ฟิลิปปินส์เสริมความสัมพันธ์ด้านกลาโหมเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากจีนในทะเลจีนใต้
มาเรีย ที. เรเยส
ภัยคุกคามจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้หรือความเป็นไปได้ของการรุกรานไต้หวันที่ปกครองตนเองซึ่งยังคงไม่จางหายไป ทั้งหมดล้วนข้อพิจารณาหลักของนโยบายด้านกลาโหมของฟิลิปปินส์และหุ้นส่วนด้านความมั่นคง ประเด็นนี้ยังมีผลกับสถานะการเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ของฟิลิปปินส์ และบทบาทของฟิลิปปินส์ในฐานะพันธมิตรทางสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบทบาทเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิกอย่าง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐบาลจีนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของกรุงฟิลิปปินส์ รวมถึงการก่อสร้างและการจัดกำลังทางทหารในเกาะที่ปรากฏขึ้นตอนน้ำลงในทะเลสามแห่งในหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ทำการก่อกวนเรือของฟิลิปปินส์ที่ส่งเสบียงให้กับบีอาร์พี เซียร์รา มาเดร ซึ่งเป็นเรือรบของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ที่เกยตื้นและตอนนี้ได้กลายเป็นฐานทัพทางทหารที่สันดอนโทมัสที่สอง หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่าอยุงอิน และยังอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ยิงปืนใหญ่น้ำใส่เรือเสบียงของกองทัพเรือฟิลิปปินส์
การอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตของรัฐบาลจีนต่อพื้นที่ใด ๆ ของเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ถูกตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลโดยศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการตัดสินที่ได้รับการเห็นชอบโดยเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิก ซึ่งได้รับการรับรองโดยผู้นำอาเซียนใน พ.ศ. 2562 เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิกไม่ได้กล่าวถึงจีน แต่ก็ระบุความจำเป็นในการให้ทุกประเทศปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลด้วย
ประเทศอาเซียนอื่น ๆ รวมถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ยังได้ปะทะรัฐบาลจีนเรื่องที่จีนรุกล้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน เช่น การเข้ามาทำการประมงอย่างผิดกฎหมายและการสำรวจทรัพยากร
“แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่พวกเราประเทศอาเซียนมีเหมือนกันคือ พวกเราทุกคนต่างสงสัยจีนอย่างมาก” นายเรนาโต ครูซ เดอ คาสโตร ศาสตราจารย์ภาควิชานานาชาติศึกษาที่มหาวิทยาลัยเดอลาซาลในกรุงมะนิลา กล่าวกับ ฟอรัม
การรักษาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ไว้ภายใต้ฉากหลังที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดระดับภูมิภาคดังกล่าวเป็นเป้าหมายสำคัญของการฝึกแบบพหุภาคีในน่านน้ำนอกกรุงมะนิลาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่มีผู้เข้าร่วมจากกองทัพเรือของออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และจากกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น
เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิกระบุหลักการพื้นฐานพร้อมกับวิสัยทัศน์ “อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และญี่ปุ่นก็เห็นด้วยกับวิสัยทัศน์นี้ด้วย” พล.ร.ต. ทาคาฮิโระ นิชิยามะ จากกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์หลังจากการฝึกซ้อม
ความร่วมมือด้านกลาโหมของรัฐบาลฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ และหุ้นส่วนรายอื่น ๆ ไม่ได้จำกัดไว้เพียงการปกป้องเสรีภาพทางทะเล “ความร่วมมือนี้ได้มุ่งเน้นไปที่ไต้หวันแล้ว” นายเดอ คาสโตรกล่าว
ภัยคุกคามจากการรุกรานไต้หวันของจีน ซึ่งเป็นที่ที่มีแรงงานชาวฟิลิปปินส์กว่า 200,000 คนอาศัยอยู่นั้นเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อฟิลิปปินส์ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจหาทางเข้าควบคุมช่องแคบลูซอนระหว่างไต้หวันและตอนเหนือของฟิลิปปินส์
รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงของตนเพื่อเป็นการโต้ตอบ รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าถึงฐานทัพทหารสี่แห่งภายใต้ข้อตกลงเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมของพันธมิตรฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ รวมถึงในลูซอนเหนือด้วย
“เราอยู่ในตำแหน่งทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราอยู่ใกล้กับไต้หวันมากที่สุด” นายเดอ คาสโตรกล่าว “ดังนั้น ผลประโยชน์ของเราจึงมาบรรจบกับผลประโยชน์ของพันธมิตรรายอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา และแน่นอนว่าผลประโยชน์นั้นก็บรรจบกับของสหรัฐอเมริกาเองด้วย”
มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์