ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความร่วมมือด้านกลาโหมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถือเป็นก้าวสำคัญของอินโดนีเซียและเกาหลีใต้

ฟีลิกซ์ คิม

เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตใน พ.ศ. 2566 อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ตั้งใจจะยกระดับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่แข็งแกร่งอยู่แล้วขึ้นไปอีกระดับ

ใน พ.ศ. 2560 รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ขึ้นเป็น “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระดับพิเศษ” สำหรับความเคลื่อนไหวในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ซึ่งรวมถึงการแบ่งปันข้อมูลและการมีส่วนร่วมในภารกิจของสหประชาชาติ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี

“ผมมองในแง่ดีว่าการสานต่อความร่วมมือผ่านทางบันทึกความเข้าใจว่าด้วยยุทโธปกรณ์สำหรับปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติระหว่างกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซียและกองทัพสาธารณรัฐเกาหลี จะมีผลต่อความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดของทั้งสองประเทศมากขึ้น รวมทั้งยังส่งผลกระทบเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ” พล.ต. มูฮัมหมัด นูร์ ราห์หมัด หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการหน่วยบัญชาการกองกำลังผสมของกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย ระบุกับหนังสือพิมพ์อินโดนีเซีย บิสซิเนส โพสต์

ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ใน พ.ศ. 2565 ผู้รักษาสันติภาพในเกาหลีใต้มากกว่า 500 คนปฏิบัติหน้าที่ในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ 6 ปฏิบัติทั่วโลก ในขณะเดียวกันอินโดนีเซียมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเกือบ 2,700 คนปฏิบัติหน้าที่ในปฏิบัติการรักษาสันติภาพข้ามชาติ 7 ปฏิบัติ

นอกเหนือจากการสนับสนุนให้มีการแบ่งปันข้อมูลแล้ว ยังคาดว่าบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะสร้างโอกาสในการฝึกทวิภาคีมากขึ้น เช่น สมาชิกหน่วยบริการของอินโดนีเซียเคยได้ไปฝึกที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และสถาบันการศึกษาทางทหารของประเทศต่าง ๆ ก็มักจะเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาด้วยเช่นกัน ตามรายงานของสถานทูตอินโดนีเซียในเกาหลีใต้

นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เน้นย้ำถึงความจำเป็นด้านความร่วมมือในวงกว้างขึ้นของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ รวมถึงข้อกังวลเชิงยุทธศาสตร์อื่น ๆ ที่มีร่วมกัน เช่น การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การรักษาความปลอดภัยทางทะเล และการต่อต้านการก่อการร้าย ในระหว่างการประชุมทวิภาคีเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566

นางเร็ตโนกล่าวเสริมว่า ควรขยายความร่วมมือไปจนถึงด้านอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศ “เราจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย เช่น บริษัทพีที พินแดด, บริษัทพีทีดีไอ และบริษัทพีที พาล กับหุ้นส่วนอย่างเกาหลีใต้ให้เข้มแข็งขึ้น” บริษัทแดวู ชิปบิลดิง แอนด์ มารีน เอ็นจีเนียริง ของเกาหลีใต้และพีที พาล ของอินโดนีเซียได้สร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซล 3 ลำให้แก่กองทัพเรืออินโดนีเซียในระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในข้อตกลงมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท)

บริษัทแดวู ชิปบิลดิง แอนด์ มารีน เอ็นจีเนียริง สร้างเรือดำน้ำสองลำแรกในเกาหลีใต้ และบริษัทพีที พาล สร้างลำที่สามที่อู่ต่อเรือของบริษัทในอินโดนีเซีย

ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ประเทศต่าง ๆ ได้พัฒนาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เพื่อให้ใช้งานในกองทัพอากาศของตน ซึ่งจะรู้จักกันในชื่อ เคเอฟ-21 โบราแม ในเกาหลีใต้ และ ไอเอฟ-เอกซ์ ในอินโดนีเซีย โดยคาดการณ์ว่าอากาศยานดังกล่าวจะเข้าประจำการใน พ.ศ. 2569

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button