ประเทศต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิกยกระดับความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกได้เพิ่มความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์
เช่น ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ทางการอินโดนีเซียได้ตั้งข้อหาบุคคล 12 คน ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตํารวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ลักลอบค้ามนุษย์ 122 คนเพื่อขายไตสำหรับการปลูกถ่าย ตามรายงานของรอยเตอร์ นายเฮงกี ฮาร์ยาดี ผู้อำนวยการหน่วยสืบสวนอาชญากรรมของตำรวจจาการ์ตา กล่าวว่าผู้ต้องสงสัยได้ชักชวนชาวอินโดนีเซียเหล่านี้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และส่งตัวไปยังกัมพูชาเพื่อทำการผ่าตัด หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ผู้ต้องสงสัยจะต้องได้รับโทษจําคุกนานถึง 15 ปีและเสียค่าปรับเป็นจำนวนมาก
ความเสี่ยงของการค้ามนุษย์ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นจากวิกฤตการณ์ ความขัดแย้ง และภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ใน พ.ศ. 2566
วันต่อต้านการค้ามนุษย์โลก ประจำ พ.ศ. 2566 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา “มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพัฒนาการและแนวโน้มของสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงซึ่งระบุไว้ในรายงานระดับโลกของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ฉบับล่าสุด และเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานบริการจากภาครัฐ และภาคประชาสังคมประเมินและเพิ่มความพยายามในการเสริมสร้างการป้องกัน คัดแยกและสนับสนุนผู้เสียหาย ตลอดจนยุติการได้รับการยกเว้นโทษ”
“การค้ามนุษย์และการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวอย่างของความท้าทายด้านความมั่นคงข้ามชาติที่ซับซ้อนที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าว โดยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสตรี สันติภาพ และความมั่นคงของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก เหตุการณ์นี้สนับสนุนความพยายามของมาเลเซียในการเสริมสร้างศักยภาพของสถาบัน กฎหมาย นโยบาย และขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติ
“แต่เราไม่สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้เพียงลำพังได้ การผลักดันสิทธิมนุษยชนต้องอาศัยทั้งการลงทุน ความมุ่งมั่น และการจัดหาทรัพยากรจากทุกภาคส่วนของสังคม” พล.ร.อ. อาควิลิโนกล่าว “ในปัจจุบันนี้ การทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนและเสถียรภาพที่มั่นคง”
ในอินโดแปซิฟิก สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เป็นแรงสําคัญในการต่อต้านการค้ามนุษย์มาอย่างยาวนาน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เหล่าผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เรียกร้องให้มีการยกระดับแนวทางในภูมิภาคเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ เช่น การให้คำมั่นในการปราบปรามผู้ค้ามนุษย์ที่ชักชวนผู้หางานที่ตกอยู่ในความเสี่ยงทางออนไลน์ ซึ่งมักจะอยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาค
ผู้นำอาเซียนวางแผนที่จะขยายความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการสืบสวน รวบรวมข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล และดำเนินการฝึกร่วมกัน ตามรายงานของรอยเตอร์
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ทางการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ช่วยเหลือผู้คนหลายพันคนที่ถูกบังคับให้ทำงานบนโลกไซเบอร์และฉ้อโกงสกุลเงินดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ ตามรายงานของรอยเตอร์
กระบวนการบาหลีว่าด้วยการลักลอบขนคนเข้าประเทศ การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดทำขึ้นใน พ.ศ. 2545 เป็นอีกหนึ่งการประชุมระดับภูมิภาคที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ใน พ.ศ. 2560 ในการประชุมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้กระบวนการบาหลีเป็นครั้งแรกที่เมืองเพิร์ท ออสเตรเลียตะวันตก รัฐบาลและผู้นำธุรกิจที่มีชื่อเสียงจาก 45 ประเทศในอินโดแปซิฟิกมุ่งมั่นที่จะกำจัดแรงงานทาสยุคใหม่ พวกเขาได้ดำเนินการตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อคุ้มครองประชาชนที่ตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย สำนักงานสนับสนุนระดับภูมิภาคของกระบวนการบาหลี และรัฐบาลออสเตรเลียได้เผยแพร่แนวทางการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติสำหรับรัฐสมาชิกภาคเอกชนและกระบวนการบาหลี
โดยใช้ชื่อว่า “การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในห่วงโซ่อุปทานอินโดแปซิฟิก: แนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับสำหรับรัฐสมาชิกภาคเอกชนและกระบวนการบาหลี” ซึ่งเป็นจุลสารที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการสังเกตหาการแสวงหาผลประโยชน์ในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก การนำนโยบายและกรอบกฎหมายเชิงป้องกันมาประยุกต์ใช้ และการขับเคลื่อนความพยายามผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
“ไม่มีประเทศหรือภาคส่วนใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ และไม่มีรัฐบาลหรือภาคเอกชนใดที่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้เพียงลำพัง” นางลูเซียน แมนตัน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียที่รับผิดชอบด้านการลักลอบเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ กล่าวในวันที่เผยแพร่เอกสารคู่มือ “ด้วยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภูมิภาค และด้วยการนำแนวปฏิบัติที่ดีเหล่านี้มาใช้ เราสามารถร่วมกันสร้างความก้าวหน้าอย่างแท้จริงเพื่อยุติการค้ามนุษย์ การค้าทาส และการแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ”
คู่มือนี้สร้างขึ้นตามหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะการดำเนินการปฏิบัติ การตระหนักรู้ และคำแนะนำขั้นสูง ซึ่งได้รับการรับรองใน พ.ศ. 2561 โดยภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้กระบวนการบาหลี
“แรงงานอพยพมีโอกาสถูกบังคับใช้แรงงานมากกว่าแรงงานท้องถิ่นถึงสามเท่า การคุ้มครองแรงงานอพยพเป็นผลประโยชน์ของทุกคนและเป็นหน้าที่ทางจริยธรรม แต่มักเป็นข้อผูกพันทางกฎหมายสำหรับภาครัฐและภาคธุรกิจ” นางซาราห์ ลู อาร์ริโอลา ผู้อำนวยการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าว
รัฐบาลอย่างน้อย 11 ประเทศทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลเมียนมา เกาหลีเหนือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย มีเอกสารเกี่ยวกับ “นโยบายหรือรูปแบบ” ของการค้ามนุษย์ การค้ามนุษย์ในโครงการที่ได้รับทุนจากรัฐบาล การบังคับใช้แรงงานในบริการทางการแพทย์ของรัฐบาลหรือภาคอื่น ๆ การค้าทาสทางเพศในค่ายของรัฐบาล หรือการใช้แรงงานทหารเด็ก ตามรายงานการค้ามนุษย์ ประจำ พ.ศ. 2566 ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566
รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องเพิ่มความพยายามในการใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น ระเบียบการว่าด้วยการค้ามนุษย์ตามอนุสัญญาสหประชาชาติต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างกรอบการทำงานในการคัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤต ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ
เพื่อทำการยุติการค้ามนุษย์ “เราต้องเสริมสร้างความสามารถในการต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์ รวมทั้งปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมที่อาจเอื้อต่อการค้ามนุษย์” รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำ พ.ศ. 2566 ระบุ “เราต้องทำให้ทุกคนตระหนักถึงประเด็นการค้ามนุษย์ และร่วมกันผลักดันให้ผู้ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่ของนโยบายและการจัดการทรัพยากรของประเทศใส่ใจต่อประเด็นนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างมาตรการป้องกัน ปรับปรุงการระบุผู้เสียหาย เพิ่มการสนับสนุนผู้รอดชีวิต และยุติการได้รับการยกเว้นโทษ”