ความกระหายที่เพิ่มขึ้นของจีนอาจจุดชนวนความตึงเครียดกับรัสเซียเหนือทะเลสาบไบคาล
ทอม แอบกี
สาธารณรัฐประชาชนจีนเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำและกำลังสนใจทะเลสาบไบคาลของรัสเซีย ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อใช้เป็นทางออกสำหรับวิกฤตการณ์นี้ อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลจีนในการนำเข้าน้ำจากทะเลสาบไบคาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับเผชิญกับการต่อต้านของสาธารณชนรัสเซีย แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซียในเบื้องต้นก็ตาม
เนื่องจากความกระหายของจีนเพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงทะเลสาบขนาด 31,500 ตารางกิโลเมตรอาจกลายเป็นพื้นที่พิพาทระหว่าง 2 ประเทศระบอบเผด็จการดังกล่าว นักวิเคราะห์กล่าว
น้ำบาดาลของจีนมากถึงร้อยละ 90 ไม่สามารถดื่มได้ และมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เหมาะสำหรับใช้ในการเกษตรหรืออุตสาหกรรม ตามข้อมูลของสถาบันโลวี สถาบันวิจัยของออสเตรเลีย ภาวะน้ำเป็นพิษส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ภูมิภาคที่แห้งแล้งและภัยแล้งรุนแรงยิ่งส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของประเทศทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีความรุนแรงที่สุดในทางเหนือ โดยพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำไห่ ห้วย เหลียว และฮวงโห อยู่ภายใต้สภาวะขาดแคลนน้ำ
พื้นที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลสาบไบคาล (ภาพ) ใกล้กับจังหวัดตูวาของรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควบคุมโดยราชวงศ์ชิงของจีนตั้งแต่ พ.ศ. 2187 ถึง พ.ศ. 2454 หน่วยงานของจีนพยายามนำเข้าน้ำจากทะเลสาบไบคาลผ่านทางท่อส่งความยาว 1,000 กิโลเมตรใน พ.ศ. 2560 และโดยการบรรจุขวดใน พ.ศ. 2562
ท่อส่งน้ำดังกล่าวที่จีนเสนอจะเดินทางผ่านมองโกเลียเพื่อส่งไปยังมณฑลกานซูของจีน แผนดังกล่าวได้รับการรับรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของรัสเซียในขณะนั้นและสถาบันวิจัยของจีน แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของรัสเซียได้คัดค้านและระงับโครงการดังกล่าว
ใน พ.ศ. 2562 ขณะที่โรงงานบรรจุขวดน้ำที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น ศาลแขวงในเมืองเออคุตสก์ของรัสเซีย ซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลสาบไบคาลได้ตัดสินว่าการก่อสร้างดังกล่าวผิดกฎหมายและสั่งให้ยุติลง หลังจากคำร้องของฝ่ายคัดค้านรวบรวมลายมือชื่อได้ถึง 1 ล้านคน
ปัจจุบัน น้ำส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของจีนมาจากทางตอนใต้ ตามรายงานของสถาบันโลวี อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ทั่วภาคใต้ของจีนใน พ.ศ. 2565 อาจทำให้รัฐบาลจีนกลับมาให้ความสนใจทะเลสาบไบคาลอีกครั้ง
“ประเด็นสำคัญคือวิธีที่รัสเซียจะจัดการกับฝ่ายคัดค้านในท้องถิ่นในการสร้างโครงการดังกล่าว” ดร. ทิโมธี ฮีธ นักวิจัยอาวุโสด้านกลาโหมระหว่างประเทศของบริษัทแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม “จีนอาจเสนอให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างท่อส่งน้ำและจ่ายเงินซื้อน้ำในราคาสูง ซึ่งอาจเป็นสิ่งจูงใจ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นและประชาชนของรัสเซียจะต่อต้านการส่งออก ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลรัสเซียต้องเลือกว่าจะปราบปรามประชากรท้องถิ่นในนามของจีน ซึ่งอาจนำไปสู่ความโกรธแค้นมากยิ่งขึ้น หรือเลือกที่จะยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีความละเอียดอ่อนเกินไปในขณะนี้”
รัสเซียแซงหน้าซาอุดีอาระเบียในฐานะผู้จัดหาน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของจีนใน พ.ศ. 2566 และก๊าซ ปิโตรเคมี ไม้ และแร่ธาตุของรัสเซียก็ส่งออกไปยังลูกค้าชาวจีนอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
“ยังคงมีความตึงเครียดระหว่างจีนและรัสเซียเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พรมแดน และประเด็นอื่น ๆ ข้อพิพาทเกี่ยวกับเงื่อนไขของข้อตกลงสำหรับทรัพยากรอาจเป็นจุดก่อชนวนความขัดแย้งอีกจุดหนึ่ง” ดร. ฮีธกล่าว “อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งเหล่านี้ยังถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ร่วมกันในการคัดค้านและต่อต้านอำนาจของสหรัฐฯ จีนและรัสเซียยังคงเป็นพันธมิตรที่อำนวยความสะดวกให้แก่กัน”
ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์
ภาพจาก: ฮันส์ ลูคัส ผ่านรอยเตอร์