อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์สานต่อความมุ่งมั่นในการร่วมมือกัน
กัสดี ดา คอสตา
เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ระบุว่า การลาดตระเวนทางทะเลและทางอากาศร่วมที่ดำเนินการโดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคี พ.ศ. 2560 ยังคงแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและยังคงมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางทะเลของอินโดแปซิฟิก ทั้งสามประเทศตกลงกันในเดือนมิถุนายนว่าจะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต
การลาดตระเวน การประสานงาน และการแบ่งปันข่าวกรองที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคี เป็นที่รู้จักกันในชื่อ อินโดมาลฟี การลาดตระเวนประสบความสำเร็จในการตอบโต้ภัยคุกคาม ซึ่งรวมถึงการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการก่อการร้าย โดยไม่มีเหตุการณ์คุกคามเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของ พ.ศ. 2566 ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการรายงานการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธ 99 ครั้งในพื้นที่ลาดตระเวน
“ผลของการลาดตระเวนร่วมกันประเมินได้จากอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ลดลง การละเมิดกฎหมายและการละเมิดดินแดนที่ลดลง และการเกิดความไม่สงบด้านความมั่นคงในพื้นที่ปฏิบัติการที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชายแดนของทั้งสามประเทศที่เข้าร่วม” น.อ. อี มาดี วีรา ฮาดี อาร์ซานตา โฆษกกองทัพเรืออินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม
ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน เจ้าหน้ารัฐจากทั้งสามประเทศตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือผ่านการเยือนท่าเรือไตรภาคี กิจกรรมการฝึกอบรมทางทะเล และการกลับมาปฏิบัติการของทีมลาดตระเวนภารกิจร่วมใน พ.ศ. 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการระงับไว้เนื่องจากข้อจำกัดด้านโควิด-19 การขยายข้อตกลงเกิดขึ้นระหว่างการประชุมคณะทำงานร่วมอินโดมาลฟี ครั้งที่ 21 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน
นอกจากการควบคุมผู้ไม่ประสงค์ดีแล้ว ความร่วมมืออินโดมาลฟียังได้รับคำชมในที่ประชุมคณะทำงานร่วมสำหรับบทบาทในการช่วยเหลือผู้คน 27 คนในทะเลซูลูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์จากเรือติดธงชาติฟิลิปปินส์ที่มีตัวเรือเป็นไม้ชื่อ เอ็มแอล ริฮาน่า ซึ่งใช้การไม่ได้
น.อ. โรมิโอ ที. ราคาดิโอ ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธินที่ 2 ของนาวิกโยธินฟิลิปปินส์ กล่าวชื่นชมความพยายามร่วมกันของศูนย์บัญชาการทางทะเลในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ที่ทำให้การช่วยเหลือสำเร็จได้โดยใช้เรือลาดตระเวนชายฝั่งของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ บีอาร์พี ฟลอเรนซิโอ อินิโก
“การช่วยเหลืออย่างปลอดภัยเป็นผลมาจากการทำข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์” น.อ. ราคาดิโอกล่าวหลังจากการช่วยเหลือ ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล
การลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเลที่ประสานงานโดยอินโดมาลฟีจัดขึ้นสี่ครั้งต่อปีในทะเลซูลูและสุลาเวสี น.อ. อาร์ซานตาอธิบาย วัตถุประสงค์คือ “เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยของประเทศของตนโดยบังคับใช้กฎหมายตามกฎหมายและข้อบังคับที่มีอยู่ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับรัฐชายฝั่ง ตลอดจนนโยบายระหว่างประเทศและการจัดการอาชญากรรมข้ามชาติ” น.อ. อาร์ซานตา
และกล่าวเสริมว่าการฝึกซ้อมทางทะเลร่วมกันจะดำเนินการในระหว่างการนัดพบกันตามปกติของเรือลาดตระเวนจากทั้งสามประเทศ
จะมีการขยายความร่วมมือไปถึงการแบ่งปันข้อมูลและข่าวกรองเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ นายมาร์เซลลัส ฮาเคง จายาวิบาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือชาวอินโดนีเซียและกัปตันเรือพลเรือน กล่าวกับ ฟอรัม
โดยกล่าวเพิ่มเติมว่าทะเลซูลูและสุลาเวสีเชื่อมต่อกับช่องทางเดินเรือของทะเลจีนใต้ที่ผ่านช่องแคบมาคัสซาร์และลอมบอกซึ่งมีการค้ามนุษย์อย่างหนัก น่านน้ำเหล่านี้ยังเป็นแหล่งหาปลาของประเทศในกลุ่มอินโดมาลฟีทั้งสามประเทศ นายฮาเคงกล่าว
อินโดมาลฟีได้กดดันผู้ก่อการร้ายอย่างต่อเนื่องและช่วยปราบปรามกลุ่มอาบูไซยาฟ ซึ่งทำการโจมตีทางทะเลและการลักพาตัวผู้คนจากฐานทัพในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ในช่วงสองทศวรรษแรกของศตวรรษนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยคน นายฮาเคงกล่าว
“อินโดมาลฟีเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จโดยแท้จริงของทั้งสามประเทศ” นายฮาเคงกล่าวสรุป “ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของความร่วมมือกันของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เพื่อรักษาเสถียรภาพของความมั่นคงของอาณาเขตทางทะเลและต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด การลักพาตัว และการก่อการร้ายข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาความมั่นคงทางทะเลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงในการเดินเรือและปกป้องอธิปไตยของประเทศต่าง ๆ”
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย