ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิงคโปร์และสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางทหารผ่านการฝึกไทเกอร์บาล์ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการมีส่วนร่วมทางกลาโหมร่วมกัน

ทอม แอบกี

ทหารสิงคโปร์เข้าร่วมกับทหารของสหรัฐอเมริกาในฮาวายเพื่อดำเนินการฝึกไทเกอร์บาล์มครั้งที่ 42 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 นี่เป็นการฝึกที่ยาวนานที่สุดระหว่างกองทัพสิงคโปร์และกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้กองกำลังทั้งสองสามารถทำงานร่วมกันและแบ่งปันยุทธวิธี เทคนิค และขั้นตอนในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฝึกปัญหาที่บังคับการและการฝึกภาคสนาม (ภาพ: บุคลากรของกองทัพสิงคโปร์กำลังฝึกฝนในระหว่างการฝึกไทเกอร์บาล์ม พ.ศ. 2566 ที่ฮาวาย)

นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานของกองทัพทั้งสองแล้ว การฝึกไทเกอร์บาล์มยังช่วยเสริมสร้างความพร้อมในการสู้รบ การทำงานร่วมกัน และความมั่นคงในภูมิภาค

การฝึกไทเกอร์บาล์ม พ.ศ. 2566 ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 8 – 19 พฤษภาคม ประกอบด้วยการฝึกปัญหาที่บังคับการระดับกองพลน้อย โดยมีบุคลากรประมาณ 400 คน จากกองพลสิงคโปร์ที่ 6/กองบัญชาการตรวจจับและจู่โจม กองพลน้อยทหารราบที่ 10 ของสิงคโปร์ กองพลทหารราบที่ 25 ของกองทัพบกสหรัฐฯ และกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิของกองทัพบกสหรัฐฯ ในฮาวายและเทนเนสซี การฝึกนี้นำเสนอการบูรณาการระบบจำลองแบบจริง เสมือนจริง และสร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อมต่อกับที่บังคับการในฮาวายและสิงคโปร์

ในขณะเดียวกัน การฝึกยิงด้วยกระสุนจริงของกองกำลังร่วมประกอบด้วยชุดยิงสนับสนุนของกองทัพบกสหรัฐฯ และทีมภารกิจสังเกตการโจมตีของกองทัพสิงคโปร์ โดยมีหน่วยปืนใหญ่สนามของกองทัพสหรัฐฯ และทีมรวบรวมข่าวกรองที่คอยเฝ้าระวังและค้นหาเป้าหมายแบบตามเวลาจริง ตามรายงานข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

“การจัดการฝึกไทเกอร์บาล์ม พ.ศ. 2566 ที่ปลอดภัยและประสบความสำเร็จนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของกองทัพของเราทั้งสองที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน กระชับความร่วมมือ และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างมิตรภาพที่ใกล้ชิดระหว่างเรา” พ.อ. อนันด์ สาธี คูมาร์ ผู้บัญชาการกองพลสิงคโปร์ที่ 6/กองบัญชาการตรวจจับและจู่โจม กล่าวในแถลงการณ์

การฝึกครั้งนี้จัดขึ้นครั้งล่าสุดที่สหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2562 การฝึกไทเกอร์บาล์มถูกยกเลิกใน พ.ศ. 2563 และจัดขึ้นแบบเสมือนจริงใน พ.ศ. 2654 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนที่จะกลับมาจัดที่สิงคโปร์ใน พ.ศ. 2565

“การฝึกไทเกอร์บาล์มเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของทหารกล้าของเราและทหารสิงคโปร์” กรมทหารม้าหุ้มเกราะที่ 278 ของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ที่รัฐเทนเนสซี ระบุในแถลงการณ์ “เรามุ่งมั่นร่วมกันที่จะเพิ่มความแข็งแกร่ง พลังทำลายล้าง และความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทายที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ”

ไทเกอร์บาล์มเป็นหนึ่งในการฝึกที่เกี่ยวข้องกับกองทัพสิงคโปร์และกองทัพสหรัฐฯ ระหว่างการฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือระดับทวิภาคีและการฝึกอบรมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 มีบุคลากรประมาณ 2,000 คน เรือและอากาศยานสี่ลำจากกองทัพเรือของประเทศทั้งสองได้ดำเนินการฝึกทางทะเลเป็นเวลาห้าวัน

ไม่นานมานี้ นายเฮง ชี ห่าว รัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศว่าเป็นประโยชน์ร่วมกันและยั่งยืน “สิงคโปร์มองว่าการที่สหรัฐฯ มีบทบาทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และเรายินดีต้อนรับ” นายเฮงกล่าวระหว่างพิธีการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์กองทัพ ซิลเวอร์เบลล์ ของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแอริโซนาในสหรัฐฯ ซึ่งบุคลากรของกองทัพอากาศสิงคโปร์ได้รับการฝึกเฮลิคอปเตอร์ เอเอช-64ดี อาปาเช่ จากที่นี่มาเป็นเวลา 20 ปี

“สิงคโปร์ยังได้เข้าร่วมในการปฏิบัติการระดับนานาชาติต่าง ๆ ที่นำโดยสหรัฐฯ เช่น ปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน อิรัก และอ่าวเอเดน” นายเฮงกล่าว “ความเป็นหุ้นส่วนของเรามีความยั่งยืนและดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง”

ด้วยบุคลากรของกองทัพสิงคโปร์ที่ทำการฝึกอยู่ในสหรัฐฯ มีจำนวนไม่เคยต่ำกว่า 1,000 คน ทำให้สิงคโปร์ยังคงรักษาอันดับการมีบทบาททางทหารของต่างชาติในสหรัฐฯ แผ่นดินใหญ่มากที่สุดเป็นอันดับสอง

“สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกามีความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงที่ลึกซึ้งและยาวนาน” นายเอียน จง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวกับ ฟอรัม “สิ่งเหล่านี้ครอบคลุมหลากหลายประเด็น จำนวนและความลึกซึ้งของการแลกเปลี่ยนและการฝึกร่วมเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ด้านกลาโหมนี้”

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

ภาพจาก: จ.อ. เจริมิอาห์ ริชาร์ดสัน/กองทัพบกสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button