แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ถูกแช่แข็งในการทดลองครั้งแรกของโลก
เรื่องและภ“พโดยรอยเตอร์
นักวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการวิจัยแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟของออสเตรเลียได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบวิธีการใหม่ในการแช่แข็งและเก็บตัวอ่อนของปะการัง ซึ่งสามารถช่วยฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิจัยต่างกำลังขวนขวายหาวิธีการปกป้องแนวปะการังแห่งนี้ เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้ระบบนิเวศที่บอบบางนี้สูญเสียเสถียรภาพไป แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ซึ่งประกอบไปด้วยแนวปะการังเดี่ยวกว่า 3,000 แนวและเป็นโครงสร้างมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวมาแล้ว 4 ครั้งตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการฟอกขาวครั้งแรกในช่วงปรากฏการณ์ลานีญาที่โดยทั่วไปแล้วจะทำให้อุณหภูมิเย็นลง เมื่อน้ำร้อนเกินไป ปะการังจะขับตะไคร่น้ำที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออก จึงส่งผลให้ปะการังกลายเป็นสีขาว
การฟอกขาวของปะการังถือเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลที่ต้องพึ่งพาแนวปะการังเพื่อความอยู่รอด และอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และความมั่นคงทางอาหาร ปะการังที่ถูกแช่แข็งด้วยสารไครโอเจนสามารถจัดเก็บและนำกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ แต่กระบวนการปัจจุบันยังต้องใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อน ซึ่งรวมไปถึงการใช้เลเซอร์ด้วย นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “ไครโอเมช” ที่มีน้ำหนักเบาชนิดใหม่สามารถผลิตได้ในราคาถูกและรักษาปะการังได้ดีกว่า
ในการทดสอบในห้องปฏิบัติการเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งถือเป็นการทดสอบกับแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟครั้งแรกของโลก นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ไครโอเมชเพื่อแช่แข็งตัวอ่อนปะการังที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย มีการเก็บตัวอย่างปะการังมาจากแนวปะการังเพื่อการทดลอง ซึ่งตรงกับช่วงเวลาสั้น ๆ ของการวางไข่ประจำปี
“หากเราปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของปะการังได้ … เราจะมีเครื่องมือสำหรับอนาคตเพื่อช่วยฟื้นฟูแนวปะการังอย่างแท้จริง และเทคโนโลยีสำหรับแนวปะการังในอนาคตนี้ถือเป็นสิ่งที่พลิกโฉมวงการ” ดร. แมรี ฮาเกดอร์น นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านการวิจัยที่สวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียนและสถาบันชีววิทยาเพื่อการอนุรักษ์ในสหรัฐอเมริกา กล่าวในระหว่างการทำงานที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย
ก่อนหน้านี้มีการนำไครโอเมชมาใช้กับปะการังในฮาวายในขนาดที่เล็กกว่าและใหญ่กว่า แต่การทดลองในขนาดที่ใหญ่กว่านั้นล้มเหลว
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย สถาบันสมิธโซเนียน มูลนิธิเกรตแบร์ริเออร์รีฟ และสมาคมอนุรักษ์ทารอนกาออสเตรเลียได้เข้าร่วมการทดสอบปะการังในแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูและปรับตัวของปะการัง
เทคโนโลยีตาข่าย ซึ่งจะช่วยกักเก็บตัวอ่อนปะการังที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส (-320.8 ฟาเรนไฮต์) ได้รับการคิดค้นขึ้นโดยทีมงานจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา เทคโนโลยีนี้ทำให้สามารถแช่แข็งและจัดเก็บตัวอ่อน “ในระดับที่สามารถช่วยสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการฟื้นฟูได้” นายโจนาธาน ดาลี จากสมาคมอนุรักษ์ทารอนกาออสเตรเลีย กล่าว