ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดทรัพยากรส่วนรวมของโลกเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

นัยสำคัญของ การปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชน

การประเมินผลกระทบของการยกระดับกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนต่อดุลอำนาจในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

บทบาทที่เพิ่มขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่แข็งกร้าวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและการแสวงหาขีดความสามารถทางทหารขนาดใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนสร้างความท้าทายต่อระเบียบความมั่นคงระหว่างประเทศทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกและที่อื่น ๆ บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าว การปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนอาจมีนัยสำคัญทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบต่อทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และวิสัยทัศน์ของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างที่สหรัฐฯ พร้อมทั้งหุ้นส่วนและพันธมิตรมีร่วมกัน

เส้นทางของกองทัพปลดปล่อยประชาชนสู่กองกำลังที่โดดเด่นมากขึ้น ซึ่งระบุไว้ในแผนการ 5 ปีฉบับที่ 14 ของจีนที่ครอบคลุมระหว่าง พ.ศ. 2564 – 2568 ได้กระตุ้นให้กองทัพประเทศต่าง ๆ ประเมินผลกระทบและปรับยุทธศาสตร์และงบประมาณด้านกลาโหมของประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อกองทัพปลดปล่อยประชาชนพัฒนาขึ้น

“ในทศวรรษที่ชี้ขาดนี้ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจรูปแบบการทำสงครามของกองทัพปลดปล่อยประชาชน สำรวจกิจกรรมและขีดความสามารถในปัจจุบัน และประเมินเป้าหมายการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยในอนาคต” ตามรายงานประจำ พ.ศ. 2565 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “การพัฒนาทางทหารและความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน”

ในระหว่างการประชุมพรรคครั้งที่ 19 ใน พ.ศ. 2560 นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ได้ประกาศลำดับเหตุการณ์การปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเพื่อยกระดับความพร้อมรบ กองทัพปลดปล่อยประชาชนเรียกร้องให้มีการเร่งการพัฒนาเครื่องจักรกลแบบบูรณาการ (อาวุธและยานพาหนะ) สารสนเทศ (สงครามข้อมูล) และการสร้างระบบอัจฉริยะ (การใช้ความเร็วและพลังการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ในการวางแผนทางทหาร) ภายใน พ.ศ. 2570 ลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวยังมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงความทันสมัยของทฤษฎีทางทหาร โครงสร้างองค์กร บุคลากรทางทหาร อาวุธ และยุทโธปกรณ์ อย่างรอบด้านควบคู่ไปกับการปรับปรุงความทันสมัยของประเทศ อีกทั้งยังมีแผนที่จะยกระดับความทันสมัยของภาคกลาโหมและการทหารให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2578 โดยมีเป้าหมายเพื่อ เปลี่ยนกองทัพปลดปล่อยประชาชนให้เป็นกองทัพระดับโลกภายใน พ.ศ. 2592 ทฤษฎีชี้นำทางการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนแสดงถึงความคิดเชิงระบบเกี่ยวกับการทำสงครามและการป้องกันประเทศ โดยผสมผสานแนวคิดของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน อาทิ นายเหมา เจ๋อตง, นายเติ้ง เสี่ยวผิง, นายเจียง เจ๋อหมิน นายหู จิ่นเทา และนายสี ผู้นำคนปัจจุบัน ตามรายงานของแรนด์ คอร์ปอเรชัน ในหัวข้อ “แนวคิดปฏิบัติการกองทัพปลดปล่อยประชาชน”

ผู้เข้าร่วมทางทหารออกจากพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่ 20 ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งนายสีได้ให้คำมั่นว่าจะ “ทำงานให้เร็วขึ้น” เพื่อปรับปรุงความทันสมัยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เป้าหมาย พ.ศ. 2570 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนสอดคล้องกับวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชน สื่อจีนที่อ้างอิงแหล่งข่าวทางทหาร “เชื่อมโยงเป้าหมาย พ.ศ. 2570 ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการตอบโต้กองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และบังคับให้ผู้นำไต้หวันเข้าร่วมโต๊ะเจรจาตามเงื่อนไขของรัฐบาลจีน” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหม โดยพื้นฐานแล้ว นายสีต้องการให้กองทัพเข้าประจำตำแหน่งและเตรียมพร้อมที่จะบุกไต้หวันภายใน พ.ศ. 2570 “แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาตัดสินใจที่จะบุกใน พ.ศ. 2570 หรือปีอื่น ๆ เช่นกัน” นายวิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการซีไอเอ กล่าวกับเฟซเดอะเนชั่น ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ช่องซีบีเอส ในระหว่างการสัมภาษณ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

“ทั้งหมดเพื่อขีดความสามารถ ไม่ใช่เจตนาในการโจมตีหรือยึดครอง” พล.อ. มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ กล่าวกับคณะกรรมาธิการการจัดสรรงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 “การประเมินของผมคือการประเมินปฏิบัติการ พวกเขามีเจตนาที่จะโจมตีหรือยึดครองในระยะเวลาอันใกล้ที่กำหนดไว้ในปีหรือ 2 ปีข้างหน้าหรือไม่ การประเมินจากสิ่งที่ผมเห็นตอนนี้คือ ไม่ แต่นั่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ความตั้งใจเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว”

รัฐบาลจีนจัดสรรงบประมาณ 2.296 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.98 ล้านล้านบาท) สำหรับงบประมาณกลาโหมใน พ.ศ. 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่
2.022 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7 ล้านล้านบาท) ตามรายงานของโครงการไชน่าเพาเวอร์ที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ไชน่าเพาเวอร์ตั้งข้อสังเกตว่า การระดมทุนใน พ.ศ. 2565 ถือเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่อัตราการเติบโตของงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน

“ปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนได้กำหนดให้ พ.ศ. 2570 เป็นเป้าหมายสำหรับกองทัพปลดปล่อยประชาชนเพื่อส่งมอบขีดความสามารถที่จำเป็นในการตอบโต้กองทัพสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิกและขยายอำนาจทั่วโลก” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าวต่อคณะกรรมาธิการทางทหารของสภาสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 การประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนได้กำหนดวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นไปที่การเร่งดำเนินการตามเป้าหมายการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการยกระดับ ‘ระบบการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์’ ในแผนการ 5 ปีฉบับที่ 14 รัฐบาลจีนได้ยกระดับกลยุทธ์ระดับชาติหลายด้านที่ดำเนินการอยู่แล้วขึ้นเป็น 2 เท่าเพื่อให้แน่ใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนบรรลุตำแหน่งที่โดดเด่นทั่วโลกในด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่ ซึ่งจีนเชื่อว่าจำเป็นสำหรับปฏิบัติการทางทหารสมัยใหม่ที่ซับซ้อน จีนเดินหน้ากำหนดเป้าหมายไปที่เทคโนโลยีและบุคลากรทั่วโลกเพื่อรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายในการแสวงหาขีดความสามารถทางทหารขั้นสูง”

งบประมาณทางทหารเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค

ประเทศต่าง ๆ ได้จัดสรรเงินมากขึ้นสำหรับกองทัพทั่วทั้งภูมิภาค สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้ใช้จ่ายรายใหญ่ที่สุด โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติได้อนุมัติงบประมาณด้านกลาโหมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เกือบ 8.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.98 สิบล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าที่ฝ่ายบริหารของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยื่นขอถึง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.56 แสนล้านบาท) โดยยอดรวมคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 จากงบประมาณด้านกลาโหมของประเทศใน พ.ศ. 2565

“ปัจจุบัน เมื่อประชาธิปไตยทั่วโลกถูกโจมตีและระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกากำลังถูกคุกคามยิ่งกว่าที่เคย เราจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ด้านความมั่นคงและกลาโหมที่เข้มแข็ง และร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนั้น” นายอดัม สมิธ ผู้แทนสหรัฐฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทางทหาร ณ ขณะนั้น กล่าวในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565

สหรัฐฯ มีงบประมาณด้านการทหารมากที่สุดในโลกใน พ.ศ. 2564 ตามมาด้วยจีน อินเดีย สหราชอาณาจักร และรัสเซีย ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม นอกจากนี้ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อยู่ในอันดับต้น ๆ ในกลุ่มผู้ใช้จ่ายด้านกลาโหม

งบประมาณกลาโหมของอินเดียอยู่ที่ 7.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท) ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะอีโคโนมิคไทม์ส อินเดียให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหมผ่านการพัฒนาภายในประเทศและการเป็นพันธมิตร อินเดียประกาศในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ว่าจะใช้จ่ายเงิน 522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท) สำหรับขีปนาวุธ การป้องกันภัยทางอากาศ และอาวุธทางเรือ ตามรายงานของนิตยสารดีเฟนส์นิวส์

ยุทโธปกรณ์ที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งจัดซื้อมาจากบริษัทในประเทศเท่านั้น ประกอบไปด้วยขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านรถถัง เฮลินา, ระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้สำหรับกองทัพ, เครื่องยิงขีปนาวุธ บราห์มอส และระบบควบคุมการยิงสำหรับเรือของกองทัพเรือ ตามรายงานของดีเฟนส์นิวส์ อินเดียอ้างว่าการปะทะกันที่ชายแดนอย่างต่อเนื่องกับกองกำลังจีนเป็นเหตุผลในการปรับปรุงการป้องกันทางอากาศให้ดียิ่งขึ้น

ออสเตรเลียเพิ่มงบประมาณกลาโหมขึ้นร้อยละ 8 สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศถึงร้อยละ 2 ในช่วงกลาง พ.ศ. 2569 ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นช่วยให้ออสเตรเลียสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก และเพื่อตอบโต้ความพยายามของจีนในการได้มาซึ่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในแปซิฟิก ตามรายงานของรอยเตอร์

นักวิเคราะห์แนะนำว่างบประมาณกลาโหมของออสเตรเลียส่วนใหญ่จะใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเรือเดินทะเลและเรือดำน้ำควบคู่ไปกับการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ การปรับปรุงขีดความสามารถให้ทันสมัย และการยกระดับกองทัพเรือ

“การปรับปรุงความทันสมัยทางทหารอย่างรวดเร็วและการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศต่าง ๆ เช่น รัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ คาดว่าจะสร้างความท้าทายเชิงกลยุทธ์สำหรับออสเตรเลีย” นายอาคาช ประทิม เดบบาร์มา นักวิเคราะห์ด้านอวกาศยานและกลาโหมที่โกลบอลดาต้า กล่าวกับเว็บไซต์อาร์มีเทคโนโลยี “ในฐานะประเทศที่เป็นหมู่เกาะ การปรับปรุงขีดความสามารถทางเรือให้ทันสมัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับออสเตรเลีย”

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเดินขบวนผ่านรถถังแบบ 15 ที่นิทรรศการ ณ กรุงปักกิ่งในชื่อ “ก้าวสู่ยุคใหม่” ซึ่งจัดแสดงความสำเร็จระดับชาติก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่ 20 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ประกาศงบประมาณกลาโหม พ.ศ. 2566 ที่ 4.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.46 ล้านล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จาก พ.ศ. 2565 ตามข้อมูลอ้างอิงจากเจนส์ เว็บไซต์วิเคราะห์ข่าวกรอง เกาหลีใต้ระบุสาเหตุของการเพิ่มงบประมาณว่ามาจาก “สถานการณ์ความมั่นคงที่รุนแรง” บนคาบสมุทรเกาหลี โดยอ้างถึงโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ทำลายล้าง นอกเหนือจากการปรับปรุงความทันสมัยแล้ว กองทัพสาธารณรัฐเกาหลีจะใช้จ่ายมากขึ้นในการยกระดับขีดความสามารถในปฏิบัติการตอบโต้ การจัดหากระสุนสำรองในการรบ และพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ตามรายงานของเจนส์

ญี่ปุ่นร่างงบประมาณด้านกลาโหมที่มากเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการใช้จ่ายเป็นสองเท่าเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายใน พ.ศ. 2570 รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างถึงความท้าทายด้านความมั่นคงจากเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย ว่าเป็นแรงผลักดันให้เพิ่มงบประมาณขึ้นร้อยละ 20 เป็นมูลค่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกลาโหม เรือป้องกันทางทะเล และเรืออื่น ๆ

“น่าเสียดายที่ในบริเวณใกล้เคียงกับประเทศของเรา มีประเทศที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเพิ่มศักยภาพของนิวเคลียร์ การเสริมกำลังทางทหารอย่างรวดเร็ว และความพยายามฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่โดยใช้กำลัง” นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ตามรายงานของบีบีซี นายคิชิดะกล่าวว่าญี่ปุ่นจะใช้เงิน 3.325 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.15 สิบล้านล้านบาท) ในอีก 5 ปีข้างหน้า “เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมของเราโดยพื้นฐาน”

รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าจีนเป็นความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ไต้หวันยังจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายทางทหารมากเป็นประวัติการณ์ โดยจัดสรรเงิน 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท) สำหรับการป้องกันประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก พ.ศ. 2565 ตามรายงานของนิตยสารไทม์ ไต้หวันกำลังดำเนินการปฏิรูปกองทัพเชิงสถาบัน และขยายเวลารับราชการทหารภาคบังคับสำหรับผู้ชายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจาก 4 เดือนเป็น 1 ปี เพื่อยกระดับความพร้อมรับมือ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 และอาจเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์ในกองทัพไต้หวันได้ถึง 70,000 คนต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 165,000 คน ตามรายงานจากรอยเตอร์

“ไต้หวันอยู่ในแนวหน้าของการขยายอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นแนวทางในการปกป้องประชาธิปไตยทั่วโลก” นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน กล่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 “เราจะหลีกเลี่ยงหรือหยุดสงครามได้ก็ต่อเมื่อเรามีการเตรียมความพร้อมและมีความสามารถในการต่อสู้ในสงครามเท่านั้น”

งบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.47 แสนล้านบาท) ในส่วนของความช่วยเหลือด้านความมั่นคงสำหรับไต้หวันและการจัดหาอาวุธอย่างเร่งด่วนสำหรับเกาะที่ปกครองตนเองแห่งนี้

กองทัพ ขีดความสามารถ และการคาดการณ์อำนาจของจีน

กองทัพปลดปล่อยประชาชนพยายามปรับปรุงขีดความสามารถของตนให้ทันสมัยและยกระดับความสามารถในทุกขอบเขตเพื่อปฏิบัติการทางบก ทางอากาศ ทางทะเล นิวเคลียร์ อวกาศ ต่อต้านอวกาศ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ และพื้นที่ไซเบอร์

เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16วี ของกองทัพอากาศไต้หวันขึ้นบินในระหว่างการฝึกซ้อมเตรียมความพร้อมท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน รอยเตอร์

“กองทัพปลดปล่อยประชาชนกำลังพัฒนาขีดความสามารถอย่างจริงจังเพื่อมอบทางเลือกแก่จีนในการขัดขวาง ยับยั้ง หรือเอาชนะการแทรกแซงของบุคคลที่สามในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก หากได้รับคำสั่ง” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหม “กองทัพปลดปล่อยประชาชนกำลังพัฒนาขีดความสามารถในปฏิบัติการทางทหารทั้งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตลอดจนทั่วโลกในบางกรณี”

นี่คือภาพรวมกำลังพลของกองทัพปลดปล่อยประชาชนตามรายงานประจำปีของกระทรวงกลาโหม หรือที่เรียกว่า “รายงานกำลังทางทหารของจีน”

กองทัพบกของกองทัพปลดปล่อยประชาชนมีบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยรบประมาณ 975,000 นายและเป็นกองกำลังหลักในการต่อสู้ภาคพื้นดินของกองทัพ ใน พ.ศ. 2564 กองทัพปลดปล่อยประชาชนเน้นการฝึกที่สมจริงและได้มาตรฐาน

กองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนมีเรือและเรือดำน้ำประมาณ 340 ลำ รวมถึงเรือรบผิวน้ำที่สำคัญ 125 ลำ ตามตัวเลขแล้ว กองทัพปลดปล่อยประชาชนมีกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กองทัพอากาศและกองบินทหารเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนรวมกันเป็นกองกำลังการบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและใหญ่เป็นอันดับสามของโลก กองกำลังร่วมนี้มีเครื่องบินมากกว่า 2,800 ลำ ไม่รวมเครื่องบินฝึกและระบบอากาศไร้คนขับ กองทัพอากาศของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเผยโฉมเครื่องบินทิ้งระเบิดลำแรกที่สามารถเติมเชื้อเพลิงจากอากาศสู่อากาศได้ใน พ.ศ. 2562

กองกำลังจรวดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนดำเนินการ ติดตั้ง และฝึกฝนกองกำลังขีปนาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธทั่วไปเชิงยุทธศาสตร์ภาคพื้นดินของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ตลอดจนกองกำลังสนับสนุนที่เกี่ยวข้องและฐานขีปนาวุธ ใน พ.ศ. 2564 กองกำลังจรวดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนยิงขีปนาวุธทิ้งตัว 135 ลูกเพื่อการทดสอบและฝึกอบรม ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกรวมกัน

กองกำลังสนับสนุนเชิงกลยุทธ์เป็นองค์กรระดับกองบัญชาการยุทธบริเวณที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมศูนย์ยุทธศาสตร์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชน พื้นที่ไซเบอร์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสาร ตลอดจนภารกิจและขีดความสามารถของสงครามจิตวิทยา

กองกำลังลําเลียงสนับสนุนร่วมพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์เชิงกลยุทธ์และระดับแคมเปญผ่านการฝึกอบรมและการบูรณาการผลิตภัณฑ์และบริการของพลเรือน นอกจากนี้ กองกำลังลําเลียงสนับสนุนร่วมยังให้การสนับสนุนการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศอีกด้วย

ยุทธศาสตร์ระดับชาติ

วัตถุประสงค์ในการปรับปรุงความทันสมัยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนสอดคล้องกับแรงบันดาลใจในการพัฒนาประเทศของจีน ตามข้อมูลของกระทรวงกลาโหม “เป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีนในต่างประเทศมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสิ่งที่พรรคเรียกว่าพลังการผลิตของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และทุนมนุษย์ ซึ่งจีนมองว่าเป็นวิธีการที่จะบรรลุความทันสมัยทางการเมืองและสังคม รวมถึงการสร้างกองทัพระดับโลก” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหม “ความพยายามอย่างไม่ลดละของจีนในการขยายฐานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติของจีนมีนัยสำคัญต่อการปรับปรุงความทันสมัยทางทหารของจีน รวมถึงคู่ค้าทางเศรษฐกิจทั่วโลกของจีน”

การปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุทธศาสตร์ของจีนในการเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยกองทัพที่ทรงพลัง ตามข้อมูลของกระทรวงกลาโหม

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญในเส้นทางที่จะไล่ตามกองทัพสหรัฐฯ

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดิ้นรนอย่างต่อเนื่องของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในการทำงานร่วมกันระหว่างเหล่าทัพ ตลอดจนความท้าทายในการปรับปรุงหลักคำสอนเพื่อสะท้อนนัยความเชื่อในการปฏิวัติทางทหารผ่านปัญญาประดิษฐ์ เผยให้เห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญสำหรับความเข้าใจที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับกองทัพจีน” นายเบน นูน ผู้ช่วยวิจัยที่สถาบันวิสาหกิจอเมริกัน และ นายคริส แบสเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกองทัพเรือที่สำนักงานวิจัยกองทัพเรือ ระบุในคำอธิบายเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 สำหรับเว็บไซต์ วอร์ ออน เดอะร็อกส์ “แม้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ขอบเขตที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนสามารถจัดการกับการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพในด้านที่เป็นรูปธรรมได้น้อยกว่าจะมีความสำคัญต่อความสามารถในการสู้รบในอนาคตของกองทัพจีน”

นายนูนและนายแบสเลอร์ระบุว่าแม้ว่าจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่กองทัพปลดปล่อยประชาชนก็ยังคงไม่ได้รับการทดสอบในสนามรบยุคใหม่ จึงส่งผลให้ผู้สังเกตการณ์ภายในและภายนอกไม่แน่ใจเกี่ยวกับ “ความสามารถในการสู้รบที่แท้จริง” ซึ่งหมายความว่านักวิเคราะห์ควรจับตาดูความก้าวหน้าของกองทัพปลดปล่อยประชาชนอย่างใกล้ชิด และพิจารณาสิ่งที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนระบุเกี่ยวกับเส้นทางความก้าวหน้าของกองทัพ

รายงานของกระทรวงกลาโหมเสนอการประเมินที่คล้ายกัน กล่าวคือ “การทำความเข้าใจหลักการยุทธศาสตร์แห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจปัจจัยขับเคลื่อนด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ทางทหารของจีน ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางปัจจุบันและอนาคตของการปฏิรูปและการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในแง่ของความแข็งแกร่ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี องค์กรและแนวคิดด้านปฏิบัติการ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำเสนอทางเลือกทางทหารแก่ผู้นำจีนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของชาติ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button