ความเคลื่อนไหว ที่ทันสมัย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียระบุถึงการปรับปรุงความทันสมัยด้านกลาโหมของประเทศ
กัสดี ดา คอสตา
พล.ท. (เกษียณอายุราชการ) มูฮัมหมัด เฮรินดรา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย ภายใต้การทำงานของนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพบก พล.ท. เฮรินดราเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารของกองทัพอินโดนีเซีย รวมถึงผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษ โคปาสซัส ของกองทัพบก ใน พ.ศ. 2558 และผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารภูมิภาคที่ 3/ซิลิวันกิ ใน พ.ศ. 2559 พล.ท. เฮรินดราจบการศึกษาจากโรงเรียนทหารอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2530 ด้วยคะแนนสูงสุดของชั้นเรียน
เป้าหมายหลักของแผนการปรับปรุงความทันสมัยด้านกลาโหมของอินโดนีเซียคืออะไร
นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้สั่งการให้นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย ร่างแผนแม่บทระยะยาวสำหรับการป้องกันประเทศ รวมถึงแผนสำหรับการปรับปรุงระบบอาวุธหลัก/ยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมและความมั่นคงให้ทันสมัย การร่างแผนการปรับปรุงให้ทันสมัยนั้นต้องคำนึงถึงความสำคัญหลายประการ ประการแรก คือ สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิยุทธศาสตร์ ประการที่สอง คือ การคาดการณ์ถึงภัยคุกคาม ประการที่สาม คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันแบบพร้อมรบ และประการที่สี่ คือ การพิจารณาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ
เราศึกษากลุ่มการเมืองและความมั่นคงของโลกในปัจจุบัน และเราจำเป็นต้องแสดงจุดยืนโดยการเสริมสร้างการป้องกันภายในเพื่อป้องกันผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
องค์ประกอบของนโยบายพัฒนาสถานการณ์ทางทหารของอินโดนีเซีย คือการปรับปรุงระบบอาวุธหลัก ตลอดจนเครื่องมือด้านกลาโหมและความมั่นคงให้ทันสมัย โครงสร้างของกองทัพอินโดนีเซียขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในการป้องกันประเทศของเรา พลวัตของภัยคุกคามมีผลกระทบต่อการพัฒนา ดังนั้นความพยายามในการปรับปรุงความเป็นมืออาชีพ สวัสดิการ และความพร้อมรบของบุคลากรทางทหารของอินโดนีเซีย ควรได้รับการอำนวยความสะดวกจากเทคโนโลยีด้านกลาโหมและความมั่นคงที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย
ในการพัฒนาสถานการณ์ทางทหารของอินโดนีเซีย นโยบายนี้ดำเนินการผ่านการจัดซื้อระบบอาวุธหลัก/ยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมและความมั่นคงสำหรับความพร้อมรบ ความแม่นยำระยะไกล และความสำเร็จของการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังพยายามที่จะเพิ่มจำนวนกองหนุนสำหรับกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศทั่วทั้งอินโดนีเซีย
นโยบายสำหรับการปรับปรุงระบบอาวุธหลักให้ทันสมัยนั้นยังสอดคล้องกับโครงการที่จัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาด้านกลาโหม ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการดูดซับเทคโนโลยีกลาโหม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเพิ่มขึ้นของกองอำนวยการกลาโหม
สำหรับการดูดซับเทคโนโลยี รัฐวิสาหกิจทางยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในภาคส่วนกลาโหม ได้พัฒนาระบบอาวุธรูปแบบใหม่หลายรูปแบบ หนึ่งในรัฐวิสาหกิจดังกล่าว คือ บริษัทเปนาทารัน อังคะตัน เลาต์ หรือบริษัทพีที พาล รัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียที่ผลิตเรือสำหรับการใช้งานทางทหารและพลเรือน อีกทั้งยังดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเรือและในด้านวิศวกรรม บริษัทพีที พาล อินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเรือดำน้ำ ยู-209 รวมถึงเรือฟริเกตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี อีกรัฐวิสาหกิจหนึ่ง คือ บริษัทพีที ดีร์กันตารา อินโดนีเซีย ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธและยานพาหนะไร้คนขับ เช่น อากาศยานไร้คนขับที่มีความทนทานสูงและบินที่ความสูงระดับกลาง ในขณะเดียวกัน บริษัทพีที เลน อินดัสทรี ก็ได้พัฒนาเรดาร์สกัดกั้นควบคุมภาคพื้นดิน จากนั้นก็มี บริษัทพีที ดาฮานา ที่เป็นผู้ผลิตวัตถุระเบิด รวมถึงได้พัฒนาการประกอบวัตถุระเบิดและวัตถุระเบิดผงแบบเม็ดกลม
รายละเอียดของระยะเวลาและงบประมาณสำหรับความพยายามในการปรับปรุงให้ทันสมัยเหล่านี้เป็นอย่างไร
การพัฒนาอำนาจหลักของกองทัพอินโดนีเซียนั้นมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาระยะยาวแห่งชาติ … ที่ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ถึง 2567 แผนพัฒนาในระยะเวลาห้าปีหรือระยะกลางเป็นตัวกำหนดแผนระดับชาติ แผนดังกล่าวมุ่งเน้นองค์ประกอบหลัก 4 ประการ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวัสดุ การฟื้นฟู การกำหนดทำเลที่ตั้งใหม่ และการจัดซื้อ ในการดำเนินการตามแผนนี้ รัฐบาลจึงได้เพิ่มงบประมาณกลาโหมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใน พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 134.32 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (ประมาณ 3.1 แสนล้านบาท) [8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ]
เราตระหนักดีว่าสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิยุทธศาสตร์ในปัจจุบันได้นำพาไปสู่อำนาจการโจมตีทางทหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากการใช้จ่ายด้านกลาโหมที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศที่มีการใช้จ่ายทางทหารเป็นหลัก
เมื่อลองเปรียบเทียบอินโดนีเซียกับประเทศอื่น ๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน งบประมาณด้านกลาโหมของอินโดนีเซียมีสัดส่วนน้อยกว่างบประมาณของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 0.64 เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านกลาโหมของบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจะเป็นสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.23 แม้แต่ติมอร์ตะวันออก (ติมอร์ – เลสเต) ซึ่งเป็นประเทศเอกราชใหม่ก็จัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมอยู่ที่ร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
เมื่อตระหนักรู้ถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียจึงเริ่มนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นการลงทุนด้านกลาโหม แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับคำแนะนำของนายวิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นโยบายที่ว่ามีไว้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหม และเปลี่ยนแนวคิดหรือความคิดในการจัดหาระบบอาวุธหลักที่นำเข้า นโยบายนี้จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซีย
นอกเหนือจากการจัดซื้อสินทรัพย์ด้านกลาโหมจากผู้ให้บริการในประเทศแล้ว กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียยังดำเนินการจัดซื้อจากตลาดต่างประเทศอีกด้วย การจัดซื้อครั้งล่าสุดคือการซื้อเครื่องบินขับไล่ราฟาลที่มีน้ำหนักเบาและใช้เครื่องยนต์คู่เป็นจำนวน 1 ฝูงบิน เครื่องบินรบดังกล่าวผลิตโดยบริษัทดาโซ เอวิเอชันของฝรั่งเศส การจัดซื้อเครื่องบินรบเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างระบบอาวุธของกองทัพอากาศอินโดนีเซียให้แข็งแกร่งขึ้น
การซื้อเครื่องบินราฟาลเป็นการซื้อครั้งใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินการ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า อำนาจที่เพิ่มขึ้นของระบบอาวุธได้สร้างความกดดันในการแสดงอำนาจด้านกลาโหมของประเทศ อินโดนีเซียมีนโยบายที่ตอบสนองต่อปัญหานี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการปรับปรุง ระบบอาวุธหลักให้ทันสมัย
แผนการปรับปรุงให้ทันสมัยจะส่งผลกระทบต่อลักษณะทางทหารอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบอย่างไร
ความพยายามที่จะเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของกองทัพอินโดนีเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้กองทัพมีความเป็นมืออาชีพและเชื่อถือได้มากขึ้นในปฏิบัติการระบบป้องกันหลักที่ทันสมัยและก้าวหน้า กลไกในการปรับปรุงทรัพยากรมนุษย์จะดำเนินการโดยการส่งบุคลากรของกองทัพอินโดนีเซียไปศึกษาในต่างประเทศหรือไปศึกษาผู้ผลิตระบบอาวุธหลัก ขณะเดียวกันภายในอินโดนีเซียเอง กลไกในการเพิ่มคุณภาพจะดำเนินการผ่านโครงการให้ความรู้และการฝึกอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะเพิ่มทรัพยากรมนุษย์นั้น เราขอเน้นย้ำว่ากองทัพอินโดนีเซียยึดมั่นในหลักการของ “สิชานคามราตา” ที่เป็นระบบการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยโดยรวมของประชาชน ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องพัฒนาการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งกับองค์ประกอบอื่น ๆ ของประเทศ ควรเข้าใจว่าหลักการนี้เป็นระบบการป้องกันโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับประชาชน พื้นที่ของประเทศ และทรัพยากรทั้งหมดของประเทศอื่น ๆ
จุดยืนของอินโดนีเซียในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกด้านฮาร์ดแวร์ทางทหาร ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความตึงเครียดในปัจจุบันทั่วทั้งภูมิภาคและทั่วโลกอย่างไรบ้าง
พลวัตของการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยทั่วโลกกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในปัจจุบันซึ่งดำเนินมานานกว่าหนึ่งปีจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เมื่อรวมกับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และไต้หวันก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ในปัจจุบัน อินโดนีเซียครองตำแหน่งสำคัญในแผนที่อุปทานสำหรับยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ใช้ทั่วโลก อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งและความตึงเครียดเหล่านี้
การปรับปรุงยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมและความมั่นคงของอินโดนีเซียให้ทันสมัย ถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการปกป้องอธิปไตยของรัฐและเพื่อไม่โจมตีประเทศอื่น ๆ อินโดนีเซียไม่มีอำนาจรุกในการจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหาร เราจำเป็นต้องเข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้เองความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงจะต้องสอดคล้องกัน
หากผู้บริโภคในท้องถิ่นซึ่งในกรณีนี้คือทหารและตำรวจของอินโดนีเซีย ไม่ได้เป็นผู้ซื้อหรือผู้ใช้สินค้าอาวุธที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมในประเทศของเราแล้ว เช่นนั้นการปรับปรุงระบบอาวุธที่สำคัญของเราให้ทันสมัยและความพยายามในการเสริมสร้างอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ ด้วยวิธีการนี้ จะช่วยสร้างโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์ในประเทศของเราในตลาดต่างประเทศโดยทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อสินค้าจากฝ่ายกระทรวงกลาโหม
นอกจากนี้ ฝ่ายจัดซื้อด้านกลาโหมของเรายังซื้อยุทโธปกรณ์ทางอาวุธหลักจากประเทศอื่น ๆ อีกด้วย หากไม่มีการจัดหายุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมในประเทศ เราต้องพึ่งพาการจัดซื้อจากต่างประเทศแทน โดยหากจะให้แน่ใจในการใช้งานและการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม กระบวนการหลังจากนั้นควรจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ
มีมาตรการใดบ้างที่จะทำให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มีความโปร่งใสและเป็นธรรม
เรามีกลไกในการจัดหาและจัดซื้อระบบอาวุธหลักอย่าง อีพร็อก หรือระบบการจัดซื้ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่กลไกนี้จะให้บริการกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่การขอใบเสนอราคา การสั่งซื้อ ตลอดจนการซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่เราดำเนินการผ่านทางออนไลน์
ต้องดำเนินการขั้นตอนใดบ้างเพื่อจัดการกับข้อพิพาททางดินแดนและกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ทางทะเล ทางอากาศ และทางบกของอินโดนีเซีย
สำหรับปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านดินแดน เรามักจะใช้ช่องทางการทูตและวิธีการโน้มน้าวใจโดยไม่ลดทอนคุณค่าในอำนาจอธิปไตยของเรา เราต้องให้ความสำคัญกับดินแดนทางทะเลมากขึ้น เนื่องจากเราต้องเผชิญกับประเด็นการละเมิดพรมแดนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเราอย่างต่อเนื่อง การละเมิดพรมแดนเกิดขึ้นจากกิจกรรมการประมงที่ผิดกฎหมายและการควบคุมอาณาเขตทางทะเลของเรา ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซในพื้นที่เกาะนาตูนา เป็นต้น
ในประเด็นด้านการละเมิดเขตเศรษฐกิจพิเศษของเราอย่างกว้างขวางนั้น เราได้ยกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ประจำ พ.ศ. 2525 มาใช้ และให้สัตยาบันเป็นกฎหมายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2528 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และไม่ใช่การอ้างสิทธิ์เพียงฝ่ายเดียวของอินโดนีเซีย
ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายถือเป็นหนึ่งในอาชญากรรมข้ามชาติที่เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งจะควบคู่ไปกับภัยคุกคามในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงดำเนินการลาดตระเวนร่วมบริเวณช่องแคบมะละกากับมาเลเซียและสิงคโปร์เพื่อรักษาความปลอดภัย
สำหรับดินแดนทางบก เราได้เพิ่มการลาดตระเวนร่วมกับมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพรมแดนทางบกที่ติดกับกาลิมันตัน ซึ่งมีส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียที่อยู่บนเกาะบอร์เนียว เรามีเวทีด้านความร่วมมืออย่างคณะกรรมการชายแดนทั่วไประหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่คอยจัดการกับกิจกรรมผิดกฎหมายต่าง ๆ รวมถึงการอพยพอย่างผิดกฎหมาย ยาเสพติด การเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการร้าย กลุ่มหัวรุนแรง และกิจกรรมอื่น ๆ
รัฐบาลจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแผนการปรับปรุงความทันสมัยด้านกลาโหมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวอินโดนีเซีย และมีส่วนช่วยในการพัฒนาโดยรวมของประเทศ
รัฐบาลกำลังพยายามทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของชาวอินโดนีเซีย โครงการพี3ดีเอ็น ของรัฐบาลอินโดนีเซียก็เป็นหนึ่งในความพยายามดังกล่าว โครงการพี3ดีเอ็น มุ่งเน้นที่จะเพิ่มการผลิตเพื่อสร้างการเติบโตและส่งเสริมขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในอินโดนีเซีย กระทรวงต่าง ๆ และหน่วยงานราชการในอินโดนีเซีย ได้รับคำสั่งจากนายวิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้ละเว้นการจัดหาสินค้านำเข้าหากภายในประเทศสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นได้เองหรือหากสามารถผลิตสินค้าภายในประเทศได้เอง เป้าหมายของรัฐบาลคือการเปลี่ยนการใช้จ่ายด้านกลาโหมให้เป็นการลงทุนด้านกลาโหม ซึ่งนโยบายนี้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว
เช่น แผนที่จะตอบสนองต่อความต้องการของระบบกลาโหมของรัฐ ใน พ.ศ. 2566 ได้จัดทำขึ้นโดยมีองค์ประกอบและสัดส่วนของอุตสาหกรรมในประเทศเป็นร้อยละ 29.5 และวัตถุดิบภายในประเทศเป็นร้อยละ 33.5 ดังนั้น เราจึงประมาณการว่าค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของอินโดนีเซียอยู่ที่จำนวน 20.914 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท) [1.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ] ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นโยบายดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการปฏิบัติ
เช่น ในนโยบายล่าสุด กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อสำหรับยานพาหนะยุทธวิธีที่ผลิตโดยบริษัทพีที พินดัด ซึ่งได้แก่ รถจี๊ปและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ยานพาหนะยุทธวิธีเหล่านี้มีไว้สำหรับหน่วยรบและหน่วยรักษาดินแดน นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมยังได้ลงนามในสัญญาการซื้อกระสุนนับพันลูกจากบริษัทพีที พินดัด ในชวาตะวันออก
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย