ยืนหยัด เพื่อต่อต้าน การขยายอำนาจครั้งใหม่ของจีน
นานาประเทศตอบสนองต่อการจัดลำดับความสำคัญเกี่ยวกับความกังวลด้านความมั่นคงของรัฐบาลจีน
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม | ภาพโดย รอยเตอร์
มีสัญญาณให้เห็นมากขึ้นว่าประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในอินโดแปซิฟิก มองว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง สิ่งที่บ่งชี้ถึงสัญญาณดังกล่าวได้แก่ แผนของญี่ปุ่นที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมขึ้นเป็นจำนวนมาก การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่วิพากษ์วิจารณ์การบีบบังคับของจีน และการที่ประเทศหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกสี่ประเทศเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดประจำปีของนาโตเป็นครั้งแรก
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ตลอดจนสถานการณ์อื่น ๆ เกิดขึ้นในขณะที่นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ได้ประกาศว่าจีนจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงเหนือสิ่งอื่นใด นายสีได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคงใน พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน และย้ำถึงบทบัญญัติของประเทศตนในระหว่างการประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยที่ขณะนั้น นายสีดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคครบวาระ 3 ปีเป็นสมัยที่สาม นโยบายความมั่นคงแห่งชาติที่ครบถ้วนนี้ครอบคลุมเกี่ยวกับการกำกับดูแลทั้ง 16 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงทางวัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงทางทหาร
“การแปลงสินทรัพย์ทุกอย่างให้กลายเป็นหลักทรัพย์อย่างค่อยเป็นค่อยไปคือสิ่งที่เรากำลังเห็นในประเทศจีน” นางสาวเฮเลนา เลการ์ดา หัวหน้านักวิเคราะห์จากสถาบันจีนศึกษา เมอร์คาทอร์ ในกรุงเบอร์ลิน กล่าวกับ ฟอรัม “รัฐบาลจีนมองมิติขอบเขตของนโยบายต่าง ๆ เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ หากสิ่งนั้นสามารถก่อให้เกิดความท้าทายต่อระบอบการปกครองและระบบการเมือง”
เป้าหมายของนโยบายซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการขับเคลื่อนจากการรับรู้ถึงภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอก ดูเหมือนจะเป็นการพึ่งพาตนเอง “รัฐบาลจีนกำลังเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในกรณีที่พวกเขาจำเป็นต้องตัดความสัมพันธ์กับประเทศทางตะวันตก” นางสาวเลการ์ดากล่าว
ปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไปต่อการรุกรานของจีนเกิดขึ้นในบรรดาประเทศที่มีความกังวลเกี่ยวกับการบีบบังคับ หลายประเทศมองว่าจีนเป็นหุ้นส่วนทางการค้าอันดับต้น ๆ หรือหลีกเลี่ยงที่จะเลือกข้างระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา “ประเทศเหล่านั้นพยายามที่จะระงับข้อพิพาทด้วยวิธีที่ดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็ควบคุมการขยายขอบเขตและพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับมหาอำนาจทั้งหมดในภูมิภาค” นางสาวเลการ์ดาระบุ
อย่างไรก็ตาม ในด้านต่าง ๆ เช่น การประมงเชิงพาณิชย์ อำนาจอธิปไตยในดินแดน และการแสดงอำนาจทางทหาร ก็ยังมีข้อกังวลให้เห็นอยู่ “การได้เห็นปฏิกิริยาของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในอินโดแปซิฟิก” นางสาวเลการ์ดาระบุ “ฉันคิดว่าเราเริ่มเห็นได้ถึงรูปแบบบางอย่าง”
ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศประชาธิปไตยและหุ้นส่วนทั้งหมดของสหรัฐฯ ในความร่วมมือด้านการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด มีความโดดเด่นยิ่งขึ้นในด้านการตอบสนองต่อการเสริมกำลังทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนที่กำลังเร่งดำเนินการนับตั้งแต่นายสี จิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจใน พ.ศ. 2555 “ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นจีนให้ความสำคัญกับอุดมการณ์มากกว่าแนวคิดปฏิบัตินิยม” นางสาวเลการ์ดาระบุ “จีนมีความยินดีที่จะยอมรับต้นทุนทางเศรษฐกิจหรือต้นทุนทางชื่อเสียงมากขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายทางยุทธศาสตร์และการเมืองที่ยิ่งใหญ่”
นายฟิลลิป ซี. ซอนเดอร์ส ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษากิจการทางทหารจีนแห่งมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศของสหรัฐฯ มองเห็นความย้อนแย้งในเรื่องนี้
“จีนมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ประเทศสมาชิกชิกควอดจะทำงานร่วมกันหรือรวมกันเป็นสถาบันมากขึ้น ดำเนินการมากขึ้นในด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค” นายซอนเดอร์สกล่าวกับ ฟอรัม “แต่กลับเป็นการกระทำของจีนเองที่ไปกระตุ้นการรับรู้ถึงภัยคุกคามของเหล่าสมาชิกควอดทั้งหมดในลักษณะที่ทำให้พวกเขาต้องเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคง… และอาจเป็นไปได้ว่าประเทศอื่น ๆ จะให้ความสนใจเข้าร่วมกับควอด หรืออาจเป็นในรูปแบบอื่นอย่าง ควอด-พลัส”
มีสองเหตุการณ์ที่เป็นต้นตอของการรับรู้ถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของจีน นายซอนเดอร์สระบุ ประการแรก คือ กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้พัฒนาขีดความสามารถให้มากขึ้นและมีความตั้งใจที่จะแสดงอำนาจมากขึ้น ดังที่เห็นในการส่งกำลังพลเรือบรรทุกเครื่องบินสองลำรอบไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะปกครองตนเองที่จีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตน ตลอดจนในทะเลจีนใต้ รวมถึงภารกิจการทิ้งระเบิดจำลองพิสัยไกลและการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ประการที่สอง คือ ปฏิกิริยาของจีนต่อการเดินทางเยือนไต้หวันของคณะผู้แทนสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งนำโดยนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น “จีนมีท่าทีไม่พอใจกับเรื่องนี้ และเลือกที่จะแสดงความรู้สึกดังกล่าวนั้นผ่านวิธีการทางทหาร” นายซอนเดอร์สระบุ “แน่นอนว่าท่าทีนี้ได้รับความสนใจจากไต้หวัน อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคดังกล่าวด้วยเช่นกัน” เพียงไม่กี่วันนับจากการเยือนครั้งนี้ กองทัพปลดปล่อยประชาชนก็ได้ดำเนินการฝึกซ้อมครั้งใหญ่โดยรอบไต้หวัน รวมถึงยิงขีปนาวุธให้ตกลงใกล้ท่าเรือของไต้หวันและในน่านน้ำภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของญี่ปุ่น ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการประท้วงทางการทูตต่อรัฐบาลจีน
นายเรย์มอนด์ คูโอ นักรัฐศาสตร์แห่งแรนด์ คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในสหรัฐฯ กล่าวว่า นานาชาติที่กังวลเกี่ยวกับกิจกรรมของจีนซึ่งทําลายเสถียรภาพ ได้หันไปพึ่งพาสหรัฐฯ ในตอนที่กำหนดวิธีการตอบสนองของตน “ความกระหายสงครามของจีนกำลังทำให้ประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปทางสหรัฐอเมริกา” นายคูโอกล่าวกับ ฟอรัม “สหรัฐฯ เริ่มที่จะสวมบทบาทผู้นำในการรวบรวมการตอบสนองต่อความท้าทายของจีนในระดับภูมิภาคและเป็นเอกภาพมากขึ้น”
นายคูโอกล่าวว่า ญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านการรุกรานของจีนอย่างแข็งแกร่งที่สุด รวมถึงในแถลงการณ์กับสหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2564 ได้ระบุเกี่ยวกับช่องแคบไต้หวันระหว่างจีนและไต้หวันซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าที่สำคัญสำหรับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ ว่าเป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงอันดับต้น ๆ ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์ร่วมฉบับแรกของพันธมิตรในรอบกว่าห้าทศวรรษ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้จัดตั้งกระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 เพื่อปกป้องห่วงโซ่อุปทาน โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีชั้นนำ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าและการจารกรรมทางเศรษฐกิจของจีน ตามบทความในอีสต์ เอเชีย ฟอรัม ที่เขียนโดย นายโทชิยะ ทาคาฮาชิ แห่งมหาวิทยาลัยโชอิน ประเทศญี่ปุ่น “กฎหมายดังกล่าวช่วยทำให้เกิดความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองประเทศเปิดกว้างต่อมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจต่อจีน” นายทาคาฮาชิระบุ
จีนได้วิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นว่าทำให้ภัยคุกคามด้านความมั่นคงของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นเผยแพร่สมุดปกขาวทางกลาโหมประจำปีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีการเน้นถึงผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย การข่มขู่ไต้หวันของจีน และห่วงโซ่อุปทานทางเทคโนโลยีที่ตกอยู่ในความเสี่ยง สมุดปกขาวดังกล่าวระบุว่า ญี่ปุ่นวางแผนที่จะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมและพัฒนาขีดความสามารถในการตอบโต้ จีนระบุว่า ในสมุดปกขาวนั้นมี “คำกล่าวหาและการป้ายสี” ต่อนโยบายกลาโหมของจีน และญี่ปุ่นพยายามที่จะ “หาข้ออ้างในการมีคลังแสงสรรพาวุธทางทหารที่แข็งแกร่ง”
รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลจีนปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติใน พ.ศ. 2515 และความรู้สึกที่ดีของญี่ปุ่นที่มีต่อจีนก็เพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดใน พ.ศ. 2523 เมื่อผลสำรวจของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 79 ของประชากรมีภาพจำที่ดีต่อจีน ตามรายงานของเดอะ ดิโพลแมต นิตยสารข่าวออนไลน์ ทว่าสี่ทศวรรษต่อมาใน พ.ศ. 2564 ผลสำรวจจากเอกชนระบุว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรญี่ปุ่นมีมุมมองในแง่ลบต่อจีน ตามรายงานของเดอะ ดิโพลแมต
ตัวอย่างอื่น ๆ ของการตอบโต้ต่อความก้าวร้าวของจีน มีดังนี้
เกาหลีใต้พยายามแสวงหาความร่วมมือจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมากขึ้น นับตั้งแต่ที่นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้รับการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 นายซอนเดอร์สระบุ ในระหว่างการหาเสียง นายยุนระบุว่าจีนได้กำหนดข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกาหลีใต้ต้องสูญเงินไปประมาณ 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท) เพื่อตอบโต้การที่รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้งานระบบป้องกันและต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ ที่รู้จักกันในชื่อ ระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูงใน พ.ศ. 2560 เพื่อป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ จากบทความในนิตยสารกระทรวงการต่างประเทศ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นายยุนซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี ได้เรียกร้องให้มี “การเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูง” กับจีน และยังชี้ให้เห็นว่าเขาจะไม่ยอมให้การที่เกาหลีใต้ต้องพึ่งพาการค้าจากจีนกลายมาเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขของความสัมพันธ์หรือนโยบายต่างประเทศในวงกว้างของเขา การตอบโต้ของจีนต่อระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของจีน “ได้ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อมุมมองที่ผู้คนมีต่อจีน รวมถึงมุมมองของรัฐบาลและทหารด้วยเช่นกัน” นายซอนเดอร์สกล่าว “แถลงการณ์จากเกาหลีใต้มีความตรงไปตรงมามากขึ้นเกี่ยวกับจุดประสงค์และขีดความสามารถทางทหารของจีน”
เวียดนามอาจแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านอย่างรุนแรงยิ่งต่อการบีบบังคับทางทะเลของจีน เมื่อเรือของกองทัพเรือของรัฐบาลเวียดนามกว่า 30 ลำแสดงตนท้าทายเรือสัญชาติจีน 160 ลำในระหว่างการเผชิญหน้ากันเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมันเพื่อการสำรวจของจีนในน่านน้ำที่เป็นกรณีพิพาทอย่างทะเลจีนใต้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายคูโอกล่าว ในเดือนสุดท้ายของการเผชิญหน้าดังกล่าวมีรายงานว่าเรือหลายร้อยลำถูกพุ่งชน ทั้งเหตุการณ์นี้และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี รวมถึงการขุดลอกและการทำสงครามเพื่อแนวปะการังเทียมและภูมิประเทศทางทะเลอื่น ๆ ของกองทัพปลดปล่อยประชาชน ทำให้เวียดนาม “ต้องหาทางดึงมหาอำนาจภายนอกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสร้างความสมดุลของสถานการณ์” นายซอนเดอร์สกล่าว ในสมุดปกขาวทางกลาโหมเมื่อ พ.ศ. 2562 เวียดนามได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการรุกรานของจีนที่ตนต้องเผชิญ ซึ่งได้แก่ “การบีบบังคับอยู่ฝ่ายเดียวโดยการใช้อำนาจ การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ การจัดกำลังทางทหาร การเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ ตลอดจนละเมิดอำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจศาล” เวียดนามได้ทำงานร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางทหารของประเทศ และหลีกเลี่ยงที่จะพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียและอิทธิพลของจีน ตามรายงานของวารสารกิจการอินโดแปซิฟิกของมหาวิทยาลัยกองทัพอากาศ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 นายซอนเดอร์สกล่าวว่า แม้จะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นและมีอุดมการณ์ร่วมกัน แต่ชาวเวียดนามได้แสดงให้เห็นว่า “ชาตินิยมถือเป็นพลังที่แข็งแกร่ง และก่อให้เกิดความคลางแคลงใจต่อจีน เวียดนามกำลังเล่นเกมที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมีองค์ประกอบทางการทูต การทหาร และเศรษฐกิจอยู่ในเกมดังกล่าว”
อินเดียและจีนต่อสู้ในสงครามชายแดนตั้งแต่ พ.ศ. 2505 และความตึงเครียดยังคงปะทุอยู่อย่างต่อเนื่อง หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ออฟอินเดียรายงานว่า การปะทะกันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย และมีบางรายงานที่ระบุว่ามีทหารจีนเสียชีวิตมากถึง 40 นาย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เจ้าหน้าที่ทางทหารของอินเดียระบุว่าจีนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงอันดับ 1 ของประเทศตน และให้คำมั่นว่าจะจัดการกับการบุกรุกบริเวณชายแดน ในฐานะที่เป็นประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อินเดียได้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารอย่างเป็นทางการ ทว่าก็ได้ดำเนินการฝึกร่วมกับสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าอินเดียและจีนจะเป็นสมาชิกของกลุ่มเศรษฐกิจ บริกส์ ร่วมกับบราซิล รัสเซีย และแอฟริกาใต้ แต่อินเดียที่อยู่ในฐานะสมาชิกควอด ก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อตำหนิจีน รวมถึงประณามการกระทำในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ที่มีความเกี่ยวข้องกับ “การจัดกำลังทางทหารของภูมิประเทศที่เป็นข้อพิพาท การใช้เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งและกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลที่เป็นอันตราย รวมถึงความพยายามที่จะขัดขวางกิจกรรมที่แสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรนอกชายฝั่งของประเทศอื่น ๆ” นายซอนเดอร์สอธิบายว่า นโยบายของอินเดียเป็น “หนึ่งในการป้องกันความเสี่ยงจากจีน แต่เมื่อความกังวลด้านความมั่นคงทวีความรุนแรงขึ้น อินเดียก็เต็มใจที่จะทำงานร่วมกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันความเสี่ยงนั้น”
ออสเตรเลียเข้าร่วมกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ในการเผยแพข้อตกลงหุ้นส่วนความมั่นคงสในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงที่จะช่วยให้ออสเตรเลียมีขีดความสามารถทางทหารขั้นสูง ตลอดจนในด้านเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดอาวุธตามแบบแผนเดิม หลังจากการประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 นายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ได้ระบุถึงการสนับสนุนหุ้นส่วนความมั่นคงอย่างชัดเจน และระบุว่าเขาไว้วางใจให้ออสเตรเลียมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค “ตราบเท่าที่อูกัสมีส่วนช่วยในการสร้างความมั่นคงในระดับภูมิภาค เราก็พร้อมสนับสนุน” นายบาลากริชนันกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน “เรารู้สึกสะดวกใจกับหุ้นส่วนทั้งสามประเทศภายในอูกัส เนื่องจากเรามีความสัมพันธ์อันดีกับแต่ละประเทศมาเป็นเวลานาน และเป็นเหตุผลที่ผมคิดว่าเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้”
ผู้นำกลาโหมใน พ.ศ. 2565 ยังเน้นย้ำถึงแผนการที่จะสับเปลี่ยนกองกำลังทางบก ทางทะเล และทางอากาศของสหรัฐฯ ไปยังออสเตรเลียท่ามกลางข้อกังวลที่มีร่วมกันเกี่ยวกับการแสดงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีน ในด้านอื่น ๆ ออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบต้นตอของโควิด-19 ในประเทศจีน รวมถึงกำหนดให้มีการสั่งห้ามเครือข่าย 5จี ในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารของจีนอย่างหัวเว่ย และสอบสวนชาวจีนภายใต้กฎหมายการแทรกแซงจากต่างประเทศฉบับใหม่ของรัฐบาลออสเตรเลีย จีนตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลีย เช่น ถ่านหิน อาหารทะเล และไวน์ นอกจากนี้ ออสเตรเลียได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดนาโตเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรด้านความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก ร่วมกับญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ของนาโต พ.ศ. 2565 ได้เจาะจงถึงจีนเป็นครั้งแรกว่าเป็นภัยคุกคามต่อค่านิยมและหลักการของพันธมิตร โดยได้ประณาม “นโยบายการบีบบังคับ” ของจีน และลงความเห็นว่าจีน “พยายามที่จะโค่นล้มระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา รวมถึงระเบียบทางอวกาศ ทางไซเบอร์ และทางทะเล” ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียและผู้นำจีนได้พูดคุยกันในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2559
นิวซีแลนด์ได้ตั้งคำถามถึงการรุกรานของจีน ในระหว่างการประชุมสุดยอดนาโตใน พ.ศ. 2565 นางเจซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในขณะนั้น ได้เรียกร้องให้มีการต่อต้านการขยายอำนาจของจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ซึ่งระบุว่าจีนเริ่ม “รุกรานรุนแรงยิ่งขึ้นและตั้งใจที่จะท้าทายกฎระเบียบและบรรทัดฐานระหว่างประเทศมากขึ้น” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ได้เข้าร่วมในแถลงการณ์ระหว่างประเทศมากกว่า 20 ฉบับ ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน รวมถึงการปราบปรามประชากรชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีนตะวันตกเฉียงเหนือ และการลดทอนสิทธิพลเมืองในฮ่องกง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ ดิ อีโคโนมิสต์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังเป็นหนึ่งใน 50 ประเทศ ซึ่งรวมไปถึงออสเตรเลียและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกของหมู่เกาะมาร์แชลล์ นาอูรู และปาเลา ที่ออกแถลงการณ์ร่วมในสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยประกาศว่าวิธีการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนนั้น “อาจถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
ประเทศในแถบบอลติก เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ได้ถอนตัวออกจากความร่วมมือด้านโครงการริเริ่มของรัฐบาลจีนระหว่างจีนกับประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเมื่อไม่นานมานี้ การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงแรงกดดันทางทหารของจีนต่อไต้หวันที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซียของรัฐบาลจีน ทั้ง ๆ ที่รัสเซียทำการรุกรานยูเครน การถอนตัวของลิทัวเนียเกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศเปิดสำนักงานการค้าของไต้หวันในเมืองวิลนีอุส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของลิทัวเนีย และในขณะเดียวกัน ประเทศดังกล่าวเปิดกว้างต่อนโยบายต่างประเทศที่ “ให้ความสำคัญกับค่านิยมเป็นอันดับหนึ่ง” โดยให้คำมั่นว่า “จะต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน และจะปกป้องผู้ที่กำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพทั่วโลก ตั้งแต่เบลารุสไปจนถึงไต้หวัน” จีนจึงตอบโต้กลับด้วยการสั่งห้ามสินค้าส่งออกจากประเทศในแถบบอลติก
สหภาพยุโรปรายงานว่า 30 ประเทศในอินโดแปซิฟิกได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อความร่วมมือในอินโดแปซิฟิก ณ กรุงปารีสในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ความมั่นคงทางทะเลและความมั่นคงทางไซเบอร์ถือเป็น “ความทะเยอทะยานร่วมกัน” ที่ได้นำมาพูดคุยกัน ซึ่งเป็นสองประเด็นที่จีนมีความขัดแย้งกับประเทศอื่น ๆ จีนมีข้อพิพาททางดินแดนกับประเทศต่าง ๆ มากกว่าสิบประเทศ รวมถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะต่าง ๆ และสิทธิในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้แฮกเกอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับจีนยังถูกกล่าวหาว่าได้ทำการโจมตีทางไซเบอร์ไปทั่วโลก ตามรายงานของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งรวมถึงการกำหนดเป้าหมายไปยัง “รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ… โดยใช้มัลแวร์ที่สร้างขึ้นเองซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน”
สหรัฐฯ กำลังตอบโต้ความก้าวร้าวของจีนด้วยวิธีการใหม่ ๆ โครงการริเริ่มด้านความมั่นคงทางทะเลในอินโดแปซิฟิกจะช่วยส่งเสริมขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลของกลุ่มประเทศในทะเลจีนใต้และประเทศทางเอเชียใต้ โครงการริเริ่มด้านการป้องปรามการทุจริตในแปซิฟิกมูลค่า 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) เจาะจงไปยังจีนและระบุว่า “การลงทุนและความพยายามอย่างมหาศาลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา นี้มุ่งเน้นไปยังภัยคุกคามดังกล่าวและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการป้องปรามในอินโดแปซิฟิก” ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ระบุถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากจีน และมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการริเริ่มต่าง ๆ รวมถึงพันธมิตรในสนธิสัญญาของสหรัฐฯ ทั้งห้าประเทศในภูมิภาค ตลอดจนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ควอด การสนับสนุนความเป็นผู้นำระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่องของอินเดีย และการขยายอำนาจทางการทูตของสหรัฐฯ นอกจากนี้ นายซอนเดอร์สยังได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดใหม่ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขายไมโครชิปให้แก่จีน และเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในวงกว้าง ข้อจำกัดก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปยังเทคโนโลยีที่อาจส่งเสริมขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของจีน “ในตอนนี้ เราไม่ต้องการให้จีนเป็นคู่แข่งที่ล้ำสมัยที่ดีพร้อมไปทุกด้าน เราไม่ต้องการให้จีนมีอุตสาหกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก” นายซอนเดอร์สระบุ สหรัฐฯ กำลังเรียกร้องให้ประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันปฏิบัติตามข้อจำกัดใหม่ รวมถึงเริ่มถอนเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานส่วนหนึ่งของตนออกจากจีน “เราจะหันไปพึ่งพาญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเฝ้าระวังการทำการค้ากับจีน” นายซอนเดอร์สกล่าว “และเราก็กำลังทำเช่นเดียวกันนี้กับยุโรป”
ในบรรดาหลายประเทศที่มีความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของจีน ได้แก่ สมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งกำลังเจรจากับรัฐบาลจีนเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้สำหรับการเดินเรือ การอ้างสิทธิทางอาณาเขต และประเด็นปัญหาอื่น ๆ นายคูโอ นักวิเคราะห์แห่งแรนด์ คอร์ปอเรชัน ระบุว่า การเจรจาดังกล่าวได้ดำเนินมากว่าทศวรรษแล้วและดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีความหวังว่าจะมีความคืบหน้าใด ๆ ท่ามกลางความติดขัดของการเจรจาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้: จีนยืนกรานที่จะทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์และเวียดนามแยกกันมากกว่าที่จะทำกับประเทศทั้งอาเซียนโดยรวม “หากอาเซียนสามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนได้อย่างแท้จริง” นายคูโอระบุ “อาเซียนก็จะมีอำนาจมากขึ้นและมีความสามารถในการกำหนดความเป็นไปของภูมิภาคได้มากขึ้น”
อย่างไรก็ตามนายซอนเดอร์สระบุว่า การเจรจาที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนี้ได้เผยให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของจีนที่ต้องการจำกัดเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของประเทศในอาเซียน เช่น จีนต้องการจำกัดความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียนในการฝึกซ้อมทางทหารกับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันด้วยความช่วยเหลือจากบริษัทต่างชาติ “จีนต้องการให้มีเพียงบริษัทในอาเซียนหรือบริษัทของจีนเท่านั้น” นายซอนเดอร์สระบุ “วิธีการในการเจรจาเช่นนี้เผยให้เห็นถึงสิ่งที่หลายประเทศหวาดกลัวได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการที่จีนพยายามครอบงำภูมิภาคดังกล่าว และควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นหรืออย่างน้อยก็มีอำนาจยับยั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้” แนวทางที่แข็งกร้าวนี้ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อจีนไปทั่วทั้งภูมิภาค การสำรวจเกี่ยวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำ พ.ศ. 2565 ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันไอเอสอีเอเอส ยูซอฟ อิสฮะก์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสิงคโปร์ พบว่าร้อยละ 64 ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศสมาชิกอาเซียน ยินดีที่จะรับอิทธิพลทางการเมืองและยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ และร้อยละ 53 เชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับสันติภาพ ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และการกำกับดูแลระดับโลก ในขณะที่ตัวเลขในประเด็นเดียวกันสำหรับจีนอยู่ที่ ร้อยละ 24 และร้อยละ 27