ทรัพยากรส่วนรวมของโลกสภาพภูมิอากาศเรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอเชียใต้โอเชียเนีย

กองกำลัง ทดแทน

กองทัพอินโดแปซิฟิกยึดมั่นว่าจะใช้พลังงานอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับความยืดหยุ่นและขีดความสามารถ

ในช่วงค่ำของวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 เป็นเวลา 10 วันหลังจากการลงนามสงบศึกเพื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นายจอร์จ เคอร์ซอน สมาชิกคณะรัฐมนตรีของสงครามอังกฤษ เป็นประธานในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่การประชุมเชิงปฏิบัติการปิโตรเลียมระหว่างพันธมิตร นายเคอร์ซอนร่วมดื่มอวยพรให้แก่ผู้แทนที่มารวมตัวกันในกรุงลอนดอน พร้อมทั้งประกาศว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้ “มุ่งไปสู่ชัยชนะด้วยพลังแห่งน้ำมัน” ซึ่งเห็นได้จากกองรถบรรทุกจำนวนมหาศาล นายอองรี เบรองเช ผู้แทนชาวฝรั่งเศส ระบุว่าเยอรมนีถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะเนื่องจากมีการสะสมถ่านหินไว้เป็นจำนวนมาก ทว่าฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมีชัยเหนือกว่าอันเนื่องมาจากน้ำมัน นายเบรองเชระบุว่า นี่เป็นชัยชนะของรถยนต์เหนือการใช้รางรถไฟ

กว่าหนึ่งศตวรรษหลังจากความขัดแย้งระดับโลกในครั้งนั้นนำพาเข้าสู่ยุคภูมิรัฐศาสตร์ที่นานาชาติต่างแย่งชิงน้ำมันกัน กองทัพและหน่วยงานด้านกลาโหมทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกถือเป็นผู้นำในด้านความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ซึ่งมีโอกาสจะเป็นหมุดหมายของยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่รากฐานที่ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพและยานพาหนะไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ ไปจนถึงเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากชีวมวล เช่น สาหร่าย พืชผล และของเสียจากครัวเรือน กองกำลังติดอาวุธกำลังเร่งที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานทดแทน วิวัฒนาการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับปฏิบัติการทั้งในยามสงบสุขและยามมีศึกสงคราม ในขณะเดียวกันก็ลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตราย มีหลายปัจจัยที่ร่วมผลักดันให้เกิดนวัตกรรม ได้แก่ คำสั่งของพลเรือนและทหารเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสร้างความยืดหยุ่น ปริมาณเชื้อเพลิงฟอสซิลสำรองที่ลดลง ความตึงเครียดของการจัดหาน้ำมันและก๊าซอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ เช่น สงครามในยูเครน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาดเพื่อเตรียมความพร้อมให้ดีขึ้นและปกป้องกองกำลัง

“ระบบพลังงานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยมีผลกระทบที่กองทัพไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” น.ท. อูลาส ยิลดิริม ผู้บัญชาการกองทัพอากาศออสเตรเลีย ซึ่งขณะนั้นเป็นนักวิจัยอาคันตุกะแห่งสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย ได้เขียนไว้ในรายงานของสถาบันวิจัย ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 “การพึ่งพาการนำเข้าเพื่อความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงเหลวของออสเตรเลีย ทำให้กองทัพออสเตรเลียตกอยู่ในความเสี่ยง โดยความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่ว่ากองทัพออสเตรเลียสามารถเข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการและจะดำเนินการได้ไม่ดี ทว่ากลับอยู่ที่ว่าจะสามารถไปถึงที่นั่นได้หรือไม่… ซึ่งในบริบทนี้ การเปลี่ยนผ่านของกองทัพออสเตรเลียไปสู่แหล่งพลังงานทดแทนนั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ ซึ่งส่งผลให้ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานถูกบั่นทอนหรือลดประสิทธิภาพลง การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานทดแทนอย่างรวดเร็วจะทำให้กองทัพออสเตรเลียมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำตามคำสั่งและความต้องการของรัฐบาลออสเตรเลียในโลกและภูมิภาคที่มีการแบ่งแยกและอันตรายมากขึ้น ซึ่งเรากำลังประสบอยู่”

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ได้รับการปรับปรุงยังเป็นหัวใจสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของทบวงทหารอากาศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแผนที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 หน่วยงานดังกล่าวระบุว่า “เป้าหมายโดยรวมของเราคือการส่งมอบกำลังรบจำนวนมากขึ้นให้แก่ผู้ที่อยู่ในสนามรบโดยที่ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง”

ขบวนรถของกองทัพฝรั่งเศสบรรทุกทหารและสินค้าที่เมืองนิกเซวิลล์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ระหว่าง ยุทธการที่แวร์เดิงใน พ.ศ. 2459 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การสร้างความสำเร็จ

ที่โรงเก็บเครื่องบินบรรทุกน้ำมัน ณ ฐานทัพอากาศชางงี กองทัพสิงคโปร์ไม่เพียงดำเนินการลดการใช้เชื้อเพลิง แต่ยังสร้างพลังงานทดแทนที่เพียงพอเพื่อใช้ในภาคส่วนอื่น ๆ ของฐานทัพ แผงพลังงานแสงอาทิตย์ การระบายอากาศตามธรรมชาติ หลังคาที่ปกคลุมด้วยหญ้า และวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็กักเก็บน้ำฝนไว้เพื่อการชลประทานและการใช้งานที่นอกเหนือจากการบริโภค “พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับสิงคโปร์ และเราได้เริ่มติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่เหมาะสมในค่ายทหารและฐานทัพ ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดประมาณ 20 เมกะวัตต์” พล.จ. เฟรเดอริก ชู หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนแห่งกองทัพบกสิงคโปร์และกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ กล่าวกับ ฟอรัม

“ภายใน พ.ศ. 2568 ค่ายทหารที่เหลือทั้งหมดจะได้รับการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเหมาะสม โดยจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมได้สูงสุดประมาณ 50 เมกะวัตต์” ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าสำหรับมากกว่า 12,500 ครัวเรือนต่อปี พล.จ. ชูระบุ “นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรายังทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับชาติเพื่อสำรวจเกี่ยวกับเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำซึ่งตั้งอยู่ภายในที่ดินของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์”

สิงคโปร์ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 96 จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่งผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย และนำเข้าในรูปของเหลวจากประเทศที่ไกลออกไปอย่างแอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ เนื่องด้วยมีมวลที่ดิน 720 ตารางกิโลเมตร นครรัฐที่มีประชากร 5.6 ล้านคนจึงถูกจำกัดปริมาณพลังงานทดแทนที่สามารถผลิตได้จากแหล่งพลังานต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ตามรายงานของหน่วยงานการตลาดด้านพลังงานของรัฐบาล ในช่วงปลาย พ.ศ. 2564 เจ้าหน้าที่ประกาศแผนการนำเข้าไฟฟ้าของสิงคโปร์ประมาณหนึ่งในสามจากแหล่งพลังงานทดแทนที่มีคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานลมและโรงไฟฟ้าพลังน้ำภายใน พ.ศ. 2578

โครงการริเริ่มด้านพลังงานทดแทนของกองทัพบกสิงคโปร์และกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ มีความสอดคล้องกับแผนสิงคโปร์สีเขียว พ.ศ. 2573 โดยที่ “การเคลื่อนไหวทั้งหมดของประเทศที่เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อยกระดับวาระแห่งชาติของสิงคโปร์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” พล.จ. ชูกล่าว กองทัพพยายามที่จะอยู่ในระดับแนวหน้าของความพยายามเหล่านั้น โดยมีแผนที่จะเปลี่ยนกองยานพาหนะของกองทัพเป็นยานพาหนะไฟฟ้าภายใน พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมและสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อผลิตพลังงานด้วยก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากเศษอาหาร โดยที่ในขณะเดียวกันนั้น กองทัพอากาศสิงคโปร์กำลังจะเริ่มการทดลองใช้เชื้อเพลิงสำหรับการบินอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 บางลำ

“ไม่เพียงเท่านั้น การปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังได้รับผลตอบแทนเป็นข้อได้เปรียบในการดำเนินงาน” ดร.อึ้ง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ กล่าวต่อรัฐสภา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ณ การเปิดตัวโรงเก็บเครื่องบินชางงี โดยอ้างถึงงานวิจัยของกองทัพเรือสิงคโปร์เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดที่ประหยัดพลังงานเพื่อเพิ่มความทนทาน

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ฐานทัพอากาศมิซาวะในญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพลังงานด้านโลจิสติกส์กลาโหมของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 20 ในเกือบ 700 อาคาร และลดการใช้งานไฟฟ้าประจำปีของฐานทัพได้ถึงร้อยละ 60 ฐานทัพอากาศมิซาวะ

การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

ความก้าวหน้าด้านความยั่งยืนของสิงคโปร์เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาคนี้ “กองทัพของบางประเทศในเอเชียกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับกระบวนทัศน์ด้านพลังงานแบบใหม่ ท่ามกลางความกังวลด้านความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเกิดขึ้นของตัวเลือกทรัพยากรทดแทนที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงาน” ตามรายงานของนิตยสารข่าวกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 สำหรับอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล “ความจำเป็นด้านความมั่นคงทางพลังงานยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับกองทัพของทั้งสองประเทศ เนื่องจากภารกิจด้านความมั่นคงแห่งชาติที่ซับซ้อน ซึ่งได้แก่ การป้องปรามการรุกรานของจีน การเตรียมความพร้อมสำหรับลักษณะที่คาดเดาไม่ได้อาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ และการเอาชนะภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม เมื่อแหล่งพลังงานทางเลือกมีศักยภาพมากขึ้น ประเทศเหล่านี้และกองทัพจึงกำลังพยายามที่จะหันมาใช้พลังงานเหล่านี้แทน”

เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ สมุดปกขาวทางกลาโหมของญี่ปุ่นได้ระบุถึงผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น มีการใช้งานบ่อยยิ่งขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภาระที่เพิ่มขึ้นในด้านฐานทัพและยุทโธปกรณ์ทางทหาร นับเป็นการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นครั้งแรกในรายงานประจำปีเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมและความท้าทายด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นเผยแพร่เมื่อไม่นานหลังจากจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจของกระทรวงกลาโหมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเป็นสังคมปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ภายใน พ.ศ. 2593

ในการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นโดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 นายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ระบุว่า สำนักงานในสังกัดของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นอย่างน้อยร้อยละ 50 จะเริ่มผลิตไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในปีงบประมาณนั้น กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นยังได้พัฒนาต้นแบบยานพาหนะภาคพื้นดินที่มีเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าแบบไฮบริด และร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของยานพาหนะกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น “ในมุมมองของผม กิจกรรมเพื่อการป้องกันประเทศและกิจกรรมด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมควรจะสามารถดำเนินไปพร้อม ๆ กันได้” นายคิชิกล่าว

กองทัพอินเดียต้องการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมาโดยการแทนที่ยานพาหนะขนาดเล็กร้อยละ 25 รถโดยสารร้อยละ 38 และรถจักรยานยนต์ร้อยละ 48 ด้วยยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าในบางหน่วยในยามสงบสุขจากสงคราม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 กองทัพบกกำลังสร้างสถานที่ชาร์จยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าในลานจอดรถตามห้างสรรพสินค้าและที่อยู่อาศัย รวมถึงพัฒนาจุดชาร์จด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อินเดียครองตำแหน่งประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก โดยใช้พลังงานถ่านหินคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 70 ของภาคพลังงาน และรัฐบาลอินเดียได้กำหนด “เป้าหมายด้านพลังงานทดแทนที่มุ่งหวังสูง” ตามรายงานของหน่วยงานบริหารการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ

เรือบรรทุกน้ำมัน เคซี-30เอ ของกองทัพอากาศออสเตรเลีย เติมน้ำมันให้แก่เครื่องบินขับไล่ เอฟ-2เอ ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นบนน่านฟ้าญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 กองทัพอากาศออสเตรเลียกำลังพัฒนาชุดอุปกรณ์แบบพกพาเพื่อผลิตเชื้อเพลิงการบินจากชีวมวลและแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนอื่น ๆ กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ความยืดหยุ่นของสนามรบ

เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังมีประโยชน์ในด้านยุทธวิธีด้วยเช่นกัน “กองทัพออสเตรเลียใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบนี้อย่างพอประมาณ” น.ท. ยิลดิริม ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรม รายงานต่อสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย “มีการทดลองใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนเสริมขีดความสามารถในการลาดตระเวนของยานเกราะ ยานพาหนะที่มีเสียงเงียบมีข้อได้เปรียบอย่างใหญ่หลวงในสนามรบ”

ในทำนองเดียวกัน ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะแบบไฮบริดยังมีข้อจำกัดความสุ่มเสี่ยงด้านการส่งกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สมบุกสมบัน ตามรายงานของ นายพอล ฟาร์แนน ผู้ช่วยเลขาธิการกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ด้านสถานปฏิบัติการทางทหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม “หากเราสามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะได้ร้อยละ 30, 40 และ 50 ปริมาณดังกล่าวถือเป็นครึ่งหนึ่งของเชื้อเพลิงที่เราต้องปกป้องไว้ในขณะนี้” นายฟาร์แนนระบุในการเปิดตัวแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศของกองทัพบกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นแผนที่เรียกร้องเกี่ยวกับยานพาหนะที่ใช้งานเบาและไม่ใช้ยุทธวิธีให้ไม่มีการปล่อยมลพิษ และสำหรับการพัฒนายานพาหนะมีล้อและยานพาหนะเพื่อการสู้รบทางยุทธวิธีแบบไฮบริดไดรฟ์ โดยทั้งสองประเด็นต้องสำเร็จภายใน พ.ศ. 2570 “นั่นคือครึ่งหนึ่งของวินาศภัยที่เราต้องเดิมพัน คือครึ่งหนึ่งของกำลังรบที่เราดึงออกมาจากการสู้รบ”

ยานพาหนะเหล่านั้นยังสามารถใช้งานได้ด้วยระบบไฟฟ้า เช่น การสื่อสารและเรดาร์ โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ “ซึ่งช่วยลดอะคูสติกซิกเนเจอร์และเทอร์มอลซิกเนเจอร์ของคุณ สองสิ่งที่อาวุธสามารถทำให้เกิดรอยได้” นายฟาร์แนนระบุในระหว่างเหตุการณ์ ณ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ “ดังนั้น การทำเช่นนี้ เราไม่เพียงแต่จะลดปริมาณเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะเหล่านี้และปริมาณเชื้อเพลิงที่เราต้องโยกย้ายไปยังสนามรบเท่านั้น แต่เรายังสามารถป้องกันทหารของเราได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”

นอกจากนี้ กองทัพอากาศในออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ยังกำลังพัฒนายุทโธปกรณ์พกพาเพื่อผลิตเชื้อเพลิงสำหรับการบินจากชีวมวลและแหล่งที่มาที่ยั่งยืนอื่น ๆ น.ท. ยิลดิริม ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้มีการบินโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลของกองทัพออสเตรเลียเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2555 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าวิศวกรที่สำนักงานเชื้อเพลิงร่วมและน้ำมันหล่อลื่นของกองทัพอากาศออสเตรเลีย ระบุ น.ท. ยิลดิริมระบุเพิ่มเติมว่า ชุดอุปกรณ์ดังกล่าว “มีประสิทธิภาพในการผลิต ณ จุดใช้งานแทนที่จะพึ่งพาระบบการกระจายที่ซับซ้อนในสถานที่ที่ยากลำบาก”

วิศวกรติดตั้งระบบแบตเตอรี่ลิเธียมในยานพาหนะภาคพื้นดินที่ทำงานอัตโนมัติ ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของกองบัญชาการพัฒนาขีดความสามารถในการสู้รบแห่งกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ในรัฐแมรี่แลนด์ ทีแจ เอลลิส/กองทัพบกสหรัฐอเมริกา

กองกำลังที่จะไม่ล้าสมัยในอนาคต

การลงทุนด้านพลังงานสะอาดทั่วโลกต่อปีคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 70 ล้านล้านบาท) ภายใน พ.ศ. 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ของ พ.ศ. 2565 ตามรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ การรุกรานยูเครนโดยไร้ซึ่งเหตุผลของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 และสงครามที่ตามมาก่อให้เกิด “วิกฤตการณ์ด้านพลังงานระดับโลกเป็นครั้งแรก เมื่อดูจากผลกระทบวงกว้างและความซับซ้อนแล้วก็น่าตกใจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้น้ำมันและถ่านหินไปเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทนอื่น ๆ แทน ตามรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศในช่วงปลาย พ.ศ. 2565

ในฐานะหน่วยงานที่ใช้พลังงานมาก กองกำลังติดอาวุธของโลกจะถูกปรับเปลี่ยน รวมถึงสามารถช่วยกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ เช่น กองทัพออสเตรเลียใช้จ่ายน้ำมันมากกว่าสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ใน พ.ศ. 2559 – 2560 โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) น.ท. ยิลดิริมระบุ โดยเสริมว่า เชื้อเพลิงที่ใช้ในการดำเนินงานของกองทัพออสเตรเลียส่วนใหญ่มาจาก “น้ำมันดิบจากแหล่งที่มาทั่วโลกที่ไหลผ่านโรงกลั่นจำนวนหนึ่งในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” “อย่างไรก็ตาม การตระเตรียมทรัพยากรสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหามากขึ้น”

แนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตหรือความขัดแย้งจากการจำกัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศอย่างออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันกลั่นสุทธิ อีกทั้งยังพึ่งพาปิโตรเลียมประมาณหนึ่งในสามของการใช้พลังงานในประเทศ คำแนะนำของ น.ท. ยิลดิริม ในการบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการเปลี่ยนผ่านยานพาหนะที่ไม่ได้ใช้เพื่อการสู้รบของกองทัพออสเตรเลียเป็นยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า การนำพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทนอื่น ๆ มาใช้ในการยกระดับสถานปฏิบัติการทางทหาร และการเผยแพร่การใช้เทคโนโลยีการจำลองสำหรับการฝึกอบรมและการซ้อมรบเพื่อลดการใช้พลังงาน

นอกจากนี้ น.ท. ยิลดิริมยังเรียกร้องให้ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของหน่วยงานในภาคส่วนการค้า เช่น สายการบินและบริษัทขนส่ง ตลอดจนสถาบันวิจัยพลเรือนและกองทัพที่เป็นหุ้นส่วน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำซ้ำและยกระดับความสามารถในการทำงานร่วมกัน “กองทัพออสเตรเลียที่จะไม่ล้าสมัยในอนาคตนั้นจำเป็นต้องมีการเติบโตของภาคส่วนเชื้อเพลิงทางเลือกในออสเตรเลีย เพื่อตอบสนองความต้องการที่กว้างขึ้น ซึ่งรวมถึงกองทัพออสเตรเลีย แต่ก็ไม่ได้กำหนดโดยกองทัพออสเตรเลียเพียงหน่วยงานเดียว” น.ท. ยิลดิริมระบุ “ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการร่วมมือกัน เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบการรายใดหรือองค์กรใดที่ผูกขาดในภาคส่วนพลังงาน”

ห้องปฏิบัติการวิจัยของกองทัพอากาศสหรัฐฯ นาซา และโบอิ้งได้พัฒนาเครื่องบิน เอ็กซ์-48บี ซึ่งเป็นต้นแบบเครื่องบินปีกผสมผสานที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษ นาซา

ความแน่นอนของภารกิจ

เนื่องจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนดังกล่าวมีรากฐานอยู่ทั่วอินโดแปซิฟิก แนวทางของทั้งสังคมเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์แก่กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดของรัฐบาล และยังเป็นหนึ่งในผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก กองทัพสหรัฐฯ เพิ่มการผลิตพลังงานทดแทนขึ้นเกือบสองเท่าตั้งแต่ พ.ศ. 2554 – 2558 ซึ่งแซงหน้าประเทศอื่นไปไกล ตามรายงานของ นายเจมส์ แกรนท์ ผู้จัดการโครงการด้านพลังงาน การเติบโต และความมั่นคงของศูนย์ภาษีและการลงทุนระหว่างประเทศในสหรัฐฯ “ในยุคใหม่ที่แหล่งพลังงานทดแทนอาจเป็นความแตกต่างระหว่างกองกำลังที่ว่องไวและปลอดภัยกับกองกำลังที่อ่อนแอซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างฉับพลันและโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าสมัย สหรัฐอเมริกาแทบจะไม่สามารถนิ่งนอนใจได้” นายแกรนท์เขียนระบุไว้ในบทความเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ของนิตยสารเดอะ เนชันนัล อินเตอเรสต์ ซึ่งระบุว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เพิ่มเป้าหมายสำหรับเทคโนโลยีพลังงานทดแทน “เช่นเดียวกับการที่กองทัพสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่นิวเคลียร์ของทั้งสามเหล่าทัพเพื่อป้องปรามศัตรูในช่วงสงครามเย็น จุดมุ่งหมายในศตวรรษที่ 21 ควรจะเพิ่มความได้เปรียบในฐานะกองกำลังที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงาน”

กองทัพสหรัฐฯ กำลังดำเนินการตามเป้าหมายนี้ในหลายแง่มุม โดยมีแรงผลักดันเพิ่มเติมจากคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางทั้งหมดต้องบรรลุเป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าที่ปราศจากมลพิษภายใน พ.ศ. 2573 ซึ่งอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะต้องจัดหาพลังงานสะอาดในท้องถิ่น รวมถึงยังมีเป้าหมายอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน กระทรวงกลาโหมและสำนักงานย่อยได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว โดยการดำเนินการตามแผนการบรรเทาและความยืดหยุ่นเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุม โครงการริเริ่มต่าง ๆ ได้แก่:

กองทัพบกสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำงานร่วมกับผู้ผลิตอย่างบริษัทเจนเนอรัล ไดนามิกส์ แลนด์ ซิสเต็มส์ ได้เปิดตัวต้นแบบของ อับรามส์ รถถังรุ่นใหม่ของตนเองในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 อับรามส์เอ็กซ์ ใช้งานระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบบไฮบริดที่จะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และช่วยให้ลูกเรือสามารถใช้งานเซ็นเซอร์และระบบอื่น ๆ ได้โดยไม่มีเสียงรบกวนและความร้อนจากเครื่องยนต์ “สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความร้ายแรงของพลังทำลายและความอยู่รอดของยานพาหนะได้ อีกทั้งยังขยายขอบเขตการดำเนินงานอย่างมหาศาล” ตามรายงานของนิตยสารเดอะ เนชันนัล อินเตอเรสต์ ในลักษณะเดียวกัน บริษัทอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมทั้งห้ารายในโครงการยานรบหุ้มเกราะแบบเสริมกำลังของกองทัพบกเพื่อแทนที่ยานรบทหารราบอย่าง เอ็ม2 แบรดลีย์ ได้เสนอการออกแบบระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบบไฮบริด

นอกจากจะส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงการบินอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น รวมถึงการสำรวจการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครื่องบินขนาดเล็กและอากาศยานปีกหมุนแล้ว กองทัพอากาศสหรัฐฯ ยังกำลังร่วมมือกับนาซา บริษัทกลาโหม และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อพัฒนาเครื่องบินปีกผสมผสานที่มีแรงฉุดน้อยลงและมีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น ด้วยเชื้อเพลิงการบินคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของการใช้พลังงานของสำนักงานย่อย ความก้าวหน้าดังกล่าวยังคงมีความจำเป็นต่อสหรัฐฯ ในการรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเหนือจีนและประเทศอื่น ๆ ตามรายงานของ นายจอห์น สเนเดน หัวหน้าคณะกรรมการการขับเคลื่อนแห่งกองทัพอากาศ “ผมขอบอกเคล็ดลับว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณมีความได้เปรียบอยู่ สิ่งสำคัญคือต้องคอยระวังด้านหลังของคุณอยู่เสมอ” นายสเนเดนกล่าวในระหว่างการประชุมว่าด้วยอากาศ อวกาศ และไซเบอร์ของสมาคมกองทัพอากาศและอวกาศ ในรัฐแมรี่แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 “ศัตรูกำลังตามหลังคุณมาเร็วมากเพียงใด เกิดอะไรขึ้น เราไม่สามารถเอาตัวรอดด้วยความได้เปรียบนี้ได้ตลอดไป เราต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ”

นาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา กำลังสร้างรากฐานของความก้าวหน้าด้านพลังงานที่ยั่งยืน ตั้งแต่การประจำการเรือดำน้ำและเรือพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของโลกเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ไปจนถึงการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพในช่วงกลางทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) และการใช้งานเครื่องบินและเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ของอากาศยานและเรือที่บางส่วนขับเคลื่อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ใน พ.ศ. 2565 ฐานทัพส่งกำลังบำรุงนาวิกโยธินอัลบานีในจอร์เจีย ได้กลายเป็นค่ายทหารแห่งแรกของกระทรวงกลาโหมที่จะบรรลุในด้านการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งหมายความว่าฐานทัพสามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน เช่น กังหันไอน้ำชีวมวลและเครื่องกำเนิดก๊าซจากหลุมฝังกลบได้มากกว่าที่ใช้จากผู้ให้บริการสาธารณูปโภคเป็นประจำทุกปี

โครงการริเริ่มดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลในเหล่าพลเรือนด้วย “กองทัพสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมาตลอด และจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไปในด้านพลังงาน” นายแกรนท์เขียนระบุไว้ในนิตยสารเดอะ เนชันนัล อินเตอเรสต์ “นอกจากได้ยกระดับความมั่นคงให้ดีขึ้นผ่านพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ประชาชนยังได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานขั้นสูงอย่างทั่วถึงอีกมากมายอีกด้วย”

หน้าที่หลักของกองทัพและองค์กรกลาโหมในอินโดแปซิฟิกยังคงไม่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของผลประโยชน์จากพลังงานทดแทน “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภารกิจของเรายังคงเป็นการบิน การต่อสู้ และการได้รับชัยชนะเสมอ” นายแฟรงก์ เคนดัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ที่ว่าด้วยการเปิดเผยแผนสภาพภูมิอากาศของหน่วยงาน “เราให้ความสำคัญกับความทันสมัยและการปรับปรุงวิธีการดำเนินงานของเราเมื่อเทียบกับความท้าทายด้านความเร็วของเรา นั่นก็คือ จีน เรายังคงมีความพร้อมที่จะตอบสนองและบรรลุการเป็นผู้นำทางอากาศและอวกาศอยู่เสมอเมื่อประเทศต้องการเรา

“ภารกิจของเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลง ทว่าเราตระหนักดีว่าโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเราต้องเตรียมพร้อมที่จะตอบสนอง ต่อสู้ และเอาชนะในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button