ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาและเข้าร่วมการเจรจา

รอยเตอร์

การประชุมผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอินโดนีเซียเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงในเมียนมาที่ปกครองโดยทหารโดยทันทีเพื่อสร้างช่องทางการเจรจาและการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในขณะที่การต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้น

“เรามีความกังวลอย่างมากกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบและการใช้กำลังโดยทันที” บรรดาผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน กล่าวในแถลงการณ์ร่วมระหว่างการประชุมสุดยอดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566

พวกเขาเรียกร้องให้มี “สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ปลอดภัยและทันท่วงที ตลอดจนการเจรจาระดับชาติที่ครอบคลุม”

การประชุมสุดยอดของกลุ่มสมาชิก 10 ประเทศจัดขึ้นในขณะที่กองทัพเมียนมายกระดับการจู่โจมและโจมตีทางอากาศต่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านและชนกลุ่มน้อย ขณะที่กองทัพเมียนมาพยายามรวมอำนาจก่อนการเลือกตั้งที่วางแผนไว้ โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ผู้โจมตีไม่ทราบฝ่ายได้ยิงขบวนรถของนักการทูตประจำภูมิภาคในเมียนมา ซึ่งกำลังส่งมอบเสบียงให้แก่ผู้พลัดถิ่นจากเหตุขัดแย้งกว่า 1.3 ล้านคน

รัฐบาลทหาร ซึ่งยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ได้แสดงเจตจำนงไม่ดำเนินตามแผนสันติภาพที่ได้ตกลงไว้กับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564

นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (ภาพ) ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปัจจุบัน เรียกร้องให้กลุ่มประเทศอาเซียนพูดถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญในภูมิภาคไปในทิศทางเดียวกัน

“อาเซียนจะปิดปากเงียบ หรืออาเซียนจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนสันติภาพหรือการเติบโต?” นายวิโดโด กล่าว

อาเซียน ซึ่งมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของสมาชิก เริ่มแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นต่อรัฐบาลทหารของเมียนมา เนื่องจากความล้มเหลวในการดำเนินการตาม “ฉันทามติ” เพื่อสันติภาพ 5 ประการที่นายพลระดับสูงของอาเซียนตกลงร่วมกันภายหลังการรัฐประหารที่จุดชนวนความโกลาหลและการนองเลือด เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 มีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 3,000 รายและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างน้อย 16,000 คนถูกจำคุก ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ

“มาเลเซียรู้สึกผิดหวังที่การดำเนินการตามแผนยังคงขาดความคืบหน้าอย่างมีความหมายและแท้จริง” นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าว

ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียนจนกว่าจะเคารพข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งรวมถึงการยุติการเปิดฉากความรุนแรง

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ร่วมมือกับกองทัพเมียนมาและรัฐบาลเงา ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเพื่อพยายามเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้

“อาเซียนกำลังพยายามสุดความสามารถ เพราะการดำเนินการต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เกิดเหตุรุนแรงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” นายเอ็นริเก้ มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมหลายฉบับ ซึ่งรวมถึงคำมั่นสัญญาที่จะต่อต้านการค้ามนุษย์ คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วทั้งภูมิภาค

 

ภาพจาก: รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button