ทรัพยากรส่วนรวมของโลกอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ท่าเรือที่ใช้งานได้สองวัตถุประสงค์ช่วยให้จีนอยู่ใกล้เส้นทางขนส่งที่สำคัญ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังสร้างและแสวงหาผลประโยชน์จากท่าเรือต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเพ่งเล็งที่จะนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์และการทหาร ท่าเรือที่ใช้งานได้สองวัตถุประสงค์เหล่านี้จะเพิ่มอิทธิพลของจีนตลอดแนวเส้นทางทางทะเลและเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ

บริเวณที่มีท่าเรือต่างชาติเหล่านี้อยู่หนาแน่นที่สุด คือ มหาสมุทรอินเดียตะวันตกและชายฝั่งทะเลในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งใกล้กับเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่สำคัญและช่องแคบทางยุทธศาสตร์ด้านการขนส่ง นายไอแซก คาร์ดอน นักวิจัยอาวุโสด้านจีนศึกษาที่มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ เขียนไว้ในเนวัล วอร์ คอลเลจ รีวิวของสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2564 นายคาร์ดอนอ้างถึงนักวิชาการด้านการทหารของจีนรายหนึ่งที่อธิบายถึง “ท่อน้ำเลี้ยงทางทะเล” ที่ทอดยาวจากช่องแคบไต้หวันผ่านทะเลจีนใต้ ช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย และทะเลอาหรับ

ผลการวิจัยของนายคาร์ดอนและนางเวนดี้ ลิวเทิร์ต แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนาระบุว่า จุดยืนของจีนในด้านธุรกิจ การเมือง และการทหารช่วยให้จีนสามารถสนับสนุนการเงินแก่ท่าเรือพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เกือบ 100 แห่งทั่วโลก การลงทุนในท่าเรือโดยบริษัทโลจิสติกส์และบริษัทขนส่งที่ควบคุมโดยจีนมีความเชื่อมโยงกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะผูกมัดหลายประเทศของโลกเข้ากับจีน มากกว่าครึ่งหนึ่งของข้อตกลงท่าเรือดังกล่าวเกิดขึ้นภายในทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การดำเนินงานของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามรายงานของนิตยสารนิวส์วีคในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565

ความพยายามของจีนในการสร้างอิทธิพลในท่าเรือต่างประเทศสอดคล้องกับความปรารถนาที่จะเป็นมหาอำนาจทางทะเล สมุดปกขาวของจีนใน พ.ศ. 2558 ยืนยันว่า “เราต้องละทิ้งแนวคิดดั้งเดิมที่มองว่าแผ่นดินมีความสำคัญมากกว่าทะเล และควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดการทะเลและมหาสมุทรรวมถึงการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเล”

การควบคุมเส้นทางทางทะเลและเส้นทางเดินเรือมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์และความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดแปซิฟิกซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของเรือขนส่งจำนวนมากของโลก สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจโดยอาศัยการมีเส้นทางเดินเรือที่ปลอดภัยและมั่นคง นักวิเคราะห์กล่าวว่าการมีบทบาทของจีนและการลงทุนอย่างหนักกับท่าเรือยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ถือเป็นภัยคุกคาม เนื่องจากเรือที่มาเทียบท่าอาจมีวัตถุประสงค์ทางทหารปะปนกับวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ได้ นายโจนาธาน ฮิลล์แมน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศในขณะนั้น กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ว่า “หากเรือสามารถบรรทุกสินค้าได้ ก็สามารถบรรทุกทหารได้เช่นกัน”

ผู้สังเกตการณ์บางคนกลัวว่าการลงทุนในวงกว้างนี้เป็นการใช้อำนาจที่อันตราย โดยมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงตั้งแต่การจารกรรม การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการขยายกำลังทหาร เรือของกองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือต่างประเทศประมาณหนึ่งในสาม ตามรายงานของนิวส์วีค การเข้าถึงท่าเรือเหล่านี้ของกองทัพเรือจีนทำให้การส่งกำลังบำรุงแก่กองเรือในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายน้อยลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่รัฐบาลจีนจะใช้การค้าและการลงทุนในท่าเรือเพื่อสร้างอิทธิพลชักนำพฤติกรรมของประเทศอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ จีนได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าอย่างไม่เป็นทางการต่อออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ลิทัวเนีย นอร์เวย์ และไต้หวัน เนื่องจากการกระทำที่จีนมองว่าเป็นการละเมิด ตามรายงานของนิวส์วีค ขนาดของการลงทุนของจีนในท่าเรือต่างประเทศอาจทำให้จีนมีอำนาจเหนือประเทศที่เป็นเจ้าของท่าเรือ ตามรายงานของ เอดดาต้า ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรีในรัฐเวอร์จิเนีย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566

เอดดาต้าได้ระบุท่าเรือ 8 แห่งนอกจีนแผ่นดินใหญ่ที่จีนอาจสร้างฐานทัพเรือขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า:

  • ท่าเรือบาตา ประเทศอิเควทอเรียลกินี: ได้รับเงินสนับสนุนอย่างมากจากจีนบนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของแอฟริกาตะวันตก
  • ท่าเรือกวาดาร์ ประเทศปากีสถาน: ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทะเลอาหรับ
  • ท่าเรือฮัมบันโตตา ประเทศศรีลังกา: ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นท่าเรือต่างประเทศที่จีนลงทุนมากที่สุด
  • ท่าเรือคริบี ประเทศแคเมอรูน: ท่าเรือในแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากจากจีน
  • ท่าเรือนาคาลา ประเทศโมซัมบิก: ท่าเรือน้ำลึกบนชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา
  • ท่าเรือนูแอกชอต ประเทศมอริเตเนีย: ท่าเรือในแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือแห่งนี้อยู่ใกล้กับยุโรปและช่องแคบทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ
  • ท่าเรือเรียม ประเทศกัมพูชา: ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างชนชั้นนำของกัมพูชาและพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่มแนวโน้มการมีบทบาททางทหารของจีน
  • ประเทศวานูอาตู: ประเทศที่มีโอกาสเป็นฐานทัพของจีนในหมู่เกาะแปซิฟิก

เอดดาต้าได้พิจารณาถึงขนาดของเงินสนับสนุนจากจีนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ มูลค่าเชิงยุทธศาสตร์และที่ตั้งของท่าเรือ ความสัมพันธ์กับผู้นำประเทศเจ้าของท่าเรือ ความสอดคล้องกับจีนในการลงคะแนนเสียงของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และลักษณะของท่าเรือที่เหมาะสำหรับกองเรือของกองทัพเรือ ท่าเรือดังกล่าวมี 4 แห่งที่อยู่ในอินโดแปซิฟิก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ การก่อสร้างที่ฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาใกล้กับสีหนุวิลล์ได้กลายเป็นจุดสนใจ ทางการกัมพูชาก็ยอมรับว่าจีนมีบทบาทสำคัญในงานก่อสร้างหลังจากที่ปฏิเสธมาหลายปี ภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 แสดงให้เห็นกิจกรรมการก่อสร้างที่ได้รับเงินทุนจากจีน ตามรายงานเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมของสถาบันวิจัยชัทแธมเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ในบรรดาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีท่าเรือแห่งใหม่ที่เหมือนกับฐานทัพเรือในต่างประเทศแห่งเดียวของจีนในจิบูตี แอฟริกาตะวันออก “แม้แต่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ขนาดไม่ใหญ่มากที่เรียมก็สามารถช่วยให้เรือรบจีนมีระยะปฏิบัติการที่ไกลขึ้นและมีบทบาทอย่างถาวรในอ่าวไทยและน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ตามรายงานของชัทแธมเฮาส์

อินเดียและสหรัฐฯ ได้ประท้วงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 เมื่อหยวนหวัง 5 ซึ่งเป็นเรือจีนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเรือสอดแนมเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือฮัมบันโตตาของศรีลังกา โดยสร้างขึ้นด้วยเงินกู้จากจีนและถูกยึดครองโดยบริษัทที่จีนเป็นเจ้าของในสัญญาเช่า 99 ปีเนื่องจากศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ รัฐบาลศรีลังกาอนุญาตให้หยวนหวัง 5 เทียบท่า แต่สั่งให้ปิดอุปกรณ์รวบรวมข้อมูลข่าวกรอง ตามรายงานของสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button