ทรัพยากรส่วนรวมของโลก

แฮกเกอร์จีนโจมตีรัฐบาลเคนยาเนื่องจากความตึงเครียดด้านหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

รอยเตอร์

แฮกเกอร์จีนได้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลของเคนยาในการบุกรุกทางดิจิทัลต่อกระทรวงและสถาบันหลักต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาหลายปี ตามข้อมูลจากแหล่งข่าว รายงานการวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคนิค

แหล่งข่าว 2 แหล่งประเมินว่าการแฮกดังกล่าวมีเป้าหมายอย่างน้อยคือเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับหนี้สินของประเทศในแอฟริกาตะวันออกที่ค้างชำระต่อจีน โดยเคนยาเป็นจุดเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเป็นนโยบายเด่นสำหรับเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน

“การแฮกข้อมูลอาจเกิดขึ้นต่อไปเนื่องจากจำเป็นต้องทำความเข้าใจกลยุทธ์การชำระหนี้ที่กำลังจะเกิดขึ้น” ผู้รับเหมาด้านกลาโหมระบุในรายงานการวิจัยเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนรายงานว่าไม่ทราบถึงการแฮกข้อมูลดังกล่าว

อิทธิพลของรัฐบาลจีนในแอฟริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สภาพทางการเงินของเคนยากำลังตึงเครียดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการชำระหนี้ภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จีน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในแอฟริกา

การแฮกข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลจีนในการใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถด้านการจารกรรม เพื่อติดตามและปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในต่างประเทศ แหล่งข่าวระบุ

นักวิเคราะห์ข่าวกรองรายหนึ่งระบุว่า การแฮกดังกล่าวประกอบด้วยการเจาะข้อมูลเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยกำหนดเป้าหมายไปยังกระทรวงและหน่วยงานรัฐบาลของเคนยา 8 แห่ง รวมถึงสำนักงานประธานาธิบดี นักวิเคราะห์ได้จัดเตรียมเอกสารการวิจัยที่ประกอบด้วยลำดับเหตุการณ์และเป้าหมายการโจมตี ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแฮกข้อมูลเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้โดยหน่วยงานสอดแนมหลักของเคนยาเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเคนยารายหนึ่งอธิบายการแฮกที่คล้ายคลึงกันต่อกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลังของประเทศ แหล่งข่าวทั้งสามแหล่งได้เรียกร้องไม่ให้มีการเปิดเผยชื่อเนื่องจากเป็นงานที่ละเอียดอ่อน

สำนักงานประธานาธิบดีของเคนยารายงานว่า “ข้อกล่าวหาเรื่องความพยายามในการแฮกข้อมูลโดยหน่วยงานของรัฐบาลจีนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่” พร้อมทั้งเสริมว่ารัฐบาลเคนยาตกเป็นเป้าหมายของ “การพยายามแทรกซึมบ่อยครั้ง” ทั้งจากจีนและจากแฮกเกอร์รายอื่น ๆ

“เท่าที่เราทราบ ยังไม่มีความพยายามครั้งใดที่ประสบความสำเร็จ” ตามรายงานของสำนักงานประธานาธิบดีเคนยา

ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2543 จนถึง พ.ศ. 2563 จีนทุ่มปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศในแอฟริกาเป็นจำนวนเกือบ 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตามข้อมูลจากฐานข้อมูลที่กำกับดูแลโดยมหาวิทยาลัยบอสตัน

เคนยาใช้เงินกู้จากจีนกว่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.1 แสนล้านบาท) สำหรับแผนการสร้างหรือปรับปรุงทางรถไฟ ท่าเรือ และทางหลวง

รัฐบาลจีนกลายเป็นเจ้าหนี้ทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของเคนยาและมีอิทธิพลเหนือตลาดผู้บริโภคแอฟริกาตะวันออกที่สำคัญที่สุด ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญบนชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียของแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลาย พ.ศ. 2562 การปล่อยเงินกู้ของจีนลดต่ำลง และความตึงเครียดทางการเงินของเคนยาก็ปรากฏขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเคนยากล่าวว่า ณ เวลานั้นตนได้รับการร้องขอจากหน่วยงานให้ตรวจสอบการละเมิดเครือข่ายของรัฐบาล การแฮกข้อมูลดังกล่าว ซึ่งกระทำการโดยจีน เริ่มจากการโจมตีแบบ “สเปียร์ฟิชชิ่ง” ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเคนยาดาวน์โหลดเอกสารที่ติดไวรัสโดยไม่รู้ตัว แฮกเกอร์จะสามารถแทรกซึมเข้าเครือข่ายและเข้าถึงหน่วยงานอื่น ๆ ได้

“เอกสารจำนวนมากจากกระทรวงการต่างประเทศและบางส่วนจากกระทรวงการคลังถูกโจรกรรม การโจมตีดังกล่าวดูเหมือนจะมุ่งไปที่สถานการณ์ด้านหนี้สิน” ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าว

นักวิเคราะห์ข่าวกรองกล่าวว่าแฮกเกอร์จีนดำเนินการเจาะข้อมูลจากหน่วยงานของเคนยาอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงปลาย พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2565 เป็นอย่างต่ำ

สายลับไซเบอร์ของจีนพุ่งเป้าไปที่สำนักงานประธานาธิบดีเคนยา กระทรวงกลาโหม กระทรวงสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข กรมที่ดินและกระทรวงกิจการภายใน ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนสถาบันอื่น ๆ โดยดำเนินการเจาะระบบอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน ตามข้อมูลในเอกสารที่ได้รับจากนักวิเคราะห์

ภายใน พ.ศ. 2564 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อหนึ่งในประเทศผู้กู้รายใหญ่ของจีน นั่นคือ แซมเบีย ซึ่งนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ภายนอก ในขณะเดียวกัน เคนยาได้รับการประกันการพักชำระหนี้จากรัฐบาลจีน

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 แฮกเกอร์ลักลอบเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์อีเมลที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติของเคนยาใช้งาน ตามรายงานการวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จัดทำโดยนักวิเคราะห์ข่าวกรอง

บันทึกทางอินเทอร์เน็ตแสดงให้เห็นว่าเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกควบคุมโดยแฮกเกอร์จีนยังลักลอบเข้าถึงบริการเว็บเมลของรัฐบาลเคนยาที่ใช้ร่วมกัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 อีกด้วย

ทั้งนี้ ทางการจีนปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการละเมิดล่าสุด

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button