ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ ประจำ พ.ศ. 2566 เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค

กัสดี ดา คอสตา

การฝึกทางทหารหลายกองกำลังแบบพหุภาคีซูเปอร์การูด้าชิลด์ ประจำ พ.ศ. 2566 เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่จังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย

ทั้ง 7 ประเทศ ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมกันส่งกำลังทหารประมาณ 5,000 นายและทรัพย์สินด้านการป้องกันต่าง ๆ เข้าร่วม และมีอีก 12 ประเทศที่ได้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วม

“การฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ ประจำ พ.ศ. 2566 ต่อยอดมาจากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว” พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก กล่าว ตามรายงานของแอนทารา ซึ่งเป็นสำนักข่าวอินโดนีเซีย
พล.อ. ฟลินน์ยังกล่าวอีกว่า “การฝึกซ้อมร่วมแบบพหุชาตินี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเรา ซึ่งช่วยให้เกิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างที่มีความเสถียร มั่นคง และสงบสุขยิ่งขึ้น”

การฝึกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกัน เสริมสร้างขีดความสามารถ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วม และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 13 กันยายน

นายเตอูกู เรซาชาห์ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยปัดจัดจารันของอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียและสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ร่วมกันในประเด็นปัญหาด้านเสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนที่ชาวอินโดนีเซียรู้จักกันในชื่อทะเลนาตูนาเหนือ

“อินโดนีเซียต้องการเสรีภาพในการเดินเรือ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เราไม่ต้องการให้ความทะเยอทะยานในดินแดนของจีนมาต้อนเราให้จนมุม ด้วยการส่งเรือประมงและเรือยามชายฝั่งเข้ามาทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างมากในทะเล” นายเรซาชาห์ระบุกับฟอรัม “เราหวังว่าการฝึกครั้งนี้จะช่วยปกป้องดินแดนทางทะเลของอินโดนีเซียได้โดยอ้อมและปกป้องดินแดนทางทะเลของประเทศอื่น ๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ด้วยเช่นกัน”

พ.อ. ซูเฮอร์ลัน แห่งกองทัพบกอินโดนีเซีย ได้ให้การช่วยเหลือทหารในการสวมใส่ยุทโธปกรณ์ของพวกเขา ระหว่างพิธีฝึกอบรมร่วมซูเปอร์การูด้าชิลด์ ประจำ พ.ศ. 2566 ในเมืองซูราบายา จังหวัดชวาตะวันออก ภาพจาก: กองทัพอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียและสหรัฐฯ เริ่มต้นการฝึกการูด้าชิลด์ใน พ.ศ. 2550 โดยเป็นการฝึกของกองทัพบกแบบทวิภาคี ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ใน พ.ศ. 2565 เจ้าภาพได้เปลี่ยนการฝึกดังกล่าวมาเป็นการฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ โดยมีประเทศต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และยังมีการฝึกเพิ่มเติมของกองทัพอากาศและกองทัพเรืออีกด้วย

ในบรรดาสินทรัพย์ด้านกลาโหมของประเทศที่เข้าร่วมใน พ.ศ. 2566 กองทัพออสเตรเลียได้ส่งรถถังขั้นสูง เอ็ม1เอ1 อับบรัมส์ และยานพาหนะทางยุทธวิธีหลายสิบคัน

กองทัพเรือสิงคโปร์ได้ส่งเรือรบสองลำเข้าร่วมการฝึก ซึ่งได้แก่ อาร์เอสเอส เอนเดเวอร์ เรืออู่ยกพลขึ้นบกขนาด 140 เมตรและ อาร์เอสเอส วิเกอร์ เรือคอร์เวตขนาด 62 เมตร นอกจากนี้ กองทัพอินโดนีเซียและกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกยังได้ส่งเรือรบ รวมถึง เฮลิคอปเตอร์รบแบล็กฮอว์กและอาปาเช่ของสหรัฐฯ เครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่ รถบรรทุกสาธารณูปโภคขนาดใหญ่แบบล้อยางอเนกประสงค์ความคล่องตัวสูง และยานพาหนะขนส่งทางโลจิสติกส์และการแพทย์หลายคัน

การฝึกประจำ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วยการฝึกของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการและระดับกองพลน้อย การฝึกอบรมภาคสนามทางยุทธวิธีของหน่วยขนาดเล็ก การฝึกอบรมภาคสนามทั่วไป การฝึกด้วยกระสุนจริงโดยใช้อาวุธที่หลากหลาย และโครงการปฏิบัติการทางวิศวกรรมโยธา

ทหารของกองทัพอินโดนีเซียประมาณ 1,900 นายและกองกำลังสหรัฐฯ 2,100 นายเข้าร่วมการฝึกกับกองกำลังจากประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมอีกหลายร้อยนาย หาดบาโนงัน เมืองซิตูบอนโด เมืองซูราบายา และสนามบินบันยูวังกิ เป็นสถานที่ฝึกซ้อมใน พ.ศ. 2566

ผู้สังเกตการณ์การฝึก ได้แก่ บรูไน บราซิล แคนาดา เยอรมนี อินเดีย มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และติมอร์-เลสเต

องค์ประกอบโครงการปฏิบัติการทางวิศวกรรมโยธาของการฝึกดังกล่าวเริ่มขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเริ่มดำเนินการฝึกอย่างเป็นทางการ โดยมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายร้อยคนจากกองทัพเรือที่ 2 ของกองทัพเรืออินโดนีเซียและจากกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ที่ทำงานร่วมกับสมาชิกชุมชนเพื่อปรับปรุงโรงเรียนระดับประถมศึกษาในหมู่บ้านซุมเบอร์เรโจ ตำบลอาเซมบากัส จังหวัดชวาตะวันออก หลาย ๆ ทีมทำงานร่วมกันเพื่อสร้างห้องเรียน ห้องสมุด ห้องพักครู ห้องน้ำ และผนังโรงเรียนใหม่ รวมถึงถังสูงเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำสะอาดให้กับนักเรียน

โครงการปฏิบัติการทางวิศวกรรมโยธาเป็นตัวอย่างของ “แนวทางที่ครอบคลุม” จากการฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ กองทัพอินโดนีเซียระบุในแถลงการณ์

“การฝึกนี้ไม่เพียงนำมาซึ่งประโยชน์ให้กับทั้งกองทัพอินโดนีเซียและกองทัพสหรัฐฯ เท่านั้น ทว่ายังสร้างผลกระทบที่ยาวนานและยั่งยืนให้กับชุมชนท้องถิ่นโดยรอบพื้นที่การฝึกอบรมอีกด้วย” กองทัพอินโดนีเซียระบุ “การฝึกดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในการฝึกร่วมทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเสถียรภาพของภูมิภาค”

 

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button