ซแมน กล่าวกับหนังสือพิมพ์นิกเคอิ เอเชีย

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงในอวกาศของตนเองภายใต้ตัวแปรของรัฐธรรมนูญ นายซูซูกิเขียนให้แก่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการติดตั้งดาวเทียมการตระหนักรู้ในขอบเขตทางอวกาศและปรับปรุงระบบดาวเทียมควอซี-เซนิธของประเทศ โดยจะสำรองระบบจีพีเอสของสหรัฐฯ ในกรณีที่มีการโจมตี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ

มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button