อินเดียสนับสนุนฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้และเพิ่มการมีส่วนร่วมมากขึ้น
มาเรีย ที. เรเยส
อินเดียได้เรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ที่สนับสนุนสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในพื้นที่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาด 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์ และตัดสินให้การอ้างสิทธิ์อันกว้างขวางในพื้นที่ทั้งหมดในทะเลจีนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นโมฆะ
การปฏิบัติโดยสอดคล้องกับการตีความอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลของศาลถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคงที่มากขึ้นของรัฐบาลอินเดียกับฟิลิปปินส์และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดยืนของอินเดียแสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดในแถลงการณ์ร่วมกับฟิลิปปินส์ที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศอินเดียในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 หลังจากที่มีการหารือแบบทวิภาคีระหว่างนายซูบราห์มาเนียม ไจชานการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย และนายเอนริเก้ มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ในหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่ความมั่นคง การค้า ไปจนถึงอวกาศ แถลงการที่เผยแพร่ออกมาระบุถึง “การขยายขอบเขตความสัมพันธ์ของอินเดียและฟิลิปปินส์” และอธิบายถึงประเทศในอินโดแปซิฟิกทั้งสองประเทศนี้ว่าเป็นประเทศที่มีชีวิตชีวา เยาว์วัย และมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
แถลงการณ์ระบุว่า “นายไจชานการ์และมานาโลเน้น ย้ำถึงความสำคัญของการจำเป็นต้องมีการตัดสินข้อพิพาทอย่างสันติและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลและคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในปี 2559 ต่อทะเลจีนใต้ในกรณีนี้” จีนได้ปฏิเสธคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
นายชัมบู คูมารัน เอกอัครราชทูตอินเดียประจำฟิลิปปินส์ ได้กล่าวย้ำถึงจุดยืนของรัฐบาลอินเดียในวันที่ 12 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบคำวินิจฉัยชี้ขาดปีที่ 7
“ทุกประเทศมีภาระผูกพันในการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ แต่บางทีประเทศที่ใหญ่กว่าอาจมีภาระผูกพันในการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่า” นายคูมารันกล่าว
นายดอน แม็คเลน กิลล์ นักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในกรุงมะนิลา กล่าวว่า ในขณะที่อินเดียมีส่วนร่วมมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “แต่ในทางปฏิบัติแล้วอินเดียก็ยังคงระมัดระวังการยุแหย่โครงสร้างความมั่นคงในทะเลจีนใต้ในระดับสูง”
อินเดียไม่ได้ต้องการจะแสดงว่าตนกำลังเข้าไปก้าวก่ายกิจการระหว่างประเทศในภูมิภาค นายกิลล์กล่าวกับ ฟอรัม
นายกิลล์กล่าวว่ายังมีข้อกังวลอีกว่า “หากอินเดียตัดสินใจที่จะมีส่วนร่วมทางทหารมากขึ้นในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันนั้นก็อาจเกิดขึ้นได้กับทางฝั่งของอินเดีย โดยที่ทหารของจีนอาจจะเข้าไปมีบทบาทในมหาสมุทรอินเดีย”
“อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าอินเดียจะไม่ดำเนินการขยายขอบเขตการสนับสนุนของตนและการมีส่วนร่วมในเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์” นายกิลล์กล่าว
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอินเดียได้เสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนาม ความสัมพันธ์ของอินเดียกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้ยกระดับขึ้นอย่างเป็นทางการสู่ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมใน พ.ศ. 2565 และการฝึกซ้อมทางทะเลระหว่างอินเดียและอาเซียนก็จัดขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2566 นายกิลล์กล่าว
“รัฐบาลของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ยังคงแสดงออกถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของอินเดียในการมีบทบาทที่มากขึ้นและเป็นเชิงรุกมากขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนด้านความมั่นคงและการพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในแง่ของความร่วมมือด้านกลาโหม” นายกิลล์กล่าว
ฟิลิปปินส์ได้ซื้อขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงปราห์โมสของอินเดีย ซึ่งนำมาเสริมการป้องกันทะเลจีนใต้ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ รัฐบาลอินเดียยังได้เสนอวงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนความต้องการด้านกลาโหมของฟิลิปปินส์ และจะส่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารไปยังกรุงมะนิลาเพื่อเสริมความเข้มแข็งในความร่วมมือด้านความมั่นคง
รัฐบาลจีนได้กล่าวถึงการสนับสนุนของรัฐบาลอินเดียต่อคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 และการสนับสนุนรัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเป็น “ความพยายามในการทดสอบขีดจำกัดของจีน”
นายเฉียง เฟิง นักวิชาการที่สถาบันยุทธศาสตร์แห่งชาติของมหาวิทยาลัยซิงหัวของจีน บ่งชี้ในบทบรรณาธิการของไชน่ามิลิทารีออนไลน์ว่า จุดยืนของอินเดียในทะเลจีนใต้นั้นอันตราย
ภาพจาก: กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์