ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์กระชับความร่วมมือด้านกลาโหมท่ามกลางความกังวลด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เมื่อญี่ปุ่นประกาศแผนการดำเนินงานในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงต้น พ.ศ. 2566 เพื่อช่วยส่งเสริมด้านกลาโหมและความมั่นคงในกลุ่มประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ฟิลิปปินส์นั้นเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ โครงการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของรัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าจะมอบเรดาร์และการสื่อสารผ่านดาวเทียมให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล รวมถึงปกป้องเส้นทางหลักของตนในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากการให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและการลงทุนภาคเอกชนเป็นมูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.53 แสนล้านบาท)
เพียงไม่กี่เดือนถัดมา ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในการฝึกซ้อมแบบไตรภาคีเป็นครั้งแรก การฝึกซ้อมกองกำลังรักษาชายฝั่งที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้มีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกว่า 500 คน ซึ่งมารวมตัวกันที่น่านน้ำนอกจังหวัดบาตานของฟิลิปปินส์เพื่อฝึกซ้อมการต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด และปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย
การฝึกซ้อมอันเป็นหมุดหมายสำคัญนี้แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในด้านกลาโหมที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และต่อยอดจากความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนานหลายทศวรรษ ฟิลิปปินส์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อความพยายามนานนับทศวรรษของญี่ปุ่นในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายเฟลิกซ์ ชัง นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศในสหรัฐฯ เขียน
ความท้าทายด้านความมั่นคงที่มีร่วมกันทำให้ความร่วมมือเป็นผลตอบรับตามธรรมชาติของทั้งญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ซึ่งต่างก็ “ประสบกับแรงกดดันทางความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลจีน” นายชังเขียน “สำหรับฟิลิปปินส์ แรงกดดันดังกล่าวปรากฏให้เห็นแล้วในการข่มขู่ทางทะเลของจีน การฉวยโอกาสยึดครองแนวปะการังมิสชีฟ และการปิดกั้นสันดอนสกาโบโรห์ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีที่เป็นข้อพิพาท” นายชังเขียน “จีนได้ประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนตะวันออกใกล้กับญี่ปุ่น และทำการคุกคามเรือญี่ปุ่นรอบหมู่เกาะเซ็งกะกุที่เป็นข้อพิพาท
ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ทั้งสองประเทศยังเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับไต้หวันอีกด้วย ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงยกระดับแรงกดดันทางทหารท่ามกลางการคุกคามครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อผนวกไต้หวันที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนโดยใช้กำลัง วิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่จะคุกคามญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของช่องแคบไต้หวันต่อการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ทั่วโลก นี่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหลายล้านล้านดอลลาร์ตกอยู่ในความเสี่ยง
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตกลงว่ากองกำลังด้านกลาโหมของทั้งสองจะร่วมมือกันในปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติในฟิลิปปินส์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นอาซาฮีชิมบุน ข้อตกลงดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่นำไปสู่สนธิสัญญาที่จะอนุญาตให้กองกำลังของทั้งสองประเทศฝึกซ้อมในดินแดนของกันและกันได้ การเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการเข้าถึงแบบทวิภาคีเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกัน ตามข้อมูลจากรายงานข่าว
ข้อตกลงที่มีความครอบคลุมมากขึ้นในลักษณะที่คล้ายคลึงกับข้อตกลงกองกำลังเยือนอาจจะกำลังเกิดขึ้นในไม่ช้า นายเอนริเก้ มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าด้วยความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังเจรจาจัดทำข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวกับหุ้นส่วนที่สำคัญ “ใกล้กับจีน” ตามรายงานของเว็บไซต์เอเชียไทมส์ ข้อตกลงนี้จะทำให้ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นขยายขอบเขตการฝึกซ้อมทางทหารร่วมและการแลกเปลี่ยนยุทโธปกรณ์ และอาจนำไปสู่ปฏิบัติการร่วมในเหตุการณ์ฉุกเฉิน
“ญี่ปุ่นคือพันธมิตร และด้วยข้อพิพาททางอาณาเขตที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในน่านน้ำของเรา เราจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งขึ้นกับพันธมิตรของเรา” นายฮวน มิเกล ซูบิรี่ ประธานวุฒิสภาฟิลิปปินส์ กล่าวในช่วงต้น พ.ศ. 2566 ตามรายงานของเอเชียไทมส์
ในระหว่างการประชุมในเดือนสิงหาคมกับพรรคโคเมอิโตะของญี่ปุ่น นายมาร์กอสเน้นย้ำถึงความจำเป็นของความร่วมมือด้านความมั่นคงใน “การรักษาสันติภาพและการคงไว้ซึ่งการดำเนินการค้าและการขนส่งในทะเลจีนใต้ได้อย่างอิสระ” ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าว
นายมาร์กอสยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่างญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของการขยายการป้องปรามไปทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน่านน้ำที่มีการแข่งขันกันอย่างทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน