สภาพภูมิอากาศโอเชียเนีย

โครงการฟิวเจอร์นาวของตูวาลูมีการสำรองข้อมูลเสมือนจริงของประเทศรวมอยู่ด้วย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ตูวาลูไม่ได้ดีใจนักกับการที่กำลังจะเป็นประเทศดิจิทัลแห่งแรกของโลก แต่หากตูวาลูล้มเหลวในการพยายามรักษาระดับน้ำทะเลรอบ ๆ เกาะของตัวเองในแปซิฟิกใต้แห่งนี้ ประชาชนกว่า 11,500 คนของตูวาลูก็อยากจะให้เกาะของตนเองคงอยู่ในเมตาเวิร์สดีกว่าไม่หลงเหลืออะไรอยู่เลย

ตูวาลูอยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างออสเตรเลียและฮาวาย โดยตูวาลูได้แสดงให้เห็นถึงการประสบปัญหาของตนจากการเผชิญกับภาวะโลกร้อน ณ การประชุมสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ในวิดีโอ นายไซมอน โคเฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตูวาลูในตอนนั้นยืนอยู่ด้านหลังโพเดียมขณะสวมชุดสูท โดยที่ขาของเขาจมอยู่ในน้ำที่ลึกถึงเข่าและมีเกาะอยู่ด้านหลังของเขา

นายไซมอน โคเฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตูวาลูในตอนนั้น พูดผ่านวิดีโอที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

“เรากำลังจม และคนอื่น ๆ ก็เป็นเหมือนกันด้วย” นายโคเฟกล่าว ซึ่งเรียกร้องให้มีการดำเนินการในระดับนานาชาติเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดในโลกหลายประเทศมีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยมลพิษของเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยมาก ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติใน พ.ศ. 2565 แต่ถึงอย่างนั้น “หลายประเทศในกลุ่มนี้ก็เป็นด่านหน้าที่เผชิญกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ”

วิดีโอของนายโคเฟจากตูวาลูมีผู้เข้าชมหลายล้านคน แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับประเทศที่เล็กที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลกแห่งนี้ หลังจากนั้นมีการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นที่กำลังคุกคามประเทศหมู่เกาะปะการัง 9 เกาะที่มีเนื้อที่ 26 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ กระทรวงยุติธรรม การสื่อสาร และการต่างประเทศของตูวาลูเริ่มดำเนินโครงการฟิวเจอร์นาวที่เชิญชวนประเทศต่าง ๆ ให้ลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อรับรองว่าตูวาลูสามารถคงสถานะการเป็นประเทศและอาณาเขตทางทะเลไว้แม้ว่าเกาะจะจมลงไปในทะเล โดยสร้าง “ประเทศดิจิทัล” ที่แสดงถึงการบริหารของตูวาลู ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และค่านิยม อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนในระดับนานาชาติเพื่อรับมือกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

แนวคิดการสร้างประเทศทั้งประเทศขึ้นมาใหม่โดยใช้ความเป็นจริงเสริมและความเป็นจริงเสมือนเป็นความคิดที่แปลกใหม่ ประเทศและเมืองอื่น ๆ อย่างบาร์เบโดส โซล และสิงคโปร์กำลังเริ่มให้บริการงานของระบบราชการในเมตาเวิร์ส ตูวาลูจะจำลองการทำงานของรัฐบาล แต่ก็จะแสดงให้เห็นภูมิประเทศของเกาะ ประเพณี และสถานที่สำคัญต่าง ๆ นายโคเฟได้แนะนำแนวคิดนี้ให้กับผู้นำระดับโลกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และเขายังได้พูดในวิดีโอด้วยว่า ตัวตนแบบดิจิทัลอาจทำให้ตูวาลูดำเนินต่อไปได้แม้ว่าจะสูญเสียพื้นดินไป

นายไซมอน โคเฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในตอนนั้น ปรากฏตัวบนเกาะตูวาลูขนาดเล็กในตัวอย่างการสร้าง “ฝาแฝดดิจิทัล” ของตูวาลูในเมตาเวิร์ส ตูวาลูนำเสนอวิดีโอที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565

“ความหวังของเราคือการมีประเทศดิจิทัลที่อยู่เคียงคู่กับอาณาเขตจริงของเรา แต่ในกรณีที่เราสูญเสียอาณาเขตจริงไป เราจะมีประเทศดิจิทัลที่ดำเนินต่อไปได้ดี” นายโคเฟโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์

ตูวาลูเริ่มต้นด้วยการสร้าง “ฝาแฝดดิจิทัล” ของเกาะเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าเตอาฟัวลิคู

ตูวาลูอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2 เมตร และมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบเกาะแห่งนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของที่อื่น ๆ ทั่วโลกถึง 1.5 เท่า ตามรายงานของทีมการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลของนาซ่าในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 มีการคาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูงจะท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญภายใน พ.ศ. 2593 จากการประเมินในระดับหนึ่ง ระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูงอาจท่วมพื้นที่กว่าร้อยละ 95 ของตูวาลูภายใน พ.ศ. 2643 ซึ่งทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566

ตอนนี้ระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูงได้ท่วมบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างหลายแห่ง และการไหลเข้ามาของน้ำทะเลก็ทำลายพืชผลและบ่อน้ำ น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้ปะการังฟอกขาวและส่งผลร้ายต่อการทำประมง ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น ประชาชนบางคนย้ายถิ่นฐานไปอยู่นิวซีแลนด์และที่อื่น ๆ เพื่ออาศัยอยู่ในที่ที่มีพื้นดินอยู่ในระดับสูงขึ้น

“เราสามารถสังเกตดูจากข้อมูลได้ว่า ความแปรปรวนของมหาสมุทรขนาดเล็ก พายุ น้ำขึ้นน้ำลง และระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูง ล้วนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในตูวาลู” นายเบน แฮมลิงตัน ผู้นำทีมการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล กล่าวในรายงาน

โครงการฟิวเจอร์นาว “มีเป้าหมายที่จะเตรียมความพร้อมในวันนี้เพื่อรักษาอนาคตของประเทศไว้ ไม่ว่าในสถานการณ์แบบใดก็ตาม เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” รัฐบาลระบุ

ตูวาลูยังได้ริเริ่มโครงการฟื้นสภาพพื้นดิน และจะยังคงเรียกร้องให้มีฉันทามติระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “นี่เป็นความรู้สึกที่เลวร้ายที่สุดที่เคยมีมา มันแย่กว่าการกลัวความสูง การกลัวความมืด” นางลิลลี ทีฟา อายุ 28 ปี กล่าวกับเดอะการ์เดียน “ตอนนี้เราหวาดกลัวอนาคต”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button