ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อเสนอที่มีความเสี่ยงสูง

เหตุใดกลยุทธ์การหลอมรวมทางทหารและพลเรือนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนจึงส่งผลในทางตรงกันข้ามและอาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องน่าสลดใจ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองทัพเรือจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนสาธิตการใช้เรือข้ามฟากพลเรือน เพื่อจำลองการรุกรานไต้หวันในระหว่างการฝึกซ้อมเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 กองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนใช้เรือข้ามฟากพลเรือนแบบมีล้อเลื่อนพร้อมทางลาดที่สร้างขึ้นเองเพื่อบรรทุกเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกบนชายหาดของจีนในบริเวณใกล้กับช่องแคบไต้หวัน ตามรายงานของยูเอสเอ็นไอนิวส์ ซึ่งเป็นบริการข่าวประจำวันของสถาบันกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนได้ฝึกใช้เรือข้ามฟากสะเทินน้ำสะเทินบกแบบสองทางมาเป็นเวลานานหลายปี อย่างไรก็ตาม การฝึกครั้งนี้มีขนาดใหญ่กว่าและเกี่ยวข้องกับการปล่อยเรือจากเรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อนในทะเล ซึ่งจะช่วยเสริมพลังการโจมตีที่จะเกิดขึ้น น.อ. ทอม ชูการ์ต ผู้เกษียณอายุของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา และนักวิเคราะห์ด้านกลาโหม กล่าวกับยูเอสเอ็นไอนิวส์

การฝึกดังกล่าวอาจมีการส่งมอบอุปกรณ์กองพลหนักของกองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้มากกว่าร้อยละ 80 และมีทหารเข้าร่วมกว่า 10,000 น.อ. ชูการ์ต ระบุในบทความเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 สำหรับวอร์ ออน เดอะร็อกส์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิเคราะห์และอภิปรายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ กลาโหม และกิจการต่างประเทศ ใน พ.ศ. 2565 กองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนยังเพิ่มความแข็งกร้าวในการฝึกดังกล่าวด้วยการส่งเรือรบออกไปนอกเส้นแบ่งช่องแคบไต้หวันและบินโดรนเหนือเกาะที่อยู่ภายใต้การปกครองของไต้หวัน น.อ. ชูการ์ต อดีตเจ้าหน้าที่สงครามเรือดำน้ำและนักวิชาการพิเศษอาวุโสที่ศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันใหม่ อธิบาย

ในกรณีที่จีนรุกรานไต้หวัน “การเสริมกำลังภาคพลเรือนจะมีความจำเป็น หากไม่มีการจัดเตรียมกำลังการเคลื่อนพลทางทะเลส่วนใหญ่ที่จำเป็น” น.อ. ชูการ์ต ซึ่งติดตามการฝึกซ้อมทางทหารของจีนมานานหลายปี กล่าวกับยูเอสเอ็นไอนิวส์

“ทั้งหมดนี้หมายความว่าจีนสามารถดำเนินการรุกรานได้สำเร็จเร็วกว่าที่หลายคนคิด เพื่อตอบโต้ ไต้หวันและพันธมิตรควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อส่งขีปนาวุธต่อต้านเรือและทุ่นระเบิดขั้นสูงจำนวนมากในลักษณะที่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการหยุดเรือยกพลขึ้นบกหลายสิบลำ แม้ว่าเรือเหล่านั้นถูกล้อมรอบและคุ้มกันด้วยเรือคุ้มกันและเรือล่อเป้าหลายร้อยลำก็ตาม” น.อ. ชูการ์ต ระบุในเรียงความสำหรับวอร์ ออน เดอะ ร็อกส์

“นักวางแผนในรัฐบาลไต้หวันและรัฐบาลสหรัฐฯ ควรตัดสินใจล่วงหน้าเช่นกันว่าจะยอมเปิดฉากยิงเป้าหมายที่ดูเหมือนเป็นพลเรือนเหล่านี้เมื่อถึงจุดใด กองทัพจีนมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขัดขวางการบังคับบัญชาและการควบคุมก่อนที่การรุกรานจะเริ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การหารือเกี่ยวกับกฎการปะทะกันไม่สามารถดำเนินการได้ราบรื่นนัก กองเรือพลเรือนแบบมีล้อเลื่อนของจีนช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความซับซ้อนของภัยคุกคามจากการรุกรานที่ไต้หวันกำลังเผชิญอยู่ รัฐบาลสหรัฐฯ ควรเริ่มเตรียมการตอบโต้ทันที” น.อ. ชูการ์ตระบุ

ทหารไต้หวันดำเนินการฝึกซ้อมสะเทินน้ำสะเทินบกในเมืองเกาสงเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนยังคงคุกคามไต้หวันอย่างไม่ลดละ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การใช้เรือข้ามฟากพลเรือนในการรุกรานถือเป็นการแสดงถึงกลยุทธ์การหลอมรวมทางทหารและพลเรือนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนที่ออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชน กลยุทธ์การหลอมรวมทางทหารและพลเรือนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่สนับสนุนโดยนายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เพื่อยกระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของกองทัพให้มากที่สุดในโลกภายใน พ.ศ. 2592 ในฐานะประธานคณะกรรมการทหารกลางและคณะกรรมการกลางเพื่อการพัฒนาการหลอมรวมทางทหารและพลเรือนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2560 นายสีเป็นผู้ดูแลการดำเนินการตามกลยุทธ์ รวมถึงแนวทางต่าง ๆ เพื่อผสานส่วนประกอบทางทหารเข้ากับกิจกรรมพลเรือนที่ดูเหมือนจะไม่มีพิษมีภัย การดำเนินการเหล่านี้มีตั้งแต่การสำรวจ “การวิจัย” แบบสองทาง เช่น การเดินทางของหยวนหวัง 5 ซึ่งให้ข้อมูลการลาดตระเวนและข่าวกรองมากกว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนกองเรือประมงที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเพื่อสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ในดินแดนที่ไม่เป็นธรรม กลยุทธ์ของนายสียังเกี่ยวข้องกับการสอดแนมทางอุตสาหกรรมและการโจรกรรมเทคโนโลยีทางทหารของต่างประเทศดังที่มีรายงานว่าเกิดขึ้นกับการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เครื่องบินขับไล่ล่องหน เจ-20 ลอกเลียนแบบเทคโนโลยีจากโครงการ เอฟ-22 แรปเตอร์ และเครื่องบินขับไล่โจมตีร่วม ของสหรัฐฯ อย่างใกล้เคียง ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสีและพรรคคอมมิวนิสต์อาจทำให้ชาวจีนตกอยู่ในภายใต้ความเสี่ยงโดยการใช้กลยุทธ์ที่ก้าวร้าวเช่นนี้ นักวิเคราะห์ทางทหารกล่าว ภายใต้กฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ พลเรือนที่ควรได้รับการพิจารณาว่าไม่ใช่พลรบอาจถูกกำหนดให้เข้าร่วมการสู้รบ หากพวกเขาอยู่ในเขตสู้รบหรือพื้นที่ทั่วไปที่เกิดเหตุปรปักษ์และ/หรือสนับสนุนกองทัพปลดปล่อยประชาชนภายใต้กลยุทธ์การหลอมรวมระหว่างกองทัพกับพลเรือน นักวิเคราะห์ทางกฎหมายอธิบาย ด้วยการสู้รบในพื้นที่ปรปักษ์ พลเรือนอาจถูกพิจารณาว่าเป็น “ผู้มีส่วนร่วมในสงครามที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษ” ซึ่งต้องรับผิดในสถานะพลรบแต่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการรบ เช่น สถานะเชลยศึก ตามเอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยเรื่องกฎหมายสงคราม

กองทัพปลดปล่อยประชาชนแสดงเจตจำนงที่จะใช้เรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อนเพื่อส่งมอบกองกำลังและอุปกรณ์ระหว่างการรุกราน ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายหลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือนภายใต้กฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธ โดยการบดบังเส้นแบ่งที่สำคัญระหว่างเรือรบและเรือทั่วไป พลเรือนและพลรบ ตลอดจนวัตถุทางพลเรือนและการทหาร นักวิเคราะห์กล่าว กฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้ควบคุมการสู้รบด้วยอาวุธ บัญญัติขึ้นจากกฎหมายและสนธิสัญญาตามจารีตประเพณี

พันธมิตรและหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกต้องการให้ผู้ที่ไม่ได้ร่วมต่อสู้ได้รับการคุ้มครองในเหตุความขัดแย้ง สงคราม หรือปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ เพื่อลดอันตรายต่อพลเรือน การสนับสนุนหลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือนของกฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การใช้เรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อนของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการฝึกซ้อมรุกรานแบบสะเทินน้ำสะเทินบกยังเป็นแบบอย่างที่เป็นอันตราย ซึ่งบ่อนทำลายหลักการทางกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อปกป้องพลเรือนในความขัดแย้งอีกด้วย

เรือจงหยวนหยู 16 ที่ติดธงจีนแล่นเข้าใกล้หมู่เกาะกาลาปากอสของเอกวาดอร์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนใช้เรือประมงเขตน่านน้ำไกลหลายพันลำโดยเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การหลอมรวมทางทหารและพลเรือน ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ความล้มเหลวที่เป็นไปได้

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าความพยายามในการหลอมรวมระหว่างกองทัพกับพลเรือนดังกล่าวอาจเป็นเรื่องโง่เขลา เนื่องจากมีความเป็นไปได้น้อยที่เรือข้ามฟากสาธารณะและระบบพลเรือนอื่น ๆ จะสามารถเอาตัวรอดได้ในสภาวะไฟลุกลาม “ท่ามกลางองค์ประกอบสำคัญมากมายที่จำเป็นต่อการยกพลขึ้นบกข้ามช่องแคบให้ประสบความสำเร็จ ความล้มเหลวในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ยกพลขึ้นบกสำหรับกองกำลังหนุนในการโจมตีครั้งแรกจะส่งผลให้ความพยายามทั้งหมดหยุดชะงักลง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในส่วนของผู้รุกรานและอาจส่งผลให้ต้องถอนกำลัง” นายคอเนอร์ เคนเนดี นักวิจัยที่สถาบันการศึกษาทางทะเลจีนจากวิทยาลัยยุทธนาวีสหรัฐฯ ในโรดไอส์แลนด์ ระบุในบทวิเคราะห์ข่าวสรุปของจีน พ.ศ. 2564 สำหรับมูลนิธิเจมส์ทาวน์

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะมีการใช้ยุทโธปกรณ์ทางการทหารเป็นหลัก แต่การรุกรานช่องแคบไต้หวันของกองทัพปลดปล่อยประชาชนมีแนวโน้มว่าจะล้มเหลวและก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ตลอดจนผลลัพธ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐฯ ตามรายงานการวิเคราะห์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 โดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ หน่วยงานวิจัยอิสระดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้พัฒนาการทำสงครามเพื่อจำลองการรุกรานไต้หวันของจีน ซึ่งรวมถึงการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกและดำเนินการฝึกไปแล้วกว่า 24 ครั้ง

“ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ สหรัฐฯ ไต้หวัน และญี่ปุ่นเอาชนะการรุกรานแบบสะเทินน้ำสะเทินบกดั้งเดิมของจีนและรักษาไต้หวันที่ปกครองตนเองไว้ได้” ตามรายงานของศูนย์เพื่อความมั่นคงและนานาชาติศึกษาในหัวข้อ “การสู้รบครั้งแรกของสงครามครั้งถัดไป: การทำสงครามรุกรานไต้หวันของจีน”

แต่ความเสียหายเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายอย่างใหญ่หลวง “สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรสูญเสียเรือหลายสิบลำ เครื่องบินหลายร้อยลำ และทหารอีกหลายหมื่นนาย เศรษฐกิจของไต้หวันได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ความสูญเสียใหญ่หลวงดังกล่าวยังสร้างความเสียหายให้กับตำแหน่งระดับโลกของสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ จีนก็สูญเสียอย่างหนักเช่นกัน และความล้มเหลวในการเข้ายึดครองไต้หวันอาจทำให้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนสั่นคลอน” บทวิเคราะหา์ดังกล่าวตั้งข้อสังเกต

รายงานของศูนย์เพื่อความมั่นคงและนานาชาติศึกษาคาดการณ์ว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนจะสูญเสียกำลังพล 10,000 นาย เครื่องบินรบ 155 ลำ และเรือหลัก 138 ลำ กองทัพเรือและกองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกจะเกิดความระส่ำระสาย และทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนหลายหมื่นนายจะถูกจับกุม

ในขณะเดียวกัน พลเรือนในไต้หวันก็จะตกอยู่ในอันตรายทันที เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น การส่งกำลังทหารหรือเสบียงใด ๆ ไปยังไต้หวันจะไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากยูเครนอย่างมากเพราะสหรัฐฯ และพันธมิตรสามารถส่งเสบียงไปยังยูเครนได้อย่างต่อเนื่อง” นับตั้งแต่การรุกรานของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นายมาร์ก แคนเชียน ที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์เพื่อความมั่นคงและนานาชาติศึกษาและหัวหน้าโครงการจำลองสถานการณ์ กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ไม่ว่าทหารไต้หวันจะ “ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ใดในการทำสงคราม พวกเขาจำต้องมีให้ครบมือเมื่อสงครามปะทุขึ้น”

การคุ้มครองพลเรือนตามกฎหมาย

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำหนดให้การโจมตีเป้าหมายพลเรือนในช่วงเวลาสงครามเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นชุดสนธิสัญญา 4 ฉบับที่ลงนามระหว่าง พ.ศ. 2407 ถึง พ.ศ. 2492 และพิธีสารอีก 3 ฉบับที่ตามมา วางมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับการปฏิบัติด้านมนุษยธรรมในสงคราม รวมถึงสิทธิและการคุ้มครองที่มีให้แก่พลเรือนทั่วไป โดยมี 196 ประเทศร่วมลงนามและให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ หลายประเทศเห็นด้วยกับอนุสัญญาเจนีวามากกว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ประเทศส่วนใหญ่ยังให้สัตยาบันพิธีสารฉบับแรกและฉบับที่สอง ซึ่งเสริมสร้างการคุ้มครองแก่เหยื่อการขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศและที่มิใช่ระหว่างประเทศ ตามลำดับ กฎหมายระหว่างประเทศที่คุ้มครองพลเรือนมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513 – 2522) เป็นต้นมา พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ข้อ 51 ระบุว่า “ประชากรพลเรือน ตลอดจนพลเรือนปัจเจกบุคคล จะไม่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี ห้ามมิให้มีการกระทำหรือการคุกคามว่าจะใช้ความรุนแรง โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้แพร่หลายไปในหมู่ประชากรพลเรือน

บางประเทศและบางองค์กรได้เพิ่มความคุ้มครองดังกล่าวมากขึ้น เช่น เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่แผนปฏิบัติการบรรเทาและรับมืออันตรายต่อพลเรือนฉบับใหม่ เพื่อขยายมาตรการช่วยพลเรือนจากผลกระทบของการปฏิบัติการทางทหาร (ดูแถบด้านข้างในหน้า 21) คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดของพลเรือนที่มีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบโดยใช้ชื่อว่า “คำแนะนำเชิงตีความเกี่ยวกับแนวคิดของการมีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2552 การศึกษาที่กินเวลานานถึง 6 ปีนี้พยายามที่จะระบุว่าบุคคลใดเข้าข่ายพลเรือนเพื่อจุดประสงค์ในการดำเนินการสู้รบ การกระทำใดที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ ตลอดจนรูปแบบแน่นอนที่พลเรือนผู้เข้าร่วมโดยตรงในการสู้รบจะไม่ได้รับการคุ้มครองหากถูกโจมตีโดยตรง อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำของรายงานฉบับนี้ได้รับแรงผลักดันเพียงเล็กน้อย เนื่องจากหลายประเทศไม่ยอมรับคำจำกัดความและข้อสรุปที่กว้างขึ้นของสภากาชาดในการคุ้มครองพลเรือน

โดยทั่วไป ประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องต้องกันว่าพลเรือนที่เข้าร่วมในการโจมตีฝ่ายศัตรูถือว่ามีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ ตามที่บัญญัติในกฎหมายบังคับใช้ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น วัตถุทางพลเรือนอาจกลายเป็นวัตถุทางทหารภายใต้สถานการณ์บางประการ ตามที่อธิบายไว้ในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ข้อ 52 เช่นเดียวกับเอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยเรื่องกฎหมายสงคราม นักวิเคราะห์กฎหมายอธิบาย

ประเทศใดก็ตามที่ทำการโจมตีต้องแยกเป้าหมายระหว่างพลรบและพลเรือน แต่ไม่มีพันธกรณีที่ชัดเจนในการแบ่งแยกหรือระบุตัวพลเรือน ในทางปฏิบัติ อนุสัญญาเจนีวาได้กำหนดอาคารสถานที่ที่ได้รับการคุ้มครอง เช่น โรงพยาบาล ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม และองค์กรป้องกันพลเรือน แต่บ่อยครั้งที่ผู้รุกรานไม่สนใจข้อกำหนดดังกล่าว เช่น รัสเซียถูกกล่าวหาว่าโจมตียูเครนอย่างไม่เลือกหน้า สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดง “ความกังวลอย่างยิ่ง” และเตือนรัฐบาลรัสเซียว่าการกำหนดเป้าหมายพลเรือนอาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม นางลิซ ธอสเซลล์ โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ว่า “พลเรือนกำลังถูกสังหารและได้รับอันตรายสาหัสจากสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการโจมตีโดยไม่เลือกหน้า ซึ่งกองทัพรัสเซียใช้อาวุธระเบิดที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างในหรือใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่” “การโจมตีเหล่านี้รวมถึงขีปนาวุธ กระสุนปืนใหญ่และจรวด รวมถึงการโจมตีทางอากาศ” รัสเซียเปิดฉากการระดมยิงและอาจมีการใช้ระเบิดลูกปรายถล่มโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานรับเลี้ยงเด็กหลังเริ่มก่อสงครามได้เพียง 15 วัน นางธอสเซลล์กล่าว การเสียชีวิตและการบาดเจ็บของพลเรือนยังคงดำเนินต่อไปตลอดช่วงสงคราม แต่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้พุ่งเป้าไปที่พลเรือน ศาลอาญาระหว่างประเทศได้เริ่มการสืบสวนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นในยูเครน จากนั้นจึงประกาศในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ว่าจะดำเนินคดี 2 คดีต่อรัสเซีย ตามรายงานของบีบีซี ในช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม เนื่องจากนายปูตินถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในการลักพาตัวเด็กจากประเทศยูเครน ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เมื่อกล่าวถึงการใช้เรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อนนั้น กองทัพปลดปล่อยประชาชนไม่ได้สร้างความแตกต่างระหว่างเรือข้ามฟากของกองทัพกับเรือข้ามฟากภาคพลเรือน เช่น การทาสีเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเป็นสีเทาหรือการติดเครื่องหมายทางทหาร นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนยังได้บัญญัติกฎหมายและข้อบังคับภายในประเทศหลายชุดโดยเริ่มใน พ.ศ. 2538 เพื่อควบคุมการขนส่งภาคพลเรือน และอนุญาตให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนอำพรางบทบาทของเรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อน อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบดังกล่าวไม่ได้สร้างความชอบธรรมทางกฎหมายให้กับกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

เห็นได้ชัดว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนกำหนดหน้าที่ทางทหารจำนวนมากสำหรับเรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อน ตั้งแต่การส่งกองกำลังไปจนถึงการวางทุ่นระเบิด ตลอดจนการลาดตระเวน และการหลอกลวง นายลอนนี ดี. เฮนลีย์ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองกลาโหมของสหรัฐฯ ผู้เกษียณอายุ ระบุไว้ในรายงานทางทะเลจีนฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเผยแพร่โดยวิทยาลัยยุทธนาวีสหรัฐฯ นอกจากนี้ กองทัพปลดปล่อยประชาชนตั้งใจที่จะซ่อนตัวอยู่หลังฉากหน้าฝ่ายพลเรือนของเรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อน เพื่อแสดงให้เห็นความชอบธรรมภายในประเทศและสร้างข้ออ้างในการยื่นข้อกล่าวหาว่าเรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อนถูกโจมตีในเหตุขัดแย้ง ยิ่งไปกว่านั้น เรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อนยังสามารถใช้ประโยชน์จากความลังเลของกองกำลังฝ่ายศัตรูในการโจมตีเรือภาคพลเรือน หรือแม้แต่เรือที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการสู้รบ นักวิเคราะห์กล่าว

การปกป้องพลเรือนจากปฏิบัติการทางทหารควรเป็นข้อกังวลหลักของประเทศภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ข้อ 57 (1) พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ดังที่ประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งจีน ได้เห็นพ้องโดยปริยาย ด้วยความก้าวหน้าของการหลอมรวมระหว่างกองทัพกับพลเรือน รัฐบาลจีนมีแนวโน้มว่าจะทำให้ประชาชนตกอยู่ในอันตรายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล นักวิเคราะห์ยืนยันว่าการใช้เรือข้ามฟากแบบมีล้อเลื่อนในการฝึกซ้อมทางทหารของกองทัพจีนส่งผลให้การคุ้มครองพลเรือนระหว่างประเทศลดลง

อำนาจครอบงำและการหลอมรวมที่มีต้นทุนสูง

หลายประเทศใช้ประโยชน์จากพลเรือนและวัตถุพลเรือนเพื่อเพิ่มปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเพื่อความสะดวกหรือเพื่อการบังคับขู่เข็ญก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสได้วางหอส่งสัญญาณการสื่อสารทางทหารไว้บนยอดหอไอเฟล ณ กรุงปารีส เพื่อส่งและสกัดกั้นข้อความสำคัญ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษใช้เรือประมงและเรือสำราญเพื่อถอนกำลังทหารออกจากดันเคิร์กเมื่อกองทัพเยอรมันรุกคืบเข้ามา ออสเตรเลียใช้ผู้รับเหมาพลเรือนเพื่อสนับสนุนกองกำลังในเอเชียกลางและตะวันออกกลางสำหรับภารกิจรักษาสันติภาพ สหรัฐฯ ได้ใช้ผู้รับเหมาพลเรือนและห่วงโซ่อุปทานเชิงพาณิชย์ในทำนองเดียวกันเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม ในการแสวงหาอำนาจครอบงำระดับโลก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนพยายามผสานรวมความพยายามของพลเรือนและทหารเข้าด้วยกัน โดยมักจะได้รับเทคโนโลยีที่สำคัญจากกิจกรรมที่ไม่โปร่งใสและผิดกฎหมายที่ดำเนินการโดยชาวจีน รวมไปถึงการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี การรวบรวมข่าวกรอง และการโจรกรรม “การหลอมรวมระหว่างกองทัพกับพลเรือนคุกคามความไว้วางใจ ความโปร่งใส หลักการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ และค่านิยมร่วมกันที่สนับสนุนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจระดับโลกที่เป็นธรรม” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุใน พ.ศ. 2563

วิธีการที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนได้มาซึ่งเทคโนโลยีและสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสิ่งปลูกสร้างทางทหาร ฐานทัพ และโครงสร้างพื้นฐานแบบสองทาง อาจกระตุ้นให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อพลเรือนจีนที่ไม่ใช่พลรบแต่มีส่วนร่วมในองค์กรดังกล่าวในระหว่างความขัดแย้ง นักวิเคราะห์กล่าว

“การหลอมรวมระหว่างกองทัพกับพลเรือนกำลังถูกตีความว่าเป็นเสียงเปิดฉากสงครามโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนซึ่งจะพร้อมรบใน พ.ศ. 2565 และหลังจากนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนกระหายนับตั้งแต่ที่เข้ายึดอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2492 เพียงไม่นาน การพัฒนากองทัพปลดปล่อยประชาชนให้เป็นกองทัพระดับโลกภายใน พ.ศ. 2592 ยังคงเป็นเป้าหมายหลัก” ดร. โมนิกา ชานโซเรีย นักวิจัยอาวุโสของสถาบันกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ระบุในบทความ พ.ศ. 2564 สำหรับเจแปนฟอร์เวิร์ด ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ

“ในตอนท้าย” เธอทำนาย “ความเป็นจริงที่กำลังพัฒนาของกิจกรรมและความรุนแรงของจีนในดินแดนหิมาลัย ทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก ได้รับการหล่อหลอมมากขึ้นจากการหลอมรวมระหว่างกองทัพกับพลเรือนในด้านเทคโนโลยีล่องหน เศรษฐกิจ และการเมือง”

ข้อมูลเชิงลึกของดร. ชานโซเรีย มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นจริงใน พ.ศ. 2566

เมื่อพิจารณาถึงระดับความก้าวร้าวและความทะเยอทะยานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน พันธมิตรและหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกต้องยืนยันถึงความสำคัญของการยึดถือกฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธในยามปลอดสงคราม เพื่อให้แน่ใจว่าพลเรือนจะได้รับความคุ้มครองที่พึงได้รับภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ หากเกิดความขัดแย้งขึ้น มิฉะนั้น กองทัพปลดปล่อยประชาชนจะพยายามใช้ประโยชน์จากหลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือนและเกียรติยศทางกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบ พลเรือนในจีน ไต้หวัน และที่อื่น ๆ อาจเผชิญกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงที่สุด


การยกระดับความคุ้มครองพลเรือนระหว่างปฏิบัติการ

แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการทบวงทหารบกเป็นผู้สนับสนุนร่วมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เพื่อการบรรเทาและตอบโต้อันตรายต่อพลเรือน

แผนปฏิบัติการบรรเทาและตอบโต้อันตรายต่อพลเรือนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผยแพร่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 จัดตั้งสถาบันและกระบวนการเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ เพิ่มประสิทธิภาพปฏิบัติการทางทหาร ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถของกองทัพในการบรรเทาอันตรายต่อพลเรือนระหว่างปฏิบัติการ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังปฏิบัติงานเพื่อ:

จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อเป็นศูนย์กลางและศูนย์อำนวยความสะดวกสำหรับการวิเคราะห์ การเรียนรู้ และการฝึกที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาและตอบโต้อันตรายต่อพลเรือน

ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้บัญชาการและผู้ปฏิบัติงานเข้าใจสภาพแวดล้อมของพลเรือนได้ดีขึ้น ปรับปรุงหลักการและแผนการปฏิบัติงานพร้อมคำแนะนำในการจัดการกับความเสียหายต่อพลเรือนในขอบเขตของความขัดแย้งทางอาวุธ เพื่อให้ทหารเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการบรรเทาและตอบโต้

พัฒนากระบวนการรายงานปฏิบัติการและการจัดการข้อมูลที่ได้มาตรฐาน รวมถึงแพลตฟอร์มองค์รวม เพื่อปรับปรุงวิธีที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เก็บรวบรวม แบ่งปัน และเรียนรู้จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอันตรายของพลเรือน

ปรับปรุงการประเมินและการตอบโต้อันตรายต่อพลเรือนที่เกิดจากปฏิบัติการทางทหาร

ผสานการบรรเทาและตอบโต้อันตรายต่อพลเรือนเข้ากับการฝึก การฝึกอบรม และการศึกษาทั่วทั้งกองกำลังร่วม ตลอดจนความร่วมมือด้านความมั่นคงและปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน

จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการประชุมโดยมีผู้นำทางทหารระดับสูงเป็นประธานร่วม เพื่อกำกับดูแลและชี้แนะแนวทางการดำเนินการตามแผนอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการทบวงทหารบกเป็นผู้สนับสนุนร่วมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เพื่อการบรรเทาและตอบโต้อันตรายต่อพลเรือน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button