ทรัพยากรส่วนรวมของโลกอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โอเชียเนีย

กองทัพ ยุคใหม่ ความเป็นพันธมิตร ที่เหนียวแน่นขึ้น

พันธมิตรในอินโดแปซิฟิกเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ลุกลามขึ้น

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ทคโนโลยีกำลังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่การทหารที่ได้รับมอบหมายให้รักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในอินโดแปซิฟิก ประเทศที่ทันสมัยขึ้นอย่างรวดเร็วกําลังเปลี่ยนโฉมคลังแสงด้วยความก้าวหน้าในการยกระดับตั้งแต่เครื่องบินล้ำสมัยและเรือดำน้ำที่เป็นตัวพลิกเกมไปจนถึงยานพาหนะไร้คนขับ เครื่องมือรับรู้อวกาศ และการยกระดับการป้องกันทางไซเบอร์ ในขณะเดียวกัน พันธมิตรด้านความมั่นคงกำลังส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างกองทัพที่มีแนวคิดเดียวกัน ตลอดจนผู้นำต่างก็กำลังพึ่งพาพลังของพันธมิตรระดับภูมิภาคเพื่อรักษาอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

การเน้นย้ำความพยายามในการปรับปรุงความทันสมัยของขีดความสามารถด้านกลาโหมในภูมิภาคนี้คือการอนุมัติกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการปรับปรุงของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเรียกร้องให้มีการใช้อาวุธที่มีกำลังในการตอบโต้การโจมตีใด ๆ โดยโจมตีดินแดนของฝ่ายตรงข้าม ญี่ปุ่นวางแผนที่จะซื้อขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์กที่ผลิตในสหรัฐฯ มากถึง 500 ลำภายในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 และเพิ่มจำนวนหน่วยกองกำลังป้องกันตนเองที่มีขีดความสามารถในการสกัดกั้นขีปนาวุธขึ้น 3 เท่าภายใน พ.ศ. 2574 แผนการทางกลาโหมของญี่ปุ่นยังเรียกร้องให้เพิ่ม อัปเกรด และผลิตขีปนาวุธขั้นสูงจำนวนมาก เช่นเดียวกับการพัฒนาอากาศยานล่องหน อาวุธความเร็วเหนือเสียง และยานพาหนะไร้คนขับ

สำนักข่าวแอสโซซิเอทเต็ดเพรสรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะใช้เงิน 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) เพื่อการป้องกันข้ามพื้นที่ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และอวกาศภายในช่วงสิ้น พ.ศ. 2570 หลังจากเปิดตัวกองบัญชาการป้องกันทางไซเบอร์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ญี่ปุ่นจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ขัดขวางการโจมตีทางไซเบอร์มากกว่าเดิมถึง 4 เท่า ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนนิวส์ ญี่ปุ่นก่อตั้งฝูงบินปฏิบัติการอวกาศใน พ.ศ. 2563 เพื่อตรวจสอบอวกาศและป้องกันดาวเทียมญี่ปุ่นจากการถูกโจมตีหรือความเสียหายจากขยะอวกาศ เรดาร์อวกาศห้วงลึกที่คาดว่าจะเริ่มใช้งานใน พ.ศ. 2566 จะช่วยเสริมสร้างความตระหนักด้านอวกาศทั้งในญี่ปุ่นและในสหรัฐฯ นางยูกะ โคชิโนะ ระบุในบล็อกเกี่ยวกับดุลทางการทหารสำหรับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์เมื่อ พ.ศ. 2563 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในอวกาศและโลกไซเบอร์ ซึ่งสมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น พ.ศ. 2565 ระบุว่าเป็นกุญแจสำคัญในการยับยั้งและต่อต้านภัยคุกคามด้านการรักษาความปลอดภัย

ในระหว่างการูดาชิลด์ 22 ในบาทูราจา อินโดนีเซีย หน่วยปฏิบัติการพิเศษจากอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ดำเนินการซ้อมจู่โจมและก่อวินาศกรรมในเวลากลางคืน จ.ส.ต. แมทธิว เครน/กองทัพบกสหรัฐฯ

การยกเครื่องนโยบายกลาโหมของญี่ปุ่นเกิดขึ้นจากการที่ประเทศต่าง ๆ มองสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็น “ความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ต่อสันติภาพ ความปลอดภัย และเสถียรภาพในญี่ปุ่นและทั่วทั้งภูมิภาค การคุกคามไต้หวันที่ปกครองตนเอง ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตน นับเป็นการคุกคามญี่ปุ่นเช่นกัน ดังเห็นได้จากขีปนาวุธทิ้งตัวที่รัฐบาลจีนยิงใส่น่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่นในระหว่างการซ้อมรบของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในบริเวณโดยรอบไต้หวันในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ การกระทำที่ยั่วยุของจีนยังก่อให้เกิดความไม่สบายใจเกี่ยวกับเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีความสำคัญต่อญี่ปุ่น อินโดแปซิฟิก และเศรษฐกิจโลก การทดสอบขีปนาวุธและภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากเกาหลีเหนือ ซึ่งได้ยิงขีปนาวุธข้ามญี่ปุ่นเช่นกัน ตลอดจนการรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจ “สั่นคลอนรากฐานของกฎระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามที่มั่นคงในอินโดแปซิฟิก” ตามรายงานจากยุทธศาสตร์กลาโหมของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565

“ขณะนี้ ไม่มีประเทศใดสามารถปกป้องความปลอดภัยของตนเองได้เพียงลำพัง” รายงานดังกล่าวระบุ “ในขณะที่ความท้าทายต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามยังคงดำเนินต่อไป ญี่ปุ่นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระชับความร่วมมือและการประสานงานร่วมกับพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน ซึ่งญี่ปุ่นแบ่งปันค่านิยมสากลและผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน”

ในการป้องกันการบีบบังคับ

กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้แซงหน้ากองทัพขนาดเล็กในภูมิภาคและมีความก้าวหน้าอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญกล่าว “อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากขีดความสามารถและการแก้ปัญหาของสหรัฐฯ มีส่วนช่วยให้การปรับใช้ระบบสำคัญ ซึ่งโดยปกติมักจะไม่สมมาตร สามารถรักษาเสถียรภาพของภูมิภาคโดยการยับยั้งภัยคุกคามของจีนและช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคปกป้องผลประโยชน์ของชาติไว้ได้” นายเบตส์ กิลล์ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาความมั่นคงของเอเชียแปซิฟิกจากมหาวิทยาลัยแมกควอรี ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ระบุไว้ในรายงานเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 สำหรับสำนักงานวิจัยเอเชียแห่งชาติ

ความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะอ้างสิทธิ์ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากร ตลอดจนการรุกล้ำน่านน้ำบริเวณรอบหมู่เกาะนาตูนาของอินโดนีเซีย ส่งผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องคอยระแวดระวัง ใน พ.ศ. 2564 จีนเรียกร้องให้อินโดนีเซียยุติการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใกล้กับเกาะดังกล่าว โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนของจีน ตามรายงานของรอยเตอร์ การอ้างสิทธิ์ของจีนอ้างอิงจากขอบเขตเส้นประเก้าเส้นที่กำหนดขึ้นโดยพลการ ซึ่งศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตัดสินว่าการอ้างสิทธิ์ดังกล่าวมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมาย เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559

อินโดนีเซียกำลังสร้างฐานเรือดำน้ำใกล้กับเกาะต่าง ๆ และย้ายกองทัพเรือไปยังพื้นที่ดังกล่าว ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก อินโดนีเซีย ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแผนจะใช้จ่าย 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท) ในโครงการด้านกลาโหมภายใน พ.ศ. 2567 อินโดนีเซียกำลังเจรจาเพื่อจัดหาเรือดำน้ำ ชั้นสกอร์ปิเน่ จำนวน 6 ลำ ตัวแทนของบริษัทนาวาลกรุ๊ป ของฝรั่งเศสกล่าวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565

นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย กล่าวว่า แผนการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ เอฟ-15 จำนวน 36 ลำที่ผลิตในสหรัฐฯ อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายเช่นกัน ตามรายงานข่าว นอกจากนี้ คำสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ ราฟาล ที่ผลิตในฝรั่งเศสหลายสิบลำก็กำลังคืบหน้าเช่นกัน เจ้าหน้าที่กลาโหมอินโดนีเซียกล่าวกับ ฟอรัม ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ภาคส่วนความมั่นคงของอินโดนีเซีย แม้อาจไม่ใช่ผู้นำทางการเมืองทั้งหมด ได้ตื่นขึ้นจากการคุกคามของการบีบบังคับในพื้นที่สีเทาของจีน” นายเกรกอรี โพลิง ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา กล่าวกับบลูมเบิร์ก ในรายงานเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยกล่าวถึงการกระทำก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นซึ่งบ่อนทำลายสถานะที่เป็นอยู่

“แผนการจัดซื้อทางเรือและทางอากาศดูเหมือนจะมุ่งไปที่การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการตระหนักรู้ในขอบเขต การลาดตระเวน และการป้องปรามจีน”

พล.ร.อ. ยูโด มาร์โกโน กล่าวในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับแผนการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนรอบหมู่เกาะนาตูนา ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเคอิ นอกจากนี้ พล.ร.อ. มาร์โกโนยังกล่าวว่าการฝึกทางทหารประจำปี การูด้าชิลด์ จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง การฝึกทวิภาคีดังกล่าวที่ดำเนินมาอย่างยาวนานระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ขยายตัวใน พ.ศ. 2565 โดยมีบุคลากร 4,000 คนจากกว่าสิบประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น

ใน พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่นวางแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมขึ้นร้อยละ 20 ซึ่งรวมถึงการซื้อเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เพิ่มเติม
ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การแข่งขันเทคโนโลยีที่สำคัญ

ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาด้านการรักษาความปลอดภัยที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลียในรอบหลายทศวรรษ แผนการแบ่งปันการออกแบบของสหราชอาณาจักรและเทคโนโลยีขับเคลื่อนนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จะช่วยพัฒนากองเรือดำน้ำติดอาวุธตามแบบแผนชุดต่อไปของออสเตรเลีย ซึ่งจะช่วยให้เรือสามารถล่องหนได้มากกว่าเรือดำน้ำแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังสามารถเดินทางได้เร็วและไกลขึ้นโดยไม่โผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ เรือดำน้ำขอพันธมิตรลำแรกที่เรียกว่า
เอสเอสเอ็น-อูกัส จะสามารถเข้าประจำการในสหราชอาณาจักรได้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2030 (พ.ศ. 2573 – 2582) กองทัพเรือออสเตรเลียคาดว่าจะได้รับ เอสเอสเอ็น ที่สร้างขึ้นในออสเตรเลียในช่วงต้นทศวรรษ 2040 (พ.ศ. 2583 – 2592)

สหรัฐฯ ยังวางแผนที่จะขายเรือดำน้ำ ชั้นเวอร์จิเนีย ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์อย่างน้อย 3 ลำให้แก่ออสเตรเลียภายในช่วงทศวรรษหน้า ในขณะเดียวกัน บุคลากรทางทหารและพลเรือนของออสเตรเลียได้ประจำการอยู่ในกองทัพเรือของพันธมิตรเพื่อการฝึก อีกทั้ง
สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาก็กำลังเพิ่มการเยี่ยมชมท่าเรือของออสเตรเลียด้วยเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์และจะเริ่มหมุนเวียนเรือดำน้ำผ่านออสเตรเลียเป็นประจำภายใน พ.ศ. 2570 กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผลลัพธ์สุดท้ายคือกองเรือดำน้ำที่ทำงานร่วมกันได้สูง 3 ลำที่ปฏิบัติการในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันในด้านขีดความสามารถใต้ทะเลที่นอกเหนือไปจากเรือดำน้ำ พร้อมด้วยไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อูกัสสามารถเสริมสร้างภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีของออสเตรเลียมานานหลายทศวรรษ

นายเฟอร์กัส แฮนสัน และนายแดเนียล เคฟ แห่งสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย กล่าวว่า “มีการตระหนักรู้มากขึ้นว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และสำคัญจะยิ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ” “ซึ่งทำให้การแข่งขันเพื่อควบคุมเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และสำคัญกลายเป็นประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ และไม่มีภูมิภาคใดที่การแข่งขันด้านนี้จะเข้มข้นมากไปกว่าภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของโลกมากมาย และได้กลายเป็นศูนย์รวมการแข่งขันทางเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์”

ใน พ.ศ. 2564 รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่าจะเริ่มสร้างขีปนาวุธนำวิถีโดยร่วมมือกับสหรัฐฯ จากนั้นใน 1 ปีต่อมา กองทัพออสเตรเลียได้เปิดเผยแผนการผลิตยานพาหนะใต้ทะเลไร้คนขับขนาดใหญ่พิเศษภายในประเทศโดยร่วมมือกับบริษัทอันดูริลอินดัสทรีส์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านกลาโหมของสหรัฐฯ ในรายงาน “การเผชิญความท้าทายทางทหารของจีน” สำนักงานวิจัยเอเชียแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ กล่าวว่าเทคโนโลยีไร้คนขับและระบบขีปนาวุธนำวิถีเป็น “สิ่งจำเป็นต่อการพลิกเกมความได้เปรียบของจีนจากความสามารถใหม่ ๆ และกำลังการผลิตจำนวนมากเพื่อสนับสนุนกองกำลังของตนในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง”

เครื่องบินของสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ ดำเนินการฝึกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ภายหลังการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
เจเรมี บุดเดอร์เมียร์/กองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้

“อาวุธเปลี่ยนเกม”

เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกด้านกลาโหมรายใหญ่อันดับ 8 ของโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2564 มีประวัติอันยาวนานในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ “ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเพื่ออำนาจสูงสุดทางเทคโนโลยี สิ่งสำคัญคือการรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบอาวุธที่เป็นตัวพลิกเกมสำหรับการทำสงครามในอนาคต” นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อปลาย พ.ศ. 2564 ตามรายงานของบลูมเบิร์ก

รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังเร่งพัฒนาระบบติดตามและสกัดกั้นขีปนาวุธโดยมีแรงกระตุ้นจากการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งดำเนินการยิงขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธทิ้งตัวมากกว่า 90 ครั้งใน พ.ศ. 2565 ตามรายงานของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ ระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูงที่มีอยู่ ซึ่งเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ปรับใช้ใน พ.ศ. 2560 ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 เพื่อปรับปรุงความสามารถในการทำงานร่วมกันกับการป้องกันขีปนาวุธแพทริออตของสหรัฐฯ ตามรายงานของกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังได้พัฒนาขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำควบคู่ไปกับเทคโนโลยีใต้ทะเลของประเทศ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับกองทัพที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และรัฐบาลเกาหลีใต้ได้เรียกร้องให้มีการใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับปัญญาประดิษฐ์ โดรน และอาวุธอัตโนมัติในทศวรรษหน้า

นายเดวิด เอ. ฮันนี รองปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านการวิจัยและวิศวกรรม กล่าวในระหว่างการประชุมศูนย์ที่ความมั่นคงและนานาชาติศึกษา เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ว่าสนธิสัญญาว่าด้วยการป้องกันร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ซึ่งครบรอบ 70 ปีใน พ.ศ. 2566 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างประเทศพันธมิตร

“เราตระหนักดีว่านักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และวิศวกรของประเทศเป็นบุคลากรที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก” นายฮันนีกล่าว “ประธานาธิบดีทั้งสองเห็นพ้องที่จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการปกป้องและส่งเสริมเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดใหม่ รวมถึงสารกึ่งตัวนำที่ทันสมัย แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีชีวภาพ การผลิตทางชีวภาพ และหุ่นยนต์อัตโนมัติ”

ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของเกาหลีใต้ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 เน้นย้ำถึงความเป็นพันธมิตรของเกาหลีใต้กับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ตลอดจนให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างกฎระเบียบระดับภูมิภาคตามบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง และเสริมสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ตรวจเยี่ยมเรือเคอาร์ไอ อุสมัน ฮารุน ของกองทัพเรืออินโดนีเซีย ณ หมู่เกาะนาตูนา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563
สำนักประธานาธิบดีอินโดนีเซียผ่านทาง ดิแอสโซซิเอทดิแอสโซซิ เพรส

วิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน

พลวัตด้านความมั่นคงและกลาโหมกำลังเปลี่ยนแปลงทั่วทุกมุมของอินโดแปซิฟิก อินเดียสั่งประจำการเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกที่สร้างขึ้นในประเทศเมื่อ พ.ศ. 2565 และทดสอบยิงขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลจากอากาศ ตลอดจนปรับใช้เฮลิคอปเตอร์โจมตีเบาที่ผลิตขึ้นเอง เวียดนามได้จัดแสดงยุทโธปกรณ์ทางกลาโหมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรวมถึงโดรน เรดาร์ และขีปนาวุธร่อนต่อต้านเรือที่ผลิตในประเทศ ใน พ.ศ. 2565 ฟิลิปปินส์ได้สั่งประจำการเรือเร็วโจมตีสกัดกั้นจำนวน 2 ลำ และวางแผนที่จะเพิ่มอีก 22 ลำ นอกเหนือไปจากระบบป้องกันภัยทางอากาศภาคพื้นดินที่จัดซื้อมาใหม่ ตลอดจนเรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์จัดซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ใหม่

ในขณะเดียวกัน ผู้นำทั่วทั้งภูมิภาคได้สนับสนุนความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง เช่น การฝึกและการฝึกซ้อมทางทหารระหว่างกองทัพต่าง ๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกคอบร้าโกลด์ที่สนับสนุนโดยไทยและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการฝึกร่วมพหุภาคีที่มีระยะเวลายาวนานที่สุดในโลก ได้รวมสมาชิกกองกำลังมากถึง 10,000 นายจาก 29 ประเทศ

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของความเป็นพันธมิตรในการรักษาสันติภาพของอินโดแปซิฟิก “เราได้ก้าวสู่วิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันสำหรับภูมิภาคนี้” นายออสตินกล่าวในระหว่างการประชุมแชงกรีลา พ.ศ. 2565 ที่สิงคโปร์ “การเดินทางที่เราทำร่วมกันในปีที่ผ่านมาเป็นการตอกย้ำความจริงพื้นฐานเท่านั้น นั่นคือ ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันในปัจจุบัน เราจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเราหาวิธีมารวมตัวกัน”

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button