ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดความร่วมมือโอเชียเนีย

สหรัฐฯ เตรียมบังคับใช้กฎหมายทางทะเลโดยรอบปาเลา

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ระบุเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ว่า สหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่กับปาเลา ซึ่งให้อำนาจแก่เรือของสหรัฐฯ ในการบังคับใช้กฎระเบียบทางทะเลเพียงฝ่ายเดียวในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกแห่งนี้

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามคำเรียกร้องของประธานาธิบดีปาเลาที่ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการป้องปราม “กิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์” ของรัฐบาลจีนในน่านน้ำชายฝั่งของตน

ในข้อตกลงนี้ เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ สามารถบังคับใช้กฎระเบียบภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของปาเลาในนามของประเทศได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ปาเลาอยู่ด้วย กองกำลังรักษาชายฝั่งระบุในแถลงการณ์

“ข้อตกลงนี้ช่วยให้ปาเลาตรวจสอบเขตเศรษฐกิจพิเศษของเรา ป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมถึงป้องปรามเรือที่ไม่ได้รับเชิญที่ทำการเดินเรือที่น่าสงสัยภายในน่านน้ำของเรา” นายเซอร์รังเจล เอส. วิปส์ จูเนียร์ ประธานาธิบดีปาเลา ระบุในแถลงการณ์

“ความร่วมมือประเภทนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามุ่งสู่เป้าหมายที่มีร่วมกันในด้านสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค”

แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่อย่างใด ทว่าในเดือนมิถุนายน นายวิปส์ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงโตเกียวว่า เรือของจีนสามลำได้เข้าสู่น่านน้ำของประเทศของตน “โดยไม่ได้รับเชิญ” นับตั้งแต่นายวิปส์เข้ารับตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2564 และเน้นย้ำในขณะนั้นว่าจำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมเพื่อยกระดับการป้องปรามการเคลื่อนไหวของจีนที่รุกรานเข้ามาในภูมิภาค

“สหรัฐอเมริกามีหน้าที่รับผิดชอบต่อความมั่นคงของเรา อีกทั้งเรายังต้องการให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วมและให้ความช่วยเหลือในการป้องปรามกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ” นายวิปส์ระบุ

ความตึงเครียดได้เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดติดกับการอ้างสิทธิ์ทางทะเลอย่างกว้างขวาง รวมถึงสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรก็ตอบโต้กลับในประเด็นนี้ด้วย

ในเวลาเดียวกันกับที่มีการลงนามข้อตกลงกับปาเลาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรือของฟิลิปปินส์ 2 ลำพร้อมกับอากาศยานลาดตระเวนของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่บินอยู่เหนือลำเรือ ได้ฝ่าการปิดล้อมของกองกำลังรักษาชายฝั่งของจีนในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาทเพื่อส่งมอบเสบียงให้แก่กองกำลังฟิลิปปินส์ที่เฝ้าระวังอยู่บริเวณสันดอนที่เป็นข้อพิพาท

นั่นนับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดจากข้อพิพาททางอาณาเขตที่ยาวนานในทะเลอันแสนวุ่นวายซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับจีน และไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อฟิลิปปินส์เท่านั้น ทว่ายังส่งผลกระทบถึงบรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนามด้วย

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 นายวิปส์กล่าวหาว่ารัฐบาลจีนได้ดำเนินกิจกรรมการสำรวจในน่านน้ำปาเลา และชี้ให้เห็นว่าประเทศของตนอาจกำลังได้รับการลงโทษจากรัฐบาลจีนสำหรับท่าทีที่มีต่อไต้หวัน

ปาเลาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ให้การยอมรับไต้หวันและรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันซึ่งแยกออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงสงครามกลางเมืองเมื่อ พ.ศ. 2492 และตั้งรัฐบาลแยกต่างหากจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปักกิ่ง

สำหรับประเทศอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐบาลของหมู่เกาะโซโลมอนได้รับการชักชวนให้โยกย้ายการรับรองทางการทูตของไต้หวันไปเป็นจีนเมื่อ พ.ศ. 2562 ตั้งแต่นั้นมา หมู่เกาะโซโลมอนได้ลงนามในสนธิสัญญาด้านความมั่นคงลับกับจีน ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจทำให้รัฐบาลจีนมีฐานที่มั่นทางทหารในแปซิฟิกใต้

สหรัฐฯ ได้ตอบโต้ด้วยความเคลื่อนไหวทางการทูตของตน รวมถึงการเปิดสถานทูตในหมู่เกาะโซโลมอน

ข้อตกลงกับปาเลาคล้ายกับข้อตกลงที่ทำไว้กับสหพันธรัฐไมโครนีเซียเมื่อปลาย พ.ศ. 2565 หลังจากที่กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ได้ดำเนินการขึ้นเรือสำหรับประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมทวิภาคีกับปาปัวนิวกินีในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะช่วยให้กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ สามารถขึ้นเรือพร้อมกับกองกำลังรักษาชายฝั่งในท้องถิ่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษของปาปัวนิวกินีได้เป็นครั้งแรกในปลายปีนี้

กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง “การลงทุนอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ในการปกป้องทรัพยากรและผลประโยชน์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลที่มีร่วมกัน”

กองกำลังรักษาชายฝั่งระบุว่า “ความพยายามที่เป็นเอกภาพกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกนี้ รวมถึงความร่วมมือกับปาเลา จะยกระดับขีดความสามารถร่วมกันของเราในการปกป้องทรัพยากรและรักษาอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างสำหรับทุกประเทศที่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button