ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การตอบโต้ไวรัสทางความคิดของจีน

พ.ต. หยาชือ หวง/กองทัพบกไต้หวัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เริ่มปฏิบัติการด้านข้อมูลและความคิดผ่าน “เว็บไซต์รวมเนื้อหาหลากหลาย” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผลิตเนื้อหาคุณภาพต่ำจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์ด้านการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อโน้มน้าวประชาชนและกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งภายในไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าต้องใช้กำลังก็ตาม อย่างไรก็ตาม หลังจากการประท้วงปะทุขึ้นในฮ่องกงเมื่อช่วงกลาง พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีการเปิดเผยร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของจีนและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในซินเจียง ประชาชนไต้หวันจึงมีความตื่นตัวมากขึ้นต่อการรณรงค์บิดเบือนข้อมูลดังกล่าว โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากจีน

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เมื่อไต้หวันเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 จีนจึงสบโอกาสในการดำเนินปฏิบัติการทางความคิด ปัจจุบัน จีนไม่เพียงแต่ใช้นักเลงคีย์บอร์ดทางอินเทอร์เน็ตแบบเดิมเท่านั้น เช่น กองทัพ 50-เซนต์ หรือ นักการทูตแบบนักรบหมาป่า แต่ยังใช้เว็บไซต์และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ใหม่ ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จและข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งด้วยความหวังที่จะขยายอิทธิพลของตนเองในไต้หวัน ตลอดจนบ่อนทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลไต้หวัน ดังนั้น เมื่อไวรัสทางความคิดเหล่านี้แพร่ระบาดมาสู่สื่อสังคมออนไลน์ของไต้หวันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ไวรัสทางความคิดนี้ก็กลายเป็นวิกฤตการณ์อีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากโควิด-19

สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ “กองทัพ 50-เซนต์” ซึ่งเป็นกลุ่มนักแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรายงานระบุว่ามีจำนวนตั้งแต่ 500,000 คนถึง 2 ล้านคน

 

การแพร่ระบาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ไต้หวันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกือบ 19 ล้านคน ซึ่งแต่ละคนใช้เวลาไปกับกิจกรรมทางออนไลน์กว่า 8 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ยและมีบัญชีสื่อสังคมออนไลน์กว่า 8 บัญชี ตามรายงานอินเทอร์เน็ตของไต้หวัน พ.ศ. 2563 ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงวุฒิภาวะของสื่อสังคมออนไลน์ของไต้หวัน เมื่อพิจารณาจากเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 และการระบาดของไวรัสโคโรนา จะเห็นว่าจำนวนเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีการบิดเบือนข้อมูลจำนวนมากเกิดขึ้นในแอปส่งข้อความหลักของไต้หวันอย่างไลน์

ไวรัสทางความคิดของจีนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โจมตีรัฐบาลไต้หวัน แสดงความคิดเห็นเข้าข้างจีน และสร้างความวุ่นวายทางสังคม สำหรับประเภทที่ 1 ประเด็นทั่วไปที่ใช้ในการโจมตีไต้หวัน ได้แก่ การตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไต้หวันผลิตเองและการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เมื่อรัฐบาลไต้หวันแสดงความกังวลเกี่ยวกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยและการปิดกิจการของหนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลีในฮ่องกง ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ของจีนก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าไต้หวันมีมาตรการป้องกันโรคระบาดที่ไม่เพียงพอ สำหรับประเภทที่ 2 จีนเน้นย้ำให้เห็นว่าพลเมืองไต้หวันได้รับการฉีดวัคซีนในประเทศจีน โดยชื่นชมคุณภาพของวัคซีนจีนและการช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ในการต่อสู้กับโรคระบาดของวัคซีนจีน สำหรับประเภทที่ 3 จีนแต่งคำกล่าวอ้างที่น่าเหลวไหลเกี่ยวกับการบริจาควัคซีนจากประเทศอื่น ๆ ให้แก่ไต้หวัน อาทิ ญี่ปุ่น ลิทัวเนีย โปแลนด์ สโลวาเกีย และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ไต้หวันรู้สึกขอบคุณสำหรับการบริจาคเหล่านี้ จีนกลับรู้สึกรำคาญใจ เมื่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของญี่ปุ่นมาถึงไต้หวัน ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลข้างเคียงแพร่กระจายบนสื่อสังคมออนไลน์ทันที เมื่อสหรัฐฯ ประกาศบริจาควัคซีนให้ไต้หวัน การรณรงค์บิดเบือนข้อมูลของจีนพยายามเชื่อมโยงการบริจาคดังกล่าวเข้ากับการค้าอาวุธ ในทำนองเดียวกัน เมื่อวุฒิสมาชิกสหรัฐฯเดินทางเยือนเกาะไต้หวัน นักโฆษณาชวนเชื่อชาวจีนอ้างว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวกำลังประเมินเส้นทางอพยพ สรุปสั้น ๆ คือ จีนพยายามกระตุ้นความโกรธแค้น ความหวาดกลัว และความตื่นตระหนกแก่หมู่ประชาชนไต้หวัน

การบริจาควัคซีนโควิด-19 ครั้งที่ 4 ของญี่ปุ่นได้ทำการขนส่งถึงไต้หวันในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564 ณ ท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวันเถายูเหวียน การรณรงค์บิดเบือนข้อมูลของจีนบนสื่อสังคมออนไลน์ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน

 

การเสริมสร้างความต้านทานของสังคม

จีนปรับใช้ 3 แนวทางในการแพร่กระจายไวรัสทางความคิด ได้แก่ การสร้างความขัดแย้งภายใน การกระตุ้นความโกรธแค้นของผู้คน ตลอดจนการแบ่งแยกและการปกครอง การชักจูงผู้ร่วมอุดมการณ์ในท้องถิ่นเพื่อสร้างข้อถกเถียงและเผยแพร่ข้อมูลเท็จเป็นการพยายามจัดการความคิดเห็นของสาธารณชนในไต้หวัน และยั่วยุให้เกิดความไม่พอใจและความโกรธแค้นต่อรัฐบาล นอกจากนี้ จีนยังเชี่ยวชาญในการผูกมิตรกับศัตรูรองเพื่อต่อสู้กับศัตรูหลักอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ เมื่อทำงานร่วมกับผู้ร่วมอุดมการณ์ในท้องถิ่น จีนจะไม่สนับสนุนกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม แต่ใช้กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้เพื่อขยายอิทธิพลและต่อสู้กับรัฐบาลไต้หวันเท่านั้น

เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากไวรัสทางความคิดของจีน กองทัพไต้หวันจึงดำเนินการเพื่อเสริมสร้างการต่อต้านและศรัทธาของประชาชนในการป้องกันประเทศผ่านการประชาสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ความพยายามเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายจากการระบาดใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหตุภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดของไต้หวันในรอบ 56 ปี ตลอดจนการบุกรุกของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย หน่วยรบและหน่วยสนับสนุนของกองทัพไต้หวันทุ่มเทเพื่อต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ พร้อมทั้งต่อสู้กับไวรัสทางความคิดของจีน โดยหวังว่ามาตรการสร้างความตระหนักทางวัฒนธรรมจะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจของทหารและพลเรือนได้เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งของการชี้แจงการบิดเบือนข้อมูลในทันทีคือ เว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมไม่เพียงแต่แสดงส่วนที่ทำการชี้แจงการบิดเบือนข้อมูลเท่านั้น แต่กระทรวงกลาโหมยังโพสต์คำชี้แจงในเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ด้วยทุกครั้งที่ระบุพบการบิดเบียนข้อมูล

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมไต้หวันยังเดินหน้าปรับปรุงเพื่อสร้างสรรค์โครงการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมเชิงนวัตกรรมและเชิงสร้างสรรค์ โดยเผยแพร่บนเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์และแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงกลาโหมไต้หวันยังได้ร่วมมือกับบริษัทโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไต้หวันในการกำกับรายการชื่อ “ไฟท์ติ้ง” ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 โดยบุคคลผู้มีชื่อเสียงจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมรายการดังกล่าวเพื่อสัมผัสกับชีวิตทหารและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นทางทหารของสาธารณชน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันกองทัพของไต้หวัน กระทรวงกลาโหมไต้หวันได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนเพื่อออกแบบรถไฟธีมทหารสีสันสดใสในรูปแบบเมืองกรุงสำหรับระบบรถไฟใต้ดิน นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวมาสคอตสุนัขชิบะอินุ ในฐานะทูตสันถวไมตรีเพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่และแสดงให้เห็นว่ากองทัพสามารถเข้าถึงได้ เป็นมิตร และมีชีวิตชีวา ชุดการออกแบบล่าสุดมีความหวานและร่าเริง ซึ่งต่างจากการรณรงค์ก่อนหน้าที่มุ่งเน้นความสมจริงหรืออึมครึม โดยสะท้อนความปรารถนาที่จะถ่ายทอดภาพกองทัพว่าเป็นบุคคลธรรมดาและคนทั่วไป

ไต้หวันจัดการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ด้วยกระสุนจริงท่ามกลางความตึงเครียดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อาวุธต่อต้านเรือเบรฟวิน 3 หรือสีเอิงเฟิง 3 ซึ่งเป็นขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงระยะกลางที่ไต้หวันผลิตเอง ถูกยิงออกไป เผยแพร่ภาพเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ที่มา: กระทรวงกลาโหมไต้หวันผ่านทางดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

 

การสร้างไฟร์วอลล์ทางความคิด

เพื่อที่จะต่อต้านไวรัสทางความคิดของจีนอย่างมีประสิทธิภาพ กองทัพไต้หวันต้องปรับปรุงขีดความสามารถในการประชาสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและสร้างเสริมความต้านทานของกองทัพ กระทรวงกลาโหมไต้หวันหวังที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกองทัพและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการรณรงค์บิดเบือนข้อมูลของจีน โดยขอความร่วมมือกับกระทรวงอื่น ๆ และเผยแพร่ความรู้ทางทหารออกไปในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังที่นายทิโมธี แอล. โทมัส นักวิเคราะห์ทางทหารของสหรัฐฯ ผู้เกษียนอายุราชการ ได้เขียนไว้ในบทความหัวข้อ “จิตใจไม่มีไฟร์วอลล์” ซึ่งตีพิมพ์ในพารามิเตอร์ วารสารวิชาการรายไตรมาสของวิทยาลัยการสงครามกองทัพสหรัฐฯ ว่า ความสำคัญของจิตใจ จิตสำนึก และจิตวิญญาณของบุคคลไม่สามารถละเลยได้ แม้จะมีการมุ่งเน้นไปที่ระบบฮาร์ดแวร์ เนื่องจากจีนยังคงส่งเสริมการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเสริมสร้างการรวมประเทศให้กับประชาชนไต้หวัน กระทรวงกลาโหมไต้หวันจึงจำเป็นจะต้องร่วมมือกับกระทรวงอื่น ๆ ให้มากยิ่งขึ้นและสร้างไฟร์วอลล์ที่แน่นหนาในจิตใจของประชาชนเพื่อต่อต้านการบิดเบือนข้อมูลและลดประสิทธิภาพของปฏิบัติการทางความคิดของจีน

เช่นเดียวกันกับที่ไวรัสโคโรนามีการกลายพันธุ์ ไวรัสทางความคิดของจีนเองก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ไต้หวันเป็นเป้าหมายแรกของจีนสำหรับปฏิบัติการทางความคิดและข้อมูล เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลจีนคือการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ขณะที่หลายประเทศพัฒนาวัคซีนเพื่อที่จะปกป้องประชาชนของตนจากไวรัสโคโรนาให้ได้มากขึ้น ประเทศเหล่านั้นก็ยังต้องพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสทางความคิดอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในไต้หวันถือเป็นบทเรียนสำหรับทุกประเทศที่มีประชาธิปไตยและเสรีภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนเช่นเดียวกับไต้หวัน

 

บทความนี้เผยแพร่ในนิตยสารดิออฟฟิซเซอร์รีวิวฉบับเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวารสารของมิลิทารีออร์เดอร์ออฟเดอะเวิลด์วอร์ ฉบับที่ 62 เลขที่ 4 บทความนี้มีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม https://moww.org/wp-content/uploads/2023/06/Officer-Review_July-August-2023-New-web-edition.pdf

พ.ต. หยาชือ หวง เป็นพันตรีในกองทัพบกไต้หวันและปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำหน่วยย่อยรายการวิทยุจีน นั่นคือ วอยซ์ออฟฮั่นและกลุ่มสงครามจิตวิทยา เธอจบการศึกษาใน พ.ศ. 2556 จากวิทยาลัยฟูชิงกังแห่งมหาวิทยาลัยกลาโหมแห่งชาติไต้หวัน และสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาการพัฒนาวารสารศาสตร์ เธอยังปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาในหน่วยของคลังซ่อมบำรุงผสมหลงตันประเภทเอของกองบัญชาการสนับสนุนระดับภูมิภาคที่ 3 กลุ่มเคมีที่ 33 ของกองบัญชาการกองทัพบกที่ 6 และกองพันบริการของศูนย์บัญชาการใหญ่กองบัญชาการกองทัพบก ส่วนหนึ่งของหน้าที่ของ พ.ต. หวงคือทำการวิจัยถึงปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมข้ามช่องแคบ ในระหว่างการปฏิบัติงานในรายการวอยซ์ออฟฮั่น เธอได้รับรางวัลวงล้อทองคำจากโรตารีไต้หวันสาขาการรายงานข่าวบริการสาธารณะหรือการรายงานข่าวทางสื่อวิทยุ

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button