ทรัพยากรส่วนรวมของโลก

ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้นำความพยายามรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมอันดับต้น ๆ ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติทั่วโลก และความสำเร็จและการเสียสละของพวกเขาจะได้รับการยกย่องพร้อมกับประเทศอื่น ๆ ในวันสันติภาพสากลขององค์การสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม องค์การสหประชาชาติสดุดีบุคลากรทางทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพลเรือนที่ช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงผู้คนหลายพันคนที่เสียชีวิตจากการดำเนินการเช่นนั้น แม้ว่าแอฟริกาและตะวันออกกลางจะเป็นจุดสนใจหลักของความพยายามในการรักษาสันติภาพในปัจจุบัน แต่อินโดแปซิฟิกเองก็ได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ มนุษยธรรม สังคม และสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

ประสบการณ์ที่สัมผัสโดยตรงจากภารกิจของสหประชาชาติภายในพรมแดนของตนเองได้สร้างแรงบันดาลใจให้ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพในประเทศอื่น ๆ ด้วย ผู้สังเกตการณ์กล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีเอกสารจำนวนมากเกี่ยวกับการดำเนินงานรักษาสันติภาพในภูมิภาคแปซิฟิก เช่น ติมอร์เลสเตและนิวกินีตะวันตก แต่กลับมีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกในการดำเนินงานด้านสันติภาพของสหประชาชาติ สถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียรายงาน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 นั่นทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจว่าเหตุผลที่ประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม อุปสรรคในการเข้าร่วม และผลที่ตามมาจากการมีส่วนร่วมของประเทศเหล่านั้น (ภาพ: นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ ตรวจพลเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสาธารณรัฐฟิจิที่ปฏิบัติหน้าที่ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566)

ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเกือบสิบประเทศได้ช่วยองค์การสหประชาชาติสร้างสันติภาพในติมอร์เลสเตในช่วงต้นทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543 – 2552) และต่อมาได้นำความเชี่ยวชาญของตนไปปฏิบัติภารกิจทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ฟิจิมีเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย 326 คน ที่ประจำการในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ

ในช่วงเวลาเดียวกัน บังกลาเทศเป็นผู้สนับสนุนบุคลากรในเครื่องแบบรายใหญ่ที่สุดของโลกในการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติโดยมีจำนวน 7,269 คน รองลงมาคือเนปาลจำนวน 6,264 คน และอินเดียจำนวน 6,090 คน

ในช่วงสงครามปลดปล่อยของบังกลาเทศใน พ.ศ. 2514 องค์การสหประชาชาติได้ให้การบรรเทาทุกข์และช่วยตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนในประเทศบ้านเกิดของตน

ประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้ได้ส่งบุคลากรในเครื่องแบบไปในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2531 เพื่อเฝ้าระวังการสงบศึกระหว่างอิหร่านและอิรัก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บังกลาเทศก็มีส่วนร่วมอย่างมากในภารกิจทั่วโลก ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ ณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพชาวบังกลาเทศกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ไซปรัส สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เลบานอน ลิเบีย มาลี ซูดานใต้ ซูดาน ซาฮาราตะวันตก และเยเมน

นับตั้งแต่ที่เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติคนแรกเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 บุคลากรกว่า 2 ล้านคนจากกว่า 120 ประเทศและดินแดนได้ช่วยประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนผ่านจากสงครามไปสู่สันติภาพ ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพทำงานร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นเพื่อช่วยหาทางออกทางการเมือง ป้องกันความขัดแย้ง ปกป้องพลเรือน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม และสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

“ผู้รักษาสันติภาพของสหประชาชาติเป็นหัวใจสำคัญของความมุ่งมั่นของเราในการสร้างโลกที่สงบสุขยิ่งขึ้น” นายอันโตนิอู กุแตร์เรช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว

 

ภาพจาก: ซาร์มัด อัลซาฟี/องค์การสหประชาชาติ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button