ความเป็นผู้นำของผู้หญิงในแปซิฟิกเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความทนทานในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่มั่นคงทางอาหาร
เฉินตี หลิว/สำนักงานสตรี สันติภาพ และความมั่นคง
บทบาทที่สำคัญของผู้หญิงในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่มั่นคงของอาหารในภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งล่าสุดในเมืองซูวา ประเทศฟิจิ ซึ่งได้รับการร่วมสนับสนุนโดยสำนักงานสตรี สันติภาพ และความมั่นคงแห่งกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ศูนย์การวิเคราะห์ทางกองทัพเรือ และองค์กรสตรีหลากสีผิวเพื่อผลักดันสันติภาพ ความมั่นคง และการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง
กิจกรรมที่มีระยะเวลา 2 วันนี้มีชื่อว่า “สร้างความทนทานที่เป็นหนึ่งเดียวกัน” ซึ่งมีองค์กรที่เข้าร่วมกว่า 24 องค์กรพร้อมด้วยความเชี่ยวชาญ โครงการ และประสบการณ์ที่หลากหลาย รวมทั้งเฟมลิงก์แปซิฟิกที่อยู่ในฟิจิ แนวร่วมสิทธิมนุษยชน สมาคมสตรีแม่น้ำพอร์เจราเรดพารา และทรานเซนด์โอเชียเนีย หนึ่งในหัวข้อที่ผู้ร่วมการประชุมกล่าวถึงคือความเกี่ยวโยงกันของสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร และความไม่มั่นคง โดยกล่าวว่า “ในแปซิฟิก ผู้หญิงมีความเกี่ยวข้องกับอาหาร และมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาอาหารมาให้กับครอบครัวของตนเอง แม้ว่าเสบียงหรือจำนวนอาหารที่มีจะเป็นอย่างไรก็ตาม” สิ่งนี้ชี้ชัดถึงภาระหน้าที่ของผู้หญิงที่มีมากขึ้น เนื่องจากปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในภูมิภาคมีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงยังนำมาซึ่งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพื่อใช้แก้ไขปัญหานี้ด้วย
ผู้เข้าร่วมประชุม นางเมารีน เพนจูเอลี ผู้ประสานงานของเครือข่ายแปซิฟิกด้านโลกาภิวัตน์ ได้กล่าวถึงการด้อยค่าการมีส่วนช่วยเหลือในการผลิตอาหารของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ นางเพนจูเอลีเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการ “ตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้มีองค์ความรู้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีองค์ความรู้พื้นเมือง ที่เกี่ยวกับการผลิตอาหารและการเพาะปลูก ทั้งในระดับครัวเรือนและในระดับการดำรงชีวิต รวมทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมอาหารและการถนอมอาหาร และความมุ่งมั่นด้านการบริโภคอาหารและตัวเลือกในการดำรงชีวิต”
ใน พ.ศ. 2561 การประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งเป็นองค์กรนโยบายด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่ปัจจุบันมีสมาชิก 18 ประเทศ ได้ออกปฏิญญาโบว่าด้วยความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “ภัยคุกคามเพียงอย่างเดียวที่ร้ายแรงที่สุดต่อการดำรงชีวิต ความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในแปซิฟิก” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “สิ่งทวีความรุนแรงให้ภัยคุกคาม” ซึ่งเพิ่มและทวีความรุนแรงให้ “ความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ความไม่มั่นคง การถูกบังคับให้พลัดถิ่น และการฉวยโอกาส” ตามรายงานใน พ.ศ. 2564 โดยสถาบันจอร์จทาวน์เพื่อสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเกิดขึ้นช้า ๆ และเกิดขึ้นโดยฉับพลันก็ล้วนส่งผลอย่างไม่เท่าเทียมต่อผู้หญิง ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการดำรงชีวิต สุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงเลวร้ายลง
ทั่วทั้งภูมิภาค ผู้หญิงเป็นผู้นำโครงการริเริ่มการบรรเทาปัญหาและการปรับตัว รวมถึงขับเคลื่อนชุมชนและส่งเสริมการสนทนาและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ใน พ.ศ. 2543 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติที่ 1325 ว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ซึ่งตระหนักถึงผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมของความขัดแย้งและวิกฤติที่มีต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง รวมทั้งความสำคัญของการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเต็มที่ในสันติภาพและความมั่นคง โดยมตินี้เรียกร้องให้สมาชิกองค์การสหประชาชาติปรับใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ ใน พ.ศ. 2555 การประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกได้ปรับใช้แผนการดำเนินการระดับภูมิภาคเพื่อยกระดับความเป็นผู้นำของผู้หญิงและรับรองการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้สนับสนุนความพยายามของสำนักงานสตรี สันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค ใน พ.ศ. 2554 สหรัฐฯ ได้ปรับใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ ตามมาด้วยกฎหมายสตรี สันติภาพ และความมั่นคงที่ผ่านโดยรัฐสภาสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2560 ยุทธศาสตร์สตรี สันติภาพ และความมั่นคงที่เกิดขึ้นตามมาใน พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ 4 หน่วยงานพัฒนาแผนการปรับใช้ รวมถึงกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา สำนักงานกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกของสตรี สันติภาพ และความมั่นคงได้สนับสนุนโครงการริเริ่มของประเทศหุ้นส่วนตลอดมา
อีกทั้งยังร่วมมือกับศูนย์ภัยพิบัติแปซิฟิก ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยประยุกต์ที่บริหารโดยมหาวิทยาลัยฮาวาย เพื่อพัฒนาคะแนนการตอบสนองสตรี สันติภาพ และความมั่นคงสำหรับประเทศในอินโดแปซิฟิก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยง ในขณะที่การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงข้อมูล น้ำสะอาด และสุขาภิบาลเป็นตัวบ่งชี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศ
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 เฟมลิงก์แปซิฟิกได้บันทึกบทสัมภาษณ์สำหรับรายการพอดแคสต์ของตน ซึ่งพยายามยกระดับเสียงและความเป็นผู้นำของผู้หญิงเพื่อช่วยขยายการเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อและการส่งข้อความที่เข้าถึงได้ องค์กรเฟมลิงก์แปซิฟิกนี้อุทิศตนเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ ความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา สันติภาพ เสรีภาพ ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน และได้แบ่งปันข้อมูลด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้นำท้องถิ่นผ่านเครือข่ายสื่อชุมชนผู้นำสตรีในชนบท
นอกจากนี้ยังช่วยสร้าง วูเมนเวเทมเวตา ในวานูอาตู ซึ่งหมายถึงการเฝ้าระวังสภาพอากาศสำหรับผู้หญิง โดยเป็นระบบการสื่อสารที่ช่วยให้ผู้นำสตรีสามารถเตรียมชุมชนให้พร้อมสำหรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น
อีกหัวข้อหนึ่งที่มีการพูดถึงที่การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้คือ ความจำเป็นในการพิจารณาแนวคิดด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ นอกเหนือจากการตอบสนองเหตุฉุกเฉินและการบรรเทาปัญหา ผู้มีส่วนร่วมยังได้กล่าวว่าต้องมีการผสานรวม “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความรู้ และธรรมเนียมพื้นเมือง” เข้าไว้ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการส่งเสริมความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุมและเป็นองค์รวม โดยที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการวางแผนและการตัดสินใจ
ในขณะเดียวกัน สำนักงานสตรี สันติภาพ และความมั่นคงแห่งกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกยังคงให้การสนับสนุนความเป็นผู้นำของผู้หญิงด้วยการร่วมมือกับการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อพัฒนาการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างขีดความสามารถ และที่ประชุมอื่น ๆ เพื่อการหารือเรื่องสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร และความท้าทายรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ