ความร่วมมือโอเชียเนีย

ข้อตกลงด้านกลาโหมของปาปัวนิวกินีอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าถึงฐานทัพได้

เบนาร์นิวส์

ปาปัวนิวกินีจะมอบสิทธิ์การเข้าถึงโดยไร้ข้อจำกัดให้สหรัฐอเมริกาเพื่อส่งกำลังพลจากฐานทัพและพัฒนาฐานทัพที่สำคัญในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมทวิภาคีฉบับใหม่

ข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหม ซึ่งได้รับการลงนามในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 อนุญาตให้สหรัฐฯ นำกำลังพลและเรือเข้าประจำการที่ท่าเรือและสนามบินหกแห่ง รวมถึงที่ฐานทัพเรือลอมบรัมและสนามบินนานาชาติแจ็กสันในพอร์ตมอร์สบี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของปาปัวนิวกินี

สหรัฐฯ จะสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้ “โดยไร้ข้อจำกัด” ซึ่งอาจใช้สำหรับกิจกรรมที่มีการตกลงร่วมกัน เช่น การฝึกซ้อม การขนส่ง การบำรุงรักษา และการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน รวมถึงอากาศยานที่ดำเนิน “กิจกรรมข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวน”

ฐานทัพดังกล่าวอาจใช้สำหรับ “การจัดเตรียมและการส่งกองกำลังและวัสดุ” การเติมเชื้อเพลิงเรือ ความช่วยเหลือด้านความมั่นคง และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

ข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯ และหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้การพยายามขยายอิทธิพลในแปซิฟิกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าข้อตกลงนี้ขยายขีดความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ

“เท่าที่ผมทราบคือ สหรัฐฯ ไม่เคยมีข้อตกลงในลักษณะเดียวกันนี้กับประเทศอื่น ๆ ในแปซิฟิกใต้มาก่อน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คำนึงถึงอนาคตมากที่สุด” นายมิฮาย โซรา ผู้อำนวยการเครือข่ายออสเตรเลียและปาปัวนิวกินีของสถาบันโลวีในออสเตรเลีย กล่าว

นายโซราเปรียบเทียบข้อตกลงนี้กับข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมที่ได้รับการยกระดับขึ้นของสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ ซึ่งเพิ่งได้รับการขยายขอบเขตเพื่อให้กองทัพสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงพื้นที่ทางทหารเพิ่มเติมอีกสี่แห่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในแถลงการณ์ต่อรัฐสภาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 นายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี กล่าวว่าข้อตกลงกับสหรัฐฯ จะ “ไม่มีทางส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีของปาปัวนิวกินีกับประเทศอื่น ๆ”

นายมาราเปกล่าวว่า นโยบายต่างประเทศของปาปัวนิวกินียังคงเป็นการเป็นมิตรกับทุกคนและไม่เป็นศัตรูกับผู้ใด แต่พันธมิตรด้านความมั่นคงแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอที่จะรับมือกับความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก

นายมาราเปกล่าวว่า ข้อตกลงนี้ “อนุมัติการเข้ามามีบทบาทของกองกำลังสหรัฐฯ” เพื่อดำเนินกิจกรรมทางกลาโหม แต่ไม่ได้รวมหรือส่งเสริมพันธสัญญาด้านกลาโหมหรือการแทรกแซงทางทหาร

ใน พ.ศ. 2565 รัฐบาลจีนได้ลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับออสเตรเลีย สหรัฐฯ และหุ้นส่วนอื่น ๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการมีบทบาทของกองทัพจีนในภูมิภาคนี้อย่างถาวร

นายโซรากล่าวว่าสภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัยระดับภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และหุ้นส่วนแบบดั้งเดิมเชื่อว่าการจัดการด้านความมั่นคงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน

“สิ่งที่เรากำลังจะได้เห็นคือความพยายามจากผู้ให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแบบดั้งเดิมในแปซิฟิก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อยกระดับและสร้างบทบาทของตนในฐานะหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่ดีที่สุดอย่างเป็นทางการสำหรับประเทศในแปซิฟิกผ่านข้อตกลงทวิภาคี” นายโซรากล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button