ฟิลิปปินส์: “ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” กับญี่ปุ่นเป็นสิ่งสำคัญต่อสันติภาพในภูมิภาค
เบนาร์นิวส์
นักการทูตระดับสูงของฟิลิปปินส์กล่าวว่าความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับญี่ปุ่นเป็นสิ่งสำคัญต่อสันติภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก จากการที่เขาสนับสนุนการยกระดับการป้องกันฟิลิปปินส์เนื่องจาก “การละเมิดอำนาจอธิปไตยของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
ความเห็นของนายเอ็นริเก้ มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้เน้นย้ำถึงความท้าทายด้านความมั่นคงที่ทั้งสองประเทศเผชิญจากสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลญี่ปุ่นมีข้อพิพาททางอาณาเขตกับรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ตามลำดับ
“เราไม่เคยมั่นใจมากเท่านี้มาก่อนว่าความร่วมมือด้านความมั่นคงที่แข็งแกร่งของเราจะช่วยให้ประชาชนของเราอยู่อย่างสงบสุขมากขึ้น” นายมานาโลกล่าวในสุนทรพจน์ที่สถาบันบัณฑิตเพื่อการศึกษานโยบายแห่งชาติในกรุงโตเกียว
“เราได้รับแรงผลักดันจากความเชื่อมั่นในกฎระเบียบและความมุ่งมั่นต่อหลักการพหุภาคีเช่นเดียวกับญี่ปุ่น” นายมานาโลกล่าวเสริม ตามที่ระบุในสำเนาคำปราศรัย
นายมานาโลเดินทางไปยังกรุงโตเกียวเพื่อร่วมการประชุมด้านความมั่นคงที่ชื่อว่า การประชุมผู้นำมิวนิก
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักรู้ในมิติดังกล่าวและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525 นายมานาโลกล่าว (ภาพ: กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นดำเนินการฝึกซ้อมต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดในอ่าวมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์)
นายมานาโลกล่าวว่า แม้ว่าการเจรจาและการทูตควรเป็นวิธีการหลักในการแก้ไขข้อพิพาท “การละเมิดอำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจศาลของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า… ยังคงเป็นเหตุจำเป็นให้เราต้องยกระดับขีดความสามารถด้านกลาโหม”
“ผมขอเน้นย้ำว่าความร่วมมือทางทะเลจะเป็นจุดสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับญี่ปุ่นเสมอ การเป็นประเทศที่เป็นเกาะคือสิ่งที่เชื่อมโยงให้เรามีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะรักษาทะเลอินโดแปซิฟิกให้ปลอดภัย มั่นคง และสงบสุข” นายมานาโลกล่าว
นอกจากนี้ นายมานาโลยังเรียกร้องให้มีการหารือเพิ่มเติมระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และจีน เกี่ยวกับหลักปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้
“เพื่อให้เกิดระบบที่เป็นไปอย่างสันติและตั้งอยู่บนพื้นฐานของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล การเจรจาอย่างจริงใจระหว่างผู้อ้างสิทธิ์ทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งในระดับทวิภาคีและผ่านการหารือเกี่ยวกับหลักปฏิบัติระหว่างอาเซียนและจีน” นายมานาโลกล่าว
“ฟิลิปปินส์สนับสนุนให้มีหลักปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมซึ่งยึดตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด แม้แต่ผู้ที่อยู่นอกอาเซียนและจีน”
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ออกคำตัดสินที่เป็นประโยชน์แก่ฟิลิปปินส์ และได้ปัดตกการอ้างสิทธิ์อย่างกว้างขวางในทะเลจีนใต้ของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะน่านน้ำภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้เพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยครั้งสำคัญดังกล่าวและยังคงขยายกำลังทหารของตนเองในน่านน้ำเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการสร้างแนวปะการังเทียมและสิ่งปลูกสร้างเทียมอื่น ๆ
นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เห็นพ้องกันในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ว่าจะ “เพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหมของประเทศตนเอง และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงโดยรวม”
ทั้งสองประเทศตกลงที่จะเพิ่มการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กลาโหมและเจ้าหน้าที่ทหาร “เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่ท้าทายอย่างมาก”
ภาพจาก: รอยเตอร์