การวิจัยของจีนรุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น ๆ และยังคงดำเนินต่อไปแม้จะมีข้อสงสัยจากนานาชาติ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เรือวิจัยของรัฐบาลจีนได้บุกรุกเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของมาเลเซียในทะเลจีนใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากซาราวักประมาณ 145 ไมล์ทะเล การรุกล้ำครั้งนี้เป็นการละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และอาจเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยเรือสำรวจจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เพื่อตอบโต้การรุกรานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง กองทัพเรือมาเลเซียจึงได้ส่งเรือสนับสนุนชื่อบังกามาสลิมาไปประจำการในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เพื่อหยุดยั้งเรือที่บุกรุก ตามรายงานของเว็บไซต์เจนส์ดีเฟนซ์อินเทลลิเจนซ์ ข้อมูลของระบบระบุตัวตนอัตโนมัติได้ติดตามการรุกล้ำของเรือจีนขนาด 88 เมตร ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ไห่หยางตี้จื้อ 8 ตามรายงานของเจนส์ดีเฟนซ์อินเทลลิเจนซ์
การรุกล้ำของเรือสำรวจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการควบคุมทะเลจีนใต้ ตามรายงานของเว็บไซต์โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย
มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และบรูไนต่างอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้บางส่วน ขณะที่จีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ศาลระหว่างประเทศตัดสินใน พ.ศ. 2559 ว่าไม่มีมูลความจริง
เรือไห่หยางตี้จื้อ 8 ได้ดำเนินการสำรวจในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 สำรวจนอกมาเลเซียในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2563 และสำรวจในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซียในเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ในช่วงเวลาดังกล่าว เรือจีนชื่อดายังห่าวก็บุกรุกเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของมาเลเซียเช่นกัน การรุกล้ำแต่ละครั้งเห็นได้ชัดว่าเป็นการตอบโต้การหาแหล่งน้ำมันและก๊าซใหม่ ๆ ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในน่านน้ำที่เป็นอาณาเขตของตน โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียระบุในการวิเคราะห์ข้อมูลของระบบระบุตัวตนอัตโนมัติใน พ.ศ. 2565
“การสำรวจเพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลหรือการสำรวจน้ำมันและก๊าซโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสิ่งผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่การวิจัยทางทหารเพียงอย่างเดียวนั้นถูกกฎหมาย แต่ขัดต่อคําแถลงของจีนที่คัดค้านการสำรวจทางทหารของต่างชาติภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ตามรายงานของเว็บไซต์โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย
หลังจากที่รุกล้ำเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษของมาเลเซียใน พ.ศ. 2563 กองทัพเรือมาเลเซีย กองทัพเรือออสเตรเลีย รวมถึงกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือเพื่อตอบโต้ ตามรายงานของเจนส์
นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังได้ดำเนินการการสำรวจอื่น ๆ อีกหลายสิบครั้งทั่วทะเลจีนใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่เป็นการเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย ในความเป็นจริง โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียระบุว่า กองเรือสำรวจของจีนเป็น “กองเรือสำรวจที่ใหญ่ที่สุดและมีการปฏิบัติงานมากที่สุดในอินโดแปซิฟิก” ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ดำเนินการวิจัยในน่านน้ำของตนเองเท่านั้น ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย
“ผมคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เบื้องลึกที่ใช้ในการข่มขู่และคุกคามกิจกรรมการสำรวจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดภายในพื้นที่เส้นประเก้าเส้น ซึ่งลุกลามจนบริษัทต่างชาติหรือแม้แต่บริษัทท้องถิ่นไม่สามารถหาประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้ และตระหนักดีว่าจีนกำลังทำให้ชีวิตของพวกเขายากลำบาก” นายอวน เกรแฮม นักวิชาการอาวุโสของสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในสิงคโปร์ กล่าวกับวอยซ์ออฟอเมริกาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 หลังจากที่จีนส่งเรือสำรวจผ่านน่านน้ำที่เวียดนามอ้างสิทธิ์เพื่อพยายามยับยั้งไม่ให้รัฐบาลเวียดนามเริ่มโครงการสำรวจพลังงานใหม่และยื่นคำร้องต่อศาลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์เรื่องดินแดนของจีน
นอกจากเป็นการส่งสารไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว การสำรวจเหล่านี้ยังให้ข้อมูลที่มีค่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางพลเรือนและการทหาร รวมถึงการประเมินทางธรณีวิทยาและการตรวจจับเรือดำน้ำด้วย เรือเหล่านี้ยังสามารถใช้เทคโนโลยีบนเรือเพื่อรวบรวมข่าวกรองของกองทัพเรือเกี่ยวกับฐานที่มั่นทางทหารและเรือของต่างประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินการแบบสองมาตรฐาน โดยกําหนดให้ประเทศอื่น ๆ ต้องขออนุญาตทำการสำรวจทางทหารในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน แต่ไม่ได้กำหนดให้เรือของตนต้องขออนุญาตเพื่อทำการสำรวจในต่างประเทศ ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย
รัฐบาลจีนยังทำให้เกิดความคลุมเครือยิ่งขึ้นไปอีกโดยใช้เรือพลเรือนดําเนินการสำรวจหลายครั้ง แม้ว่ากองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจะใช้เรือวิจัยปฏิบัติการ แต่ก็ใช้เรือจากหน่วยงานราชการและภาคธุรกิจอื่น ๆ ด้วย สิ่งนี้ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าเรือสำรวจของจีนที่ปฏิบัติการในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตกำลังดำเนินการวิจัยทางทะเลหรือการสำรวจเชิงพาณิชย์ที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หรือกำลังดำเนินการเฝ้าระวังทางทหารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เว็บไซต์โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียอธิบาย
ในการดำเนินการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือไหล่ทวีปของประเทศอื่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลกำหนดให้รัฐบาลต้องขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อยหกเดือน
ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ประเทศต่าง ๆ จะต้องให้ความยินยอม เว้นแต่รัฐชายฝั่งจะสงสัยว่าจริง ๆ แล้วการวิจัยนี้เป็นไปในเชิงพาณิชย์ และเกี่ยวข้องกับการขุดเจาะในไหล่ทวีป หรือรัฐที่ร้องขอให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือทําให้เข้าใจผิด ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย
ทุกประเทศสามารถดำเนินการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลในน่านน้ำสากลได้
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการเฝ้าระวังของกองทัพเรือ ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงสหรัฐฯ ยืนยันว่าไม่มีกฎหมายใดที่บังคับใช้เพื่อรองรับการสำรวจทางทหารภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐประชาชนจีนและบางประเทศในอินโดแปซิฟิกอ้างว่าตนมีสิทธิ์ที่จะจำกัดกิจกรรมทางทหารของต่างชาติภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน
ประเทศส่วนใหญ่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเรือเดินสมุทร เรือสำรวจทางวิทยาศาสตร์ และเรือพาณิชย์ เช่น ญี่ปุ่นได้แบ่งประเภทระหว่างเรือสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในทะเลและเรือของกองกำลัง นอกจากจีนและสหรัฐฯ แล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศหลักที่ใช้เรือเพื่อการวิจัยในอินโดแปซิฟิกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา