พื้นที่ยุทธศาสตร์ ในอินโดแปซิฟิก และ ระเบียบโลก
มุมมองใหม่เกี่ยวกับความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำ
ดร. อาร์นับ ดาส/ผู้บัญชาการ (เกษียณอายุราชการ) กองทัพเรืออินเดีย
ศูนย์กลางแห่งอำนาจโลกได้ย้ายมาอยู่ทางมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก พื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ในอินโดแปซิฟิกได้รับการยอมรับว่าเป็นยุทธบริเวณหลักของการปฏิสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิยุทธศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกกำลังส่งยุทโธปกรณ์มาประจำการในภูมิภาคดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพื่อรับประกันถึงการมีบทบาทและผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตนเอง อินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซียกำลังจะกลายเป็นกองกำลังหลักในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกันกับทางสหรัฐอเมริกา เราต้องตระหนักถึงความสำคัญของขอบเขตทางทะเลในกระบวนการสร้างระเบียบโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ
ภัยคุกคามภายใต้คลื่นน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้ถือเป็นด้านสำคัญของพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังพัฒนาเนื่องด้วยประเทศต่าง ๆ จัดหาเรือดำน้ำที่ทันสมัยกันมากขึ้น หุ้นส่วนด้านความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกจำเป็นต้องเข้าใจว่าเหตุใดความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนมีวิธีการปรับปรุงอย่างไรบ้างเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการด้านกลาโหม
เช่น เทคโนโลยีโซนาร์ที่พัฒนาขึ้นในช่วงสงครามเย็นสำหรับการเฝ้าระวังใต้น้ำไม่สามารถทำงานได้ในน่านน้ำเขตร้อนอย่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก หากไม่มีอัลกอริทึมในการประมวลผลสัญญาณเสียงที่กำหนดเอง การใช้ฮาร์ดแวร์เพื่อวางแผนลักษณะเฉพาะของพื้นที่ในน่านน้ำเขตร้อนก็จะไร้ประโยชน์ ในน่านน้ำอินโดแปซิฟิก ประสิทธิภาพของโซนาร์จะลดลงประมาณร้อยละ 60 ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดร้ายแรงที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างมาก
ความตระหนักรู้เท่าทันขอบเขต
น่านน้ำดังกล่าวมีทั้งโอกาสและความท้าทายหลายประการ ในน่านน้ำแห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาของภูมิภาคนี้มักจะไม่สามารถให้ความสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยและพัฒนาที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่สำหรับการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียงในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศยังขาดขีดความสามารถในการสำรวจและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากน่านน้ำของตนเอง ปัจจัยดังกล่าวทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องพึ่งพามหาอำนาจภายนอกเพื่อความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์และความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้ประเทศอื่นสามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ได้
ความไม่แน่นอนในภูมิภาคอาจส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจจากภายนอกภูมิภาคครอบงำประเทศเหล่านี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐกำลังดำเนินการในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยมักจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ข้อได้เปรียบที่ก่อกวนและไม่มีต้นแบบแน่นอนที่ผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐเหล่านี้ครอบครองอยู่ ถือเป็นข้อกังวลที่สำคัญของกองกำลังความมั่นคงในการตอบโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยวิธีการทั่วไป และข้อได้เปรียบดังกล่าวยิ่งทำให้ความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำมีความสำคัญมากขึ้น
การพัฒนาความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำในน่านน้ำเขตร้อนมีความซับซ้อน เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลจากการวัดเสียงในน้ำตื้น การวัดเสียงในน้ำตื้นเป็นวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียงในน่านน้ำเหล่านั้น ขั้นตอนแรกคือการสร้างแบบจำลองและการจำลองเพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับเสียงรบกวนใต้น้ำและพฤติกรรมของช่องทาง
สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการวิจัยด้านเรือดำน้ำ การวัดเสียงในน้ำตื้น และความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำมานานหลายทศวรรษ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2501 เรือดำน้ำ ยูเอสเอส นอติลุส ซึ่งเป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของโลก กลายเป็นเรือลำแรกที่เดินทางใต้น้ำผ่านขั้วโลกเหนือได้สำเร็จ
ก่อนหน้านั้น สถาบันสมุทรศาสตร์ สคริปส์ ได้บุกเบิกความพยายามด้านความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำ ซึ่งเปิดตัวใน พ.ศ. 2489 และได้รับอนุญาตจากกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในการระบุแหล่งที่อยู่ของกุ้งไกปืน สิ่งมีชีวิตดังกล่าวสามารถส่งเสียงได้ถึง 200 เดซิเบล ซึ่งดังกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวาฬสีน้ำเงินภายใต้สภาวะที่คล้ายคลึงกัน กุ้งไกปืนฝูงใหญ่ในบางพื้นที่ของพื้นใต้ทะเลอาจรบกวนการสื่อสารและการวิจัยใต้น้ำได้ การศึกษาของสคริปส์เผยให้เห็นว่ากุ้งไกปืนพบได้ชุกชุมในน่านน้ำเขตร้อน และมีรูปแบบการเปล่งเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งสามารถส่งเสียงกลบทับความถี่ที่เรือดำน้ำนิวเคลียร์ใช้ในการนำทางและการเฝ้าระวังด้วยโซนาร์
ใน พ.ศ. 2531 มีหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวในระหว่างการฝึกซ้อมครั้งแรกของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นอกเมืองวิศาขาปัฏฏนัม ประเทศอินเดีย เมื่อเรือดำน้ำลงไปใต้น้ำ หน้าจอโซนาร์ทั้งหมดก็ดับลง แม้ว่าลูกเรือจะระเบิดสัญญาณเพื่อแก้ไขสถานการณ์แล้วก็ตาม มีเหตุผลเพียงพอที่จะระบุว่าปัญหานี้เกิดจากกุ้งไกปืน การที่เรือดำน้ำในอินโดแปซิฟิกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้มีการพิจารณาแง่มุมนี้ของความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำอย่างจริงจัง
หนทางข้างหน้า
จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อวางแผนการใช้งานเรือดำน้ำอย่างเหมาะสม การจัดทำแผนที่แหล่งที่อยู่ รวมถึงการจัดทำแผนที่ทัศนียภาพของเสียงเป็นเป้าหมายสำคัญในอนาคต ในน่านน้ำรอบ ๆ อนุทวีปอินเดียเพียงแห่งเดียวก็มีกุ้งไกปืนถึง 14 สายพันธุ์ย่อย โดยที่แต่ละสายพันธุ์มีการเปล่งเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงมีความแตกต่างในด้านระบบนิเวศและวงจรชีวิต ซึ่งจะต้องได้รับการวิจัยและพัฒนาที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่อย่างมาก โดยต้องมีข้อสรุปที่ได้รับการทดสอบภาคสนามซ้ำหลายครั้ง
ใน พ.ศ. 2543 การฝึกซ้อมการวัดเสียงในน้ำตื้นเป็นเวลาสามปี หรือที่รู้จักกันในชื่อการทดลองเกี่ยวกับเสียงระดับนานาชาติในทะเลเอเชีย ได้เริ่มต้นขึ้นในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ชุมชนยุทธศาสตร์ทางทะเลตระหนักว่าจีนได้พัฒนาขีดความสามารถทางทะเลอย่างมีนัยสำคัญ และความตระหนักในขอบเขตใต้น้ำเองก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเตรียมพร้อมกองกำลังสำหรับการส่งกำลังที่อาจเกิดขึ้น สำนักงานวิจัยแห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ได้มอบเงินทุนสำหรับการทดลองเกี่ยวกับเสียงระดับนานาชาติในทะเลเอเชีย โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย 6 แห่งในสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในการพัฒนาแบบจำลองและระบุพื้นที่ทดลองเพื่อความถูกต้องในช่วงระยะแรก ในระยะที่สอง เกือบ 20 สถาบันจากจีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม แม้จีนตระหนักถึงข้อกังวลของสหรัฐฯ แต่ก็ได้ดำเนินการโครงการริเริ่มด้านความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำของตนเองต่อไป
การสร้างกรอบความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำ
ระเบียบโลกแบบร่วมสมัยจำเป็นต้องเป็นไปตามบริบทสถานการณ์ปัจจุบันก่อนที่พันธมิตรและฝ่ายต่าง ๆ จะสามารถทำความเข้าใจความเกี่ยวข้องของกรอบความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำโดยสมบูรณ์และพยายามที่จะก้าวไปข้างหน้า
การเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด ที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 มีผู้นำจากออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มาประชุมร่วมกัน ในขณะที่ประชาคมโลกกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายแง่มุม ผลกระทบอันเนื่องมาจากภาวะการระบาดใหญ่ ตลอดจนการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกลไกเศรษฐกิจโลก การประชุมสุดยอดควอดจัดขึ้นพร้อมกันกับการประชุมของสภาเศรษฐกิจโลกในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้นำระดับโลกอีกกลุ่มหนึ่งได้พบปะกันเพื่อหารือในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ: นโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ”
การประชุมสุดยอดควอดได้ออกประกาศสำคัญสองฉบับเพื่อสนับสนุนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ฉบับแรกระบุว่า ความร่วมมือด้านขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลจะทำให้เกิดกระแสข้อมูลใหม่ ๆ จากดาวเทียมเชิงพาณิชย์ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค ฉบับที่สองระบุว่า ควอดได้เปิดตัวกรอบแนวคิดทางเศรษฐกิจในอินโดแปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจจาก 12 ประเทศที่นำโดยสหรัฐฯ ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก นอกเหนือจากหัวข้อภาษีและมาตรการป้องกันการทุจริตแล้ว กรอบแนวคิดทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังครอบคลุมสี่เสาหลัก ซึ่งได้แก่ การค้า ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย แถลงการณ์ร่วมระบุว่า กรอบแนวคิดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ยกระดับความยืดหยุ่น ความยั่งยืน ความครอบคลุม การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรม และความสามารถในการแข่งขัน” ในทางเศรษฐกิจ
หลายคนถือว่าการประกาศเกี่ยวกับขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลนี้เป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มเข้ามาในวาระการประชุมของควอด อีกทั้งยังเป็นโครงการริเริ่มที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากที่สุดในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ประกาศดังกล่าวยังตอบสนองต่อความปรารถนาของพันธมิตรส่วนใหญ่ในภูมิภาคสำหรับควอดในการจัดหาสินค้าสาธารณะ และตอบสนองต่อความต้องการของประเทศขนาดเล็กกว่าในพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ในอินโดแปซิฟิก หากควอดสามารถใช้ความร่วมมือด้านขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลนี้ได้อย่างเหมาะสม สิ่งนี้ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนเกมสำหรับทั้งภูมิภาคและแสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงสำหรับทุกประเทศ
การพัฒนาการติดตาม
ระบบดั้งเดิมสำหรับการตรวจสอบกิจกรรมทางทะเล ได้แก่ เรดาร์ชายฝั่งและการลาดตระเวนทางอากาศและบนผิวน้ำ ระบบระบุตัวตนอัตโนมัติที่มีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เพื่อตรวจสอบปริมาณการขนส่งทางเรือขนาดใหญ่ในน่านน้ำระหว่างประเทศ และการใช้ระบบติดตามเรือตามข้อบังคับของเรือประมงที่ได้รับอนุญาตในบางประเทศ ทำให้สามารถดำเนินการติดตามได้โดยมีการระบุข้อมูล ตำแหน่ง เส้นทาง และความเร็วไปยังเรือและสถานีรับใกล้เคียงทั้งบนบกและในอวกาศ
อย่างไรก็ตาม ความครอบคลุมของระบบระบุตัวตนอัตโนมัติและระบบติดตามเรือนั้นครอบคลุมเพียงบางพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากกรอบของกฎหมายในหลายพื้นที่ในมหาสมุทรยังไม่ได้สั่งให้มีการติดตั้งระบบดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีความพยายามอย่างมากที่จะบ่อนทำลายการปฏิบัติการดังกล่าวโดยผู้มีบทบาทด้านการทำประมงผิดกฎหมายและกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ ดังนั้น หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลจึงต้องพึ่งพาเรดาร์ชายฝั่งและการลาดตระเวนทางอากาศและผิวน้ำซึ่งมีระยะที่จำกัดอยู่ ช่องรับส่งผ่านสัญญาณของระบบระบุตัวตนอัตโนมัติภาคพื้นดินแบบดั้งเดิมและระบบติดตามเรือมีข้อจำกัดเดียวกัน เรดาร์ชายฝั่งและระบบระบุตัวตนอัตโนมัติ/ระบบติดตามเรือภาคพื้นดินทำงานหนักเกินไปและมีจำนวนน้อยเกินไปที่จะตอบโต้จำนวนของกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในอินโดแปซิฟิก
ระบบระบุตัวตนอัตโนมัติ/ระบบติดตามเรือที่ใช้ดาวเทียมถือเป็นทางเลือกที่ดีที่จะครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรขนาดใหญ่ แต่ยังไม่มีใช้งานในวงกว้าง ระบบดาวเทียมมีเซ็นเซอร์เรดาร์ช่องรับสัญญาณแบบไฟฟ้าและแบบสังเคราะห์สำหรับการถ่ายภาพพื้นผิวโลก การเปลี่ยนจากดาวเทียมขนาดใหญ่ในวงโคจรพ้องคาบโลกไปเป็นกลุ่มดาวของดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรระดับต่ำของโลกได้ช่วยลดต้นทุนของข้อมูลดาวเทียมลง อย่างไรก็ตาม ขนาดของข้อมูลการตรวจจับระยะไกลในอวกาศที่จำเป็นในการตรวจสอบเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในอินโดแปซิฟิก
ดาวเทียมสำหรับการถ่ายภาพจำเป็นต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างความละเอียดและช่องรับสัญญาณ: ความถี่ที่ต่ำกว่าจะมีระยะที่ดีกว่า แต่ให้ความละเอียดที่แย่กว่า และความถี่ที่สูงกว่าจะมีระยะที่แย่กว่า แต่ให้ความละเอียดที่ดีกว่า ดังนั้น ระบบไฮบริดจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่ามีการครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่โดยเซ็นเซอร์หรือเรดาร์แบบไฟฟ้าที่มีความละเอียดต่ำ ในขณะที่จัดทำแผนที่ของพื้นที่ขนาดเล็กโดยการใช้กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง
ในแง่ของการวิเคราะห์ ระบบอัตโนมัติและการเรียนรู้ของเครื่องจักรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการระบุพฤติกรรมที่น่าสงสัยตามเวลาจริงจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ขอบเขตของความท้าทายมีตั้งแต่กรอบแนวคิดด้านกฎระเบียบที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละประเทศ ข้อจำกัดด้านศักยภาพและขีดความสามารถ ข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การขาดความร่วมมืออย่างราบรื่นในภูมิภาค รวมถึงการขาดการวิจัยและพัฒนาที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่
ฮอว์กอาย 360 ที่ตั้งอยู่ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ชั้นนำ และสมาชิกควอดได้วางแผนที่จะซื้อและแบ่งปันข้อมูลนี้กับหุ้นส่วนทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก นอกจากนี้ ควอดยังจะอำนวยความสะดวกในการประมวลผลข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูลผ่านช่องทางที่มีอยู่ตามเวลาจริง
หน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูลที่ดำเนินงานอยู่ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในปัจจุบัน ได้แก่
- แพลตฟอร์มซีวิชชันของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา
- ศูนย์บูรณาการข้อมูลข่าวสารประจำมหาสมุทรอินเดียของอินเดีย
- ศูนย์บูรณาการข้อมูลข่าวสารประจำสิงคโปร์
- ศูนย์บูรณาการแปซิฟิกที่ได้รับการสนับสนุนจากออสเตรเลีย
ในวานูอาตู - ศูนย์เฝ้าระวังการประมงของหน่วยงานประมงการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกในหมู่เกาะโซโลมอน
ความพร้อมใช้งานของข้อมูลที่มีคุณภาพสูงสำหรับ
ศูนย์เหล่านี้จะช่วยยกระดับโครงการริเริ่มด้านขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลในภูมิภาคดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ข้อตกลงด้านความมั่นคที่ลงนามโดยออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 นั้นจะช่วยสนับสนุนเกี่ยวกับจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดอาวุธตามแบบแผนเดิมของรัฐบาลออสเตรเลีย ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงขีดความสามารถใต้ทะเล กองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จำเป็นต้องมีความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำในระดับสูง ซึ่งทำให้การฝึกซ้อมการวัดเสียงในน้ำตื้นครั้งใหญ่นั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินการวิจัยเป็นจำนวนมากในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียเพื่อยกระดับความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากกว่าฝรั่งเศส อินเดีย และสหรัฐฯ รวมกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เรือสัญชาติจีนได้ปฏิบัติภารกิจหลายสิบครั้งเพื่อสำรวจน่านน้ำลึกของอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ และน่านน้ำทางตะวันตกของอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของเรือดำน้ำที่สำคัญสำหรับออสเตรเลียและอินเดีย
ศูนย์วิจัยทางทะเลในเมืองปูเน ประเทศอินเดีย ร่วมกับบริษัทเนียร์ ดวานี เทคโนโลยี จำกัด (เอกชน) ได้เสนอกรอบความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำที่ส่งเสริมการ รวมทรัพยากรและประสานความพยายามจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านความมั่นคงทางทะเล เศรษฐกิจสีน้ำเงิน การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ รวมถึงชุมชนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แม้แต่ประเทศที่มีความหลากหลายทางภูมิรัฐศาสตร์ก็สามารถทำงานร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติได้ ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้น (ดูภาพประกอบด้านบน)
อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดหลักในน่านน้ำเขตร้อนของอินโดแปซิฟิกจะยังคงเป็นการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านเสียง หากไม่มีโซนาร์ที่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่มีวิธีแก้ปัญหาใดที่ใช้การได้ กรอบความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำที่วางแผนไว้สามารถจัดการกับความท้าทายระดับโลกมากมาย ด้วยแรงกระตุ้นที่เหมาะสม
ระเบียบโลกเรียกร้องให้ความมั่นคงและการเติบโตดำเนินไปอย่างราบรื่น ความท้าทายและโอกาสที่เกิดขึ้นในน่านน้ำเขตร้อนของอินโดแปซิฟิกจะได้รับการแก้ไขอย่างครอบคลุมด้วยการดำเนินการตามกรอบความตระหนักรู้ในขอบเขตใต้น้ำ เว ทีแลกเปลี่ยนความเห็นของพันธมิตร เช่น สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และ ควอด จะต้องจัดลำดับความสำคัญและกำหนดกรอบการทำงานในวาระการประชุมของแต่ละการประชุม