ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียใต้

อินเดียและสหรัฐฯ ผลักดันโครงการริเริ่มเทคโนโลยีกลาโหม

มันดีป ซิงห์

การสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจเกิดใหม่ด้านกลาโหมในอินเดียและสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีกลาโหม สร้างห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ และกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงโดยรวม เป็นหัวใจสำคัญของโครงการริเริ่มที่เปิดตัวใน พ.ศ. 2566 โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลอินเดีย

จากจุดเริ่มต้นในเดือนมกราคมที่มาจากการเปิดตัวโครงการริเริ่มของสหรัฐอเมริกาและอินเดียในด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่ ณ ตอนนี้ โครงการดังกล่าวได้ก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นในการประชุมที่จัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ

โครงการริเริ่มด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนายอาจิต โดวาล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติอินเดีย และนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความ​มั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ มีกรอบการทำงานที่กว้างขวางเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งรวมถึงในด้านอวกาศและกลาโหม การสื่อสารเชิงควอนตัม และสารกึ่งตัวนำ และอื่น ๆ โครงการระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ ต่อยอดมาจากกรอบการทำงานนี้เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมทางทหารที่ทำงานร่วมกันและส่งเสริมการพัฒนาตลอดจนการผลิตร่วมกันในระดับทวิภาคี ตามรายงานของสภาธุรกิจระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

โครงการระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างธุรกิจเกิดใหม่และคณะผู้แทนจากทั้งสองประเทศ เพื่อเปิดตัวกองทุนนวัตกรรมร่วมเพื่อสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่ตามแบบแผนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำรวมถึงบริษัทบ่มเพาะและเร่งรัดวิสาหกิจ

การประชุมครั้งนี้เป็นการพบปะกันของธุรกิจเกิดใหม่ด้านอุตสาหกรรมกลาโหม 15 รายจากอินเดียและ 10 รายจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของสาขาต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และอวกาศ ตัวแทนของบริษัทได้นำเสนอเทคโนโลยีและหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นไปได้ในการร่วมมือกัน

การร่วมมือกันในระดับธุรกิจเกิดใหม่จะสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมกลาโหมเป็นเวลาหลายปีโดยบริษัทขนาดใหญ่ของทั้งสองประเทศ นายราฮูล บาเทีย และนายโคนาร์ก บันดารี นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม ระบุในรายงานที่ตีพิมพ์โดยคาร์เนกี อินเดีย ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงนิวเดลี นายบาเทียและนายบันดารีระบุว่า บริษัทโบอิ้งและล็อกฮีดมาร์ตินในสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับทาทากรุ๊ปของอินเดียเพื่อผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องบินรบ ในขณะเดียวกัน เจเนรัลอิเล็กทริกก็ได้ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ของอินเดีย เช่น ทาทา มหินทรา และโกเดรจ เพื่อผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์

“ปัจจุบันธุรกิจเกิดใหม่ด้านกลาโหมในอินเดียกำลังพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมายเพื่อให้กองทัพอินเดียนำไปใช้ ซึ่งมีตั้งแต่แท่นยิงไร้คนบังคับและชุดเกราะ ไปจนถึงระบบเฝ้าระวังและความสามารถในการถ่ายภาพขั้นสูง” นายบาเทียและนายบันดารีระบุ “โครงการระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ มีศักยภาพที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมกลาโหมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากวิวัฒนาการของภาคเอกชนในด้านกลาโหมและอวกาศของอินเดีย”
กองทุนนวัตกรรมร่วมภายใต้โครงการระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ มีแบบแผนของอินเดียที่สามารถใช้อ้างอิงได้ โดยกล่าวถึงนวัตกรรมเพื่อความเป็นเลิศด้านกลาโหม ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของกระทรวงกลาโหมอินเดียที่มอบเงินช่วยเหลือให้กับธุรกิจเกิดใหม่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีโครงการให้คำปรึกษาที่เชื่อมโยงธุรกิจเกิดใหม่และบริษัทกลาโหมขนาดใหญ่ทั้งในอินเดียและในสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นไปตามโครงการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่มีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) สำหรับบริษัทกลาโหมและธุรกิจเกิดใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ โครงการระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ ยังสามารถช่วยลดช่องว่างความรู้ที่สำคัญ นายบาเทียและนายบันดารีอธิบาย โดยเสริมว่าบริษัทกลาโหมและอวกาศของอินเดียมักขาดความรู้ที่จำเป็นในการสำรวจสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบของสหรัฐฯ และการดำเนินการจัดซื้อในวอชิงตัน โครงการระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ สามารถช่วยให้ธุรกิจเกิดใหม่คุ้นเคยกับกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

โครงการระบบนิเวศการเร่งรัดด้านกลาโหมของอินเดียและสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็น “สะพานเชื่อมนวัตกรรมกลาโหม” และยังสามารถทำหน้าที่ “เป็นกลไกการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธุรกิจเกิดใหม่ในอินเดียและสหรัฐฯ ยื่นขอการอนุมัติด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ในระบบนิเวศของกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลในอดีตเช่นกัน” ผู้เขียนระบุ

มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button