กิจกรรมที่ผิดกฎหมายความขัดแย้ง/ความตึงเครียดความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียนเสริมสร้างการประสานงานกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามทางทะเล

กัสดี ดา คอสตา

กองกำลังรักษาชายฝั่งจากกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพยายามที่จะยกระดับการประสานงานและการสื่อสารกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามทางทะเล เช่น การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตลอดจนการค้ามนุษย์

การลาดตระเวนในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกองกำลังรักษาชายฝั่งของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ตามที่ผู้นำระดับภูมิภาคได้กล่าวไว้ในการการประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียนประจำปีครั้งที่สองที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 6 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566

“การดำเนินการของการประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียนมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกการสนทนาเฉพาะเพื่อการส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในแง่ของความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค ความพยายามนี้เป็นที่ยอมรับและได้รับการสนับสนุนโดยผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน” พล.ร.ต. อาน เคอร์เนีย หัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงทางทะเล หรือที่รู้จักกันในชื่อคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล กล่าวในระหว่างการเปิดงาน

ตัวแทนของกองกำลังรักษาชายฝั่งจากบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้เข้าร่วมในการประชุมนี้

“จากการแบ่งปันข้อมูล เราได้สร้างความตระหนักทางสถานการณ์ทางทะเลตามเวลาจริง เพื่อให้เราสามารถรับรู้ภาพรวมที่ชัดเจนและความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นและที่มีอยู่จริง อีกทั้งยังลดระยะเวลาการถ่ายทอดข้อมูลและเวลาที่ใช้ตอบสนองกับภัยคุกคามเหล่านั้น” พ.อ. วิษณุ ปรมัตดิตา โฆษกของคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล กล่าวกับ ฟอรัม

การแบ่งปันข้อมูลและการประสานงานที่ได้รับการยกระดับขึ้นนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเผชิญ น.อ. มาร์เซลลัส ฮาเคง จายาวิบาวา ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลในจาการ์ตา กล่าวกับ ฟอรัม

น.อ. จายาวิบาวาอธิบายว่า การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม กลายเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวประมงที่กระทำผิดกฎหมายสามารถเฝ้าสังเกตหน่วยลาดตระเวนของกองกำลังรักษาชายฝั่งได้ และเคลื่อนย้ายเรือประมงของตนไปไว้ยังพื้นที่ที่ไม่มีการลาดตระเวน แม้กระทั่งในน่านน้ำที่เป็นของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ

“เพราะแต่ละประเทศเผชิญกับการขาดแคลนกำลังคนเพื่อเฝ้าระวังอาณาเขตทางทะเลของตน การประสานงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ จึงอาจช่วยให้สามารถลาดตระเวนในพื้นที่อันกว้างใหญ่ได้” น.อ. จายาวิบาวากล่าว “ด้วยการประสานงานกัน อินโดนีเซียสามารถให้การรายงานที่ครอบคลุม และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ก็สามารถทำเช่นเดียวกันเพื่อร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดกิจกรรมการประมงที่ผิดกฎหมายขึ้นได้”

การประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียนมีการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ และการประกาศความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียเพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในการหนีออกจากสภาวะที่เป็นอันตรายในเมียนมา

ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาถือเป็นข้อกังวลของทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย พล.ร.ต. เคอร์เนียกล่าว พล.ร.ต. เคอร์เนียกล่าวเสริมว่า คณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลเฝ้าสังเกตปัญหานี้ และได้ประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของมาเลเซีย

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 มีเรือหกลำที่บรรทุกผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาทั้งหมด 644 คนที่พลัดหลงเข้าไปในน่านน้ำของอินโดนีเซีย ตามรายงานของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

“ผมมั่นใจว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซียและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของมาเลเซียสามารถช่วยรับรองได้ว่าเราสามารถแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันได้” พล.ร.ท. ดาตัก ไซฟูล ลิซัน บิน อิบราฮิม รักษาการอธิบดีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของมาเลเซีย กล่าว

การประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียนที่จัดขึ้นปีละครั้งในปีนี้จัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 การประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียนครั้งถัดไปจะจัดขั้นในฟิลิปปินใน พ.ศ. 2567 โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพใน พ.ศ. 2568

การประชุมใน พ.ศ. 2566 ได้กำหนดให้การประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียนนี้จัดขึ้นทุกปี และได้กำหนดภาระงานของคณะทำงานการประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียนให้ประกอบไปด้วยการแบ่งปันทักษะและประสบการณ์ การระบุความร่วมมือระดับภูมิภาค การหารือถึงภัยคุกคามและวิธีการแก้ไข การมีส่วนร่วมในกิจกรรม/การสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการทำงานของการประชุมกองกำลังรักษาชายฝั่งอาเซียน และการระบุขอบเขตการสร้างขีดความสามารถ

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศอินโดนีเซีย

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button