การบูรณาการแบบหลายขอบเขต
โครงการคอนเวอร์เจนซ์ 22 ยกระดับการตระหนักรู้ในสถานการณ์ของพื้นที่การรบ

น.อ. แพทริก ฮินตัน/กองทัพอังกฤษ
ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาได้ทำการทดสอบในรัฐแคลิฟอร์เนียในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการบูรณาการและการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังทหาร ซึ่งเป็นความพยายามที่จุดประกายขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 เมื่อกองทัพอังกฤษและกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการปรับปรุงให้เกิดความทันสมัยร่วมกัน
โครงการคอนเวอร์เจนซ์ 22 คือแนวทางการเรียนรู้ที่ช่วยให้พันธมิตรสามารถผสานขีดความสามารถ ตลอดจนทดสอบยุทโธปกรณ์ ยุทธวิธี เทคนิค และกระบวนการใหม่ ๆ ผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายกับ “ศัตรู” ในระดับเดียวกันทั่วโลก รวมถึงในอินโดแปซิฟิก การมีส่วนร่วมนี้ช่วยให้กองกำลังร่วมสามารถบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเพื่อปรับปรุงการตระหนักรู้ในสถานการณ์ของพื้นที่การรบ เชื่อมต่อเซ็นเซอร์ และทำการตัดสินใจให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ในระหว่างโครงการนี้ กองทัพประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ เป็นครั้งแรกหลายต่อหลายครั้ง เครื่องบินเอฟ-35บี ไลท์นิ่ง 2 ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ทำการยิงแบบอัตโนมัติจากระบบยิงจรวดหลายลำกล้องของสหราชอาณาจักร เรดาร์ยีราฟแบบว่องไวหลายลำคลื่นของสหราชอาณาจักรเชื่อมต่อกับระบบบัญชาการรบสำหรับการป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนเครือข่ายการยิงแบบบูรณาการ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญเนื่องจากระบบบัญชาการรบสำหรับการป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการนี้เป็นระบบเฉพาะของสหรัฐฯ
มีการให้ความสำคัญกับการส่งกำลังบำรุงและดำรงสภาพการรบเป็นอย่างมาก ซอฟต์แวร์คาดการณ์สร้างคำแนะนำการเติมกำลังบำรุงภายใน 90 วินาที ซึ่งเป็นกระบวนการที่นักวางแผนกองพลน้อยอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง อากาศยานที่บังคับจากระยะไกล แอล3แฮร์ริส เอฟวีอาร์-90 ทำหน้าที่ส่งเลือดไปยังสถานการณ์จำลองเหตุการณ์วินาศภัยขนาดใหญ่ ในขณะที่แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ชื่อว่า ชุดสังเกตการณ์ที่แจกจ่ายออกไปเพื่อช่วยเหลืออาการบาดเจ็บที่ได้รับในสนามรบ ได้ช่วยให้มีการจัดการแบบเครือข่าย รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บและข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
โฮโลเลนส์ แว่นนิรภัยความเป็นจริงเสมือน ช่วยวิศวกรให้สามารถรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการซ่อมแซม นอกจากนี้ กองกำลังสหราชอาณาจักรและกองกำลังสหรัฐฯ ยังพิมพ์ชิ้นส่วน 3 มิติสำหรับยุทโธปกรณ์ของกันและกันอีกด้วย ความร่วมมือดังกล่าวช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นและลดภาระในการส่งยุทโธปกรณ์กลับ รวมถึงการสำรองอะไหล่ไว้ล่วงหน้า

การจัดการข้อมูลและสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า
เมื่อมีการใช้เซ็นเซอร์ทางอากาศและภาคพื้นดินหลายตัว จะเห็นได้ชัดว่าการบูรณาการแบบหลายขอบเขตไม่ได้ถูกจำกัดด้วยการรวบรวมข้อมูล อย่างไรก็ตาม การจัดการข้อมูลก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ “เครือข่ายนี้จะกลายเป็นรากฐานอย่างแท้จริง” นางคริสติน วอร์มุธ เลขาธิการกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ระบุในช่วงท้ายของโครงการประจำ พ.ศ. 2564 โดยเน้นถึงความสำคัญของ “เครือข่ายที่มั่นใจ เชื่อถือได้ และยืดหยุ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบทั้งหมดที่เราใช้”
ผู้เข้าร่วมโครงการคอนเวอร์เจนซ์ 22 ได้ค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับกระแสของข้อมูล โดยตระหนักว่าข้อมูลจะต้องถูกส่งไปยังผู้ที่อยู่ในสนามรบในลักษณะที่ช่วยยกระดับการตระหนักรู้ในสถานการณ์ของสนามรบ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยในด้านการตัดสินใจอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำเกี่ยวกับแบนด์วิดท์ด้วยเช่นกัน ดังที่นางวอร์มุธได้แสดงความเห็นไว้ เครือข่ายที่ยืดหยุ่นมีความสำคัญต่อการบูรณาการแบบหลายขอบเขต ดังนั้น เครือข่ายจึงต้องไม่ทำงานหนักเกินไป เพราะอาจทำให้ข้อมูลที่สำคัญส่งไปไม่ถึงผู้รับที่ต้องการ สงครามในอิรักและอัฟกานิสถานทำให้ได้เห็นถึงโครงการกองกำลังสัมพันธมิตรจากฐานที่มั่นคง โดยมีสถาปัตยกรรมเครือข่ายที่แข็งแกร่งซึ่งพัฒนามาเป็นเวลาหลายปี ผู้บัญชาการเริ่มคุ้นเคยกับข้อมูลด้านการปฏิบัติการในรูปแบบวิดีโอความละเอียดสูง โครงการคอนเวอร์เจนซ์ 22 ทำให้นักวางแผนตระหนักว่าการปกป้องเครือข่ายต้องอาศัยการเปลี่ยนไปใช้ภาพนิ่งหรือแม้แต่ข้อความในการอธิบายถึงเป้าหมาย และผู้บัญชาการก็ได้พบว่าการตัดสินใจแบบกระจายอำนาจเป็นหนึ่งในวิธีที่แก้ปัญหาได้ แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ใกล้แหล่งที่มามากกว่าศูนย์กลาง ซึ่งสามารถลดความต้องการของแบนด์วิดท์ ตลอดจนความล่าช้าในการประมวลผล
การจัดการพื้นที่การรบ
การจัดการพื้นที่การรบและความปลอดภัยในน่านฟ้ากลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาก เนื่องจากมีจำนวนเครื่องบินที่ขับและควบคุมจากระยะไกลเพิ่มมากขึ้น การใช้ข้อมูล
และเซ็นเซอร์ให้ดีขึ้นถือเป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายปัญหานี้ พล.อ. เจมส์ แม็ก
คอนวิลล์ เสนาธิการกองทัพบกสหรัฐอเมริกา กล่าวระหว่างโครงการคอนเวอร์เจนซ์
22 เช่น ซอฟต์แวร์กำหนดเป้าหมายที่กระจายข้อมูลจากเซ็นเซอร์ จะต้องมีการบูรณาการกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างกองกำลังทางบกและทางอากาศ
ในระหว่างโครงการคอนเวอร์เจนซ์ 22 หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้รับการทดสอบภาคสนามเพื่อสำรวจว่าจะสามารถบูรณาการตัวระบบเข้ากับการออกแบบที่วางรูปแบบไว้แล้วได้อย่างไร ผู้บัญชาการได้พบว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีประโยชน์ในการระบุและริเริ่มการติดต่อกับกองกำลังศัตรู ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงภัยของทหารในกองกำลังได้ การใช้เซ็นเซอร์ของหุ่นยนต์เป็นแนวหน้าของกองทหารได้พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการบังคับกองกำลังฝ่ายตรงข้ามให้เปิดเผยตำแหน่งเร็วขึ้น ในขณะที่หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีความแพร่หลายขึ้น หุ่นยนต์ทั่วไปก็ยังคงเป็นตัวช่วยที่พบได้บ่อยที่สุด ยุทโธปกรณ์ที่ทำงานจากระยะไกลทำให้ทหารได้รับอันตรายน้อยลง และขยายพื้นที่ในการสังเกตการณ์และการปฏิบัติงานให้กว้างขึ้น

มีการบูรณาการเต็มรูปแบบเกิดขึ้นหรือไม่
การบูรณาการกองกำลังข้ามเขตแดนระดับชาติยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น และผู้เข้าร่วมโครงการคอนเวอร์เจนซ์ 22 เน้นว่าการจัดโครงการคอนเวอร์เจนซ์เป็นครั้งที่สามนี้คือการทดสอบ ไม่ใช่การซ้อมรบแต่อย่างใด สิ่งสำคัญคือต้องเดินหน้าพยายามทำงานร่วมกันและบูรณาการต่อไปจนกว่าจะถึงการทดสอบโครงการครั้งถัดไป ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นใน พ.ศ. 2567 โครงการคอนเวอร์เจนซ์ 22 ถือเป็นกิจกรรมสำคัญท่ามกลางโครงการริเริ่มเกี่ยวกับการบูรณาการขนาดเล็กที่จัดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากความพยายามต่าง ๆ เช่น โครงการทหารแห่งโลกอนาคตของกองทัพอังกฤษ ความพยายามเหล่านี้จะต้องใช้ทั้งทรัพยากรและการจัดลำดับความสำคัญเพื่อดำเนินการไปข้างหน้า
แม้ว่าอุปสรรคอย่างความแตกต่างของนโยบายและข้อบังคับจะยังคงมีอยู่ ทว่าโครงการคอนเวอร์เจนซ์ 22 ก็เป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการแบบหลายขอบเขตข้ามเขตแดนระดับชาติ ประโยชน์สูงสุดที่ได้รับนั้นมาจากการใช้งานกองกำลังโดยมีเสรีภาพในการแก้ไขปัญหาและทดสอบ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่แท้จริงของความท้าทาย และมอบแนวทางแก้ไขให้แก่ผู้ที่มีโอกาสนำแนวคิดไปใช้ในสนามรบในท้ายที่สุด