การจัดซื้อด้านกลาโหมพุ่งสูงขึ้นเมื่อความตึงเครียดยกระดับ
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ภัยคุกคามระดับภูมิภาครวมถึงผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้บางประเทศในอินโดแปซิฟิกเพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหมของตนเองอย่างมาก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่มีการเสริมมาตรการด้านความมั่นคงเพื่อส่งเสริมการทูต แสดงการป้องปราม และเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดมากขึ้น
การกระทำเชิงยั่วยุโดยเกาหลีเหนือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซียกำลังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเสริมกำลัง การโจมตียูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ก่อให้เกิดความกังวลทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก และเป็นเหตุผลให้ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น ดร. ทิม ฮักซ์ลีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ เขียนไว้เมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ดร. ฮักซ์ลีย์ชี้ว่าไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก ตลอดจนคาบสมุทรเกาหลีเป็นจุดที่มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้ง
ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า หากรัสเซียสามารถเข้าโจมตียูเครนได้โดยไร้เหตุผลอันควร แล้วจะมีอะไรมาหยุดยั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ให้รุกรานไต้หวันที่ปกครองตนเอง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตน? ในขณะเดียวกัน การทดสอบขีปนาวุธที่มากอย่างไม่เคยมีมาก่อนและภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็ทำให้ภูมิภาคนี้ตกอยู่ในอันตราย
นายโนริยูกิ ชิคาตะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้านกิจการสาธารณะของญี่ปุ่นกล่าวถึง “ความท้าทายด้านความมั่นคงที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นในภูมิภาค” ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 “เมื่อพิจารณาจากภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงในเอเชีย เราจำเป็นต้องตอบสนองโดยการเสริมสร้างการป้องกันของเรา” นายชิคาตะกล่าว “ดังนั้นเราต้องปรับปรุงขีดความสามารถในการป้องปรามของเรา”
ญี่ปุ่นได้เสริมจุดยืนด้านความมั่นคงของตนเองด้วยการปรับปรุงเอกสารสำคัญสามฉบับในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับปรับปรุงระบุว่าจีนเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และประกาศว่าเกาหลีเหนือเป็น “ภัยคุกคามร้ายแรงและใกล้ตัวต่อความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่นมากกว่าที่เคยเป็นมา” นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เรียกร้องให้เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมของญี่ปุ่นเป็น 11.6 ล้านล้านบาท (ประมาณ 3.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในห้าปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่จะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านความมั่นคงมากที่สุดจากอันดับเก้าเป็นอันดับสามของโลก นายจอห์น เวสต์ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเอเชียนเซ็นจูรี่ เขียนไว้ในรายงานของบริงก์นิวส์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะพัฒนาขีดความสามารถในการโจมตีตอบโต้ด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ผู้นำญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นให้สอดคล้องกับจุดยืนที่มุ่งเน้นการป้องกันประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
ญี่ปุ่นยังคงย้ำการประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย “วันนี้เป็นยูเครน พรุ่งนี้ก็อาจถึงตาของเอเชียตะวันออก” นายคิชิดะเตือนในการประชุมแชงกรีลาของสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในสิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565
เมื่ออ้างถึงการโจมตีทางไซเบอร์ของรัฐบาลรัสเซียต่อยูเครน สิงคโปร์ได้เพิ่มเหล่าทัพที่ปฏิบัติการด้านความมั่นคงทางดิจิทัลโดยเฉพาะ กองทัพดิจิทัลและข่าวกรองเป็นเหล่าทัพใหม่ที่เข้ามาเสริมกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเหล่าทัพนี้จะใช้การประมวลผลบนระบบคลาวด์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ ตามรายงานของนิตยสารดีเฟนส์นิวส์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565
กองทัพดิจิทัลและข่าวกรองเป็นส่วนเสริมที่สำคัญของโครงสร้างความมั่นคงในสิงคโปร์ ที่เริ่มจัดตั้งกองกำลังป้องกันเมื่อได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2508 เหล่าทัพใหม่นี้เป็นการตอบสนองของกองทัพสิงคโปร์ต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนมากขึ้น ตามรายงานของนิตยสารเนชันแนลอินเทอเรสต์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
ในขณะเดียวกัน ออสเตรเลียกำลังดำเนินการตามข้อเสนอแนะของการทบทวนของรัฐบาลที่เผยแพร่ในช่วงต้น พ.ศ. 2566 ซึ่งสรุปไว้ว่ากองทัพของประเทศ “ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป” การทบทวนยุทธศาสตร์กลาโหมตั้งข้อสังเกตถึงสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่พัฒนาขึ้นและ “แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง” ซึ่งบีบให้ออสเตรเลียเพิ่มขีดความสามารถในการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลและย้ายฐานทัพบกไปยังตอนเหนือ ซึ่งเป็นจุดที่ดีกว่าในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
การทบทวนดังกล่าวอ้างถึงการเสริมกำลังทางทหารของจีนว่าเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยที่การเสริมกำลังทางทหารของจีนนั้น “มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความทะเยอทะยานมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศ” นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายกองทัพดังกล่าว “เกิดขึ้นโดยไร้ความโปร่งใสหรือการสร้างความมั่นใจต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเกี่ยวกับเจตนาเชิงยุทธศาสตร์ของจีน” ตามการตั้งข้อสังเกตในการทบทวนดังกล่าว
พันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคต่างกระชับความร่วมมือกันเพื่อให้เกิดภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเสรีและเปิดกว้าง ควบคู่ไปกับการเพิ่มการป้องกันของตนเอง ซึ่งรวมถึงการปฏิเสธไม่ให้รัสเซียเป็นผู้จัดหาอาวุธเพื่อสนับสนุนประเทศหุ้นส่วน ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ความเสี่ยงต่อชื่อเสียงของผู้ซื้อ ประสิทธิภาพการใช้งานในสนามรบที่ยูเครนที่ไม่ดีของอาวุธ และการคว่ำบาตรไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด ทำให้รัสเซียไม่ได้เป็นผู้จัดหาชั้นนำของภูมิภาคอีกต่อไป ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิสต์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เกาหลีใต้ได้เข้ามารับบทบาทดังกล่าวแทนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศในยุโรปยังให้ความสำคัญกับขีดความสามารถด้านกลาโหม ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ สหราชอาณาจักร และประเทศอื่น ๆ ต่างกำลังขยายกองทัพของตนเอง โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตามรายงานของสถาบันวิจัยแห่งศูนย์วิเคราะห์นโยบายยุโรปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 เช่น โปแลนด์ใช้จ่ายงบประมาณร้อยละ 2.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไปในด้านกลาโหมใน พ.ศ. 2565 ใน พ.ศ. 2566 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในด้านนี้