การป้องปรามแบบบูรณาการทรัพยากรส่วนรวมของโลกเรื่องเด่น

การปรับปรุง การป้องปราม เชิงยุทธศาสตร์

กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ปรับปรุงขีดความสามารถให้ทันสมัย

พล.จ. เกล็น ที. แฮร์ริส/กองทัพอากาศสหรัฐฯ และพ.ต. จอห์น ยานิคอฟ/กองทัพบกสหรัฐฯ กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ

มีเหตุผลให้เชื่อว่าการป้องปรามนิวเคลียร์ยังคงเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของกองทัพสหรัฐอเมริกา พล.ร.อ. ชาร์ลส์ริชาร์ด อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯผู้รับผิดชอบในการยับยั้งการโจมตีทางยุทธศาสตร์และดำเนินการตอบโต้อย่างเด็ดขาดหากการป้องปรามล้มเหลว อธิบายว่า “แผนปฏิบัติการทั้งหมดของกระทรวงกลาโหม และขีดความสามารถอื่น ๆ ที่เรามีอยู่ ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าจะมีการดำเนินการด้านการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ และหากการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องปรามนิวเคลียร์ไม่มีการดำเนินการ ก็ไม่มีแผนอื่นใดและไม่มีขีดความสามารถอื่นใดของเราจะสามารถทำงานได้ตามที่ออกแบบไว้”

เพื่อให้มั่นใจว่าการป้องปรามนิวเคลียร์ยังคงมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นรากฐานของความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ จึงต้องผ่านการปรับปรุงระบบอาวุธสามเหล่าแบบดั้งเดิมครั้งสำคัญ ได้แก่ ฐานปล่อยขีปนาวุธภาคพื้นดิน ทางทะเล และทางอากาศที่สามารถปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ได้ นอกจากนี้ การพัฒนาจากแนวทางปฏิบัติการเพื่อการป้องปรามแบบเดิมไปสู่แนวคิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องปรามแบบบูรณาการจะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถรักษาความสามารถด้านนิวเคลียร์ให้มีความน่าเชื่อถือไว้ได้ในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งสร้างความมั่นคงทั่วโลก ภายใต้แนวคิดนี้ ขีดความสามารถของนิวเคลียร์สามเหล่าจะเชื่อมโยงและรวมเข้ากับขีดความสามารถเชิงกลยุทธ์อื่น ๆ เช่น การป้องกันทางไซเบอร์ อวกาศ และขีปนาวุธ และแม้แต่สถาบันการศึกษาพลเรือน อุตสาหกรรม และพันธมิตร

การป้องปรามนิวเคลียร์เป็นผลมาจากความเข้าใจร่วมกันระหว่างคู่แข่งว่าแต่ละฝ่ายมีความสามารถที่พร้อมรับมือและเชื่อถือได้ในการตอบโต้การโจมตีด้วยนิวเคลียร์ องค์ประกอบหลักดั้งเดิมในการคงไว้ซึ่งการป้องกันนิวเคลียร์คือ การสร้างระบบอาวุธที่ใช้การได้ นิวเคลียร์สามเหล่าทัพของสหรัฐฯ ในปัจจุบันประกอบด้วยเรือดำน้ำที่ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวลงใต้น้ำ 14 ลำ ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปภาคพื้นดิน 400 ลูก และเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักพลังงานนิวเคลียร์ 60 ลำ โดยรวมแล้ว อาวุธสามเหล่าของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่อาจรับรองได้ว่า ไม่มีศัตรูใดเชื่อว่าจะสามารถโจมตีทางยุทธศาสตร์ได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งทําให้ความสามารถในการตอบโต้ของสหรัฐฯ อ่อนแอลงและก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจยอมรับได้ ด้วยเหตุนี้ อาวุธสามเหล่าในแต่ละกองทัพจึงมีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้กองกำลังยุทธศาสตร์สหรัฐฯ สามารถตอบโต้ได้ เอาตัวรอดได้ และมีความยืดหยุ่น

ภาพจำลองของเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวชั้นโคลัมเบียที่จะเข้ามาแทนที่กองเรือชั้นโอไฮโอของกองทัพเรือสหรัฐฯ กองทัพเรือสหรัฐฯ

ทำให้ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป มินิทแมน 3 เป็นอาวุธที่ตอบโต้ได้ดีที่สุดในบรรดานิวเคลียร์สามเหล่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ขีปนาวุธมินิทแมน 3 อยู่ในสถานะเตือนภัยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นส่วนที่ตอบโต้อย่างรวดเร็วของโครงการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ของอเมริกา ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปแบ่งจัดเก็บไว้ในฐานปล่อยใต้ดินที่แข็งแกร่ง 400 แห่ง โดยมีฐานปล่อยอีก 50 แห่งที่เก็บไว้ในสภาพ “อบอุ่น” ซึ่งจัดสรรให้กับฐานทัพทหารหลายแห่ง ทําให้ฝ่ายตรงข้ามมีปัญหาในการเล็งเป้า ลักษณะที่แข็งแกร่งและกระจายตัวของขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปของสหรัฐฯ ทำให้ศัตรูต้องโจมตีแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง เพื่อให้มีโอกาสปิดการใช้งานขีปนาวุธข้ามทวีปทั้งหมด จึงต้องมีการยกระดับการป้องปราม

คลังแสง มินิทแมน 3 ใช้วิธีการปรับปรุงแบบ “ถอดออกและเปลี่ยน” เป็นประจำซึ่งทำให้มีอัตราการแจ้งเตือนอยู่ที่ 100% ตั้งแต่การใช้งานครั้งแรก ระบบสื่อสารที่ปลอดภัยช่วยให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความน่าเชื่อถือสูง และสามารถติดต่อโดยตรงกับลูกเรือปล่อยจรวดแต่ละคนได้ทันที ลูกเรือปล่อยจรวดที่อยู่ในศูนย์ควบคุมจะทำการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องไปยังสถานที่ยิงขีปนาวุธพิสัยไกลทั้งหมด หากสูญเสียความสามารถในการสั่งการระหว่างศูนย์ควบคุมการยิงและฐานยิงขีปนาวุธพิสัยไกล เครื่องบินศูนย์ควบคุมการยิงทางอากาศ อี-6บี ที่ได้รับการกำหนดค่าเป็นพิเศษจะรับหน้าที่สั่งการและควบคุมขีปนาวุธแตกตัวโดยอัตโนมัติ ลูกเรือต่อสู้ขีปนาวุธทางอากาศจะดำเนินการตามคำสั่งของประธานาธิบดี เพื่อทำให้ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปภาคพื้นดินของอาวุธสามเหล่ายังสามารถอยู่รอดได้

การลักลอบและการโจมตี

นิวเคลียร์สามเหล่าส่วนที่เป็นภาคพื้นทะเล ที่อยู่ในเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวชั้นโอไฮโอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฐานปล่อยขีปนาวุธที่ไม่สามารถตรวจจับได้ เป็นส่วนที่อยู่รอดได้มากที่สุด เรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวได้รับการออกแบบมาสำหรับการสอดแนม การลาดตระเวนแบบขยายวงกว้าง และการยิงหัวรบนิวเคลียร์อย่างแม่นยำ โดยเฉลี่ยแล้วเรือดำน้ำจะใช้เวลา 80 วันในทะเล และอีก 35 วันในท่าเรือเพื่อทำการบำรุงรักษา เรือดำน้ำแต่ละลำมีลูกเรือสองคน ได้แก่ บลูและโกลด์ ซึ่งทำงานลาดตระเวนสลับกัน สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความพร้อมทางยุทธศาสตร์ของเรือดำน้ำ ลดจำนวนเรือดำน้ำที่จำเป็นต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนช่วยให้มีการฝึกอบรมลูกเรือ ความพร้อม และขวัญกำลังใจที่ดี เรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวแต่ละลำมีขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำสูงสุด 24 ลูกพร้อมหัวรบที่กำหนดเป้าหมายได้อย่างอิสระหลายหัว ขีปนาวุธ ไทรเดนท์ ทู ดี-5 ซึ่งมีพิสัยไกลถึง 7,000 กิโลเมตร ช่วยให้สหรัฐฯ สามารถทำให้สินทรัพย์ที่แข็งแกร่งและมีค่าของฝ่ายศัตรูตกอยู่ในอันตรายได้ เรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวมีความคล่องตัวสูงและสามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดยิงต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการบินผ่านน่านฟ้า ให้การรับประกันแก่พันธมิตรเพิ่มขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน

เครื่องบินทิ้งระเบิดเป็นส่วนที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดในบรรดานิวเคลียร์สามเหล่าของสหรัฐฯ ฐานปล่อยขีปนาวุธทางอากาศที่ประกอบด้วยเครื่องบิน บี-52 สตราโตฟอร์เทรสและ บี-2 สปิริต มีความสามารถในการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ได้อย่างรวดเร็วทุกที่ในโลกพร้อมกับหลบเลี่ยงการป้องกันขั้นสูงสุดของฝ่ายศัตรู เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ มีพิสัยเกือบไม่จำกัด เนื่องจากความสามารถในการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ และเมื่อรวมกับพิสัยของขีปนาวุธร่อนนำวิถี จะสามารถคุกคามเป้าหมายจำนวนมากในดินแดนของฝ่ายศัตรูได้ ซึ่งสามารถเข้าถึงเป้าหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วโลกจากฐานทัพสหรัฐฯ หรือปรับใช้ในแนวหน้าสำหรับช่วงเวลาสงบสุข วิกฤต หรือความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการเตือนที่เป็นรูปธรรมต่อศัตรูที่อาจเกิดขึ้น โดยสหรัฐฯ สัญญาว่าจะปกป้องความปลอดภัยของพันธมิตรและหุ้นส่วน

เครื่องบินทิ้งระเบิดทั้งสองประเภทสามารถบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธแบบดั้งเดิมได้ โดยปรับให้เหมาะตามภารกิจ เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 สามารถปล่อยหรือยิงอาวุธที่หลากหลายในคลังแสงของสหรัฐฯ เช่น ระเบิดแรงโน้มถ่วงและลูกปราย ขีปนาวุธนำวิถีความแม่นยำสูง และอาวุธโจมตีโดยตรงร่วม เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-2 มีความคล่องตัวในการเจาะเกราะที่ไม่มีใครเทียบได้ คุณสมบัติล่องหนของเครื่องบินทิ้งระเบิดทำให้มีความสามารถเฉพาะตัวในการแทรกซึมเข้าไปในการป้องกันที่ซับซ้อนที่สุดของศัตรู และคุกคามเป้าหมายที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนาที่สุดได้ เครื่องบินทิ้งระเบิดยังสามารถบรรทุกและขนถ่ายได้ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด เพื่อให้ผู้นำระดับชาติสามารถสั่งโจมตีได้หลังจากเครื่องบินบินขึ้น

ภาพจำลองของเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-21 ไรเดอร์ ที่ฐานทัพอากาศเอลส์เวิร์ธ รัฐเซาท์ดาโคตา ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานทัพที่ใช้เก็บเครื่องบินล่องหนลำใหม่ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ นอร์ทรอป กรัมแมน

รากฐานสำคัญ

เมื่อรวมกันแล้ว กองกำลังนิวเคลียร์เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปรับปรุงนิวเคลียร์สามเหล่าให้ทันสมัย แม้ว่าระบบอาวุธแต่ละระบบจะได้รับการปรับปรุงอยู่เป็นปกติและเป็นประจำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อาวุธทั้งสามส่วนจะต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อให้แน่ใจว่ายังคงมีความสามารถในการยับยั้ง ซึ่งหมายความว่าฐานปล่อยขีปนาวุธที่มีอยู่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอาวุธใหม่หรือยกเครื่องใหม่ทั้งหมดแล้วติดตั้งเทคโนโลยีล่าสุด การปรับโครงสร้างเงินทุนของกองกําลังนิวเคลียร์นี้กําลังดําเนินการอยู่และเงินทุนสูงสุดจะคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของงบประมาณกระทรวงกลาโหมในอีก 20 ปีข้างหน้า

การปรับปรุงมินิตแมน 3 ก่อนหน้านี้และที่ดำเนินการอยู่ได้ขยายการเลือกเป้าหมายของขีปนาวุธ อีกทั้งยังปรับปรุงความแม่นยำและความสามารถในการอยู่รอด อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้กำหนดว่าการเพิ่มอายุการใช้งานของมินิตแมน 3 อย่างต่อเนื่องจะมีค่าใช้จ่ายเทียบเท่ากับการเปลี่ยนเป็นขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป นอกจากนี้ ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปแบบใหม่จะตอบสนองความต้องการในอนาคตได้ดีขึ้น พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้น กระทรวงกลาโหมจึงได้ประกาศให้ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปเป็นโครงการเซนทิเนลในอนาคต

โครงการเซนทิเนลจะใช้สถาปัตยกรรมแบบแยกส่วนที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภัยคุกคามที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและช่วยให้แผนดังกล่าวดำเนินไปได้อย่างราบรื่นในช่วงทศวรรษ 2070 (พ.ศ. 2613-2622) โครงการนี้ยังจะปรับปรุงฐานยิงขีปนาวุธ ปรับปรุงการบังคับบัญชาและการควบคุม รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย โดยจะเริ่มปรับปรุงใน พ.ศ. 2572

นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนไว้ว่านิวเคลียร์สามเหล่า ส่วนที่เป็นภาคพื้นทะเลของสหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์จากระบบอาวุธที่ปรับปรุงใหม่ หลังจากเข้าประจำการนานกว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อื่น ๆ ของสหรัฐฯ เรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวชั้นโอไฮโอ 14 ลำจะแทนที่ด้วยเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวชั้นโคลัมเบียอย่างน้อย 12 ลำ โครงการนี้จะนำมาซึ่งความก้าวหน้าในด้านการเดินเรือ ความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ การบังคับบัญชาและการควบคุม ตลอดจนเทคโนโลยีเก็บเสียง เรือดำน้ำชั้นโคลัมเบีย ซึ่งคาดว่าจะเป็นเรือดำน้ำที่ล่องหนได้ดีที่สุดในปัจจุบัน จะมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ไม่จำเป็นต้องเติมเชื้อเพลิงกลางทะเล เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน อีกทั้งยังเป็นไปตามข้อกำหนดของภารกิจ

เรือดำน้ำชั้นโคลัมเบียของสหรัฐฯ และเรือดำน้ำชั้นเดรดนอตของสหราชอาณาจักรจะบรรทุกขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำ ไทรเดนท์ ทู ดี-5 รุ่นปัจจุบัน เพื่อให้เหล่าพันธมิตรสามารถทำงานร่วมกันได้มากขึ้นและประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก โดยไม่จำเป็นต้องออกแบบช่องเก็บของขีปนาวุธที่แตกต่างกัน เรือดำน้ำชั้นโคลัมเบียซึ่งในตอนแรกจะบรรทุกขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำ ไทรเดนท์ ทู ดี-5 จำนวน 16 ลูก ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานในทศวรรษ 2080 (พ.ศ. 2623-2632) แต่ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำ ไทรเดนท์ ทู ดี-5 จะใช้งานในทศวรรษ 2040 (พ.ศ. 2583-2592)

ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป มินิทแมน ทรี แบบไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์ยิงออกจากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กในรัฐแคลิฟอร์เนียระหว่างการทดสอบเมื่อ พ.ศ. 2563 กองทัพอากาศสหรัฐฯ

ในขณะเดียวกัน นิวเคลียร์สามเหล่า ในส่วนที่เป็นภาคอากาศของสหรัฐฯ จะเข้ามาแทนที่เครื่องบินทิ้งระเบิดประเภทหนึ่งและปรับปรุงอีกประเภทหนึ่ง เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 ซึ่งเดิมทีเข้าประจำการเมื่อ พ.ศ. 2504 ได้ผ่านการเพิ่มอายุการใช้งานและการปรับปรุง และคาดว่าจะยังคงประจำการไปจนถึง พ.ศ. 2583 เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-2 จะได้รับการเสริมแต่งในช่วงกลางทศวรรษ 2020 (พ.ศ. 2563-2572) และท้ายที่สุดจะแทนที่ด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-21 ไรเดอร์ ซึ่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้เปิดตัวไปเมื่อปลาย พ.ศ. 2565 บี-21 เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหนยุคใหม่ที่ออกแบบมาให้มีพิสัยไกล เอาตัวรอดได้สูง และสามารถบรรทุกอาวุธทั่วไปและอาวุธนิวเคลียร์ได้ ด้วยจำนวนเครื่องบินคงคลังขั้นต่ำที่วางแผนไว้ที่ 100 ลำ เครื่องบิน บี-21 จะเข้าไปสมทบนิวเคลียร์สามเหล่าของสหรัฐฯ ในฐานะตัวเลือกการยับยั้งที่ยืดหยุ่น

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนอาวุธสามเหล่าในส่วนที่เป็นภาคอากาศ ขีปนาวุธร่อนนำวิถี เอจีเอ็ม-86บี ซึ่งใช้งานครั้งแรกใน พ.ศ. 2525 และได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากโซเวียต จะแทนที่ด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล ขีปนาวุธร่อนล่องหนจะมีความแม่นยำ พิสัย และความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้นกว่าขีปนาวุธร่อนนำวิถีรุ่นก่อนหน้า เพิ่มความน่าจะเป็นของความสำเร็จในภารกิจ อีกทั้งลดความเสี่ยงให้กับลูกเรือ

ประสิทธิภาพของนิวเคลียร์สามเหล่าของสหรัฐฯ จะไม่เพียงแต่กำหนดโดยความทันสมัยของระบบอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความทันสมัยของระบบการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์ที่ปลอดภัย การบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าอาวุธนิวเคลียร์พร้อมใช้งานตามเจตนาทันที แต่จะไม่ใช้อย่างผิดวิธี ระบบการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์ทำหน้าที่สำคัญ 5 ประการดังนี้: การตรวจจับ การเตือน และลักษณะการโจมตี, การวางแผนนิวเคลียร์แบบปรับเปลี่ยนได้, การประชุมเพื่อการตัดสินใจ, การรับคำสั่งจากประธานาธิบดี และการบริหารกำลังพล ระบบนี้ประกอบด้วยเซ็นเซอร์บนพื้นดินและอวกาศที่ตรวจสอบภัยคุกคามทั่วโลก และโครงสร้างการสื่อสารที่เชื่อมโยงผู้มีอำนาจตัดสินใจของประเทศกับกองกำลังนิวเคลียร์ภายใต้สภาวะต่าง ๆ

เพื่อเสริมความสามารถใหม่ของนิวเคลียร์สามเหล่า ระบบการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์กำลังได้รับการปรับปรุงเป็นระบบยุคใหม่ ซึ่ง พล.ร.อ. ริชาร์ด อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ กล่าวว่าเป็นโครงการริเริ่มปรับปรุงทุกด้านของเครือข่ายที่ซับซ้อนอย่างต่อเนื่อง ฐานสำหรับการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์บางแห่งได้รับการพัฒนาในช่วงทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523-2532) และตั้งแต่นั้นมาสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมถึงรัสเซียก็ได้พัฒนาขีดความสามารถที่อาจคุกคามระบบดั้งเดิมนี้ได้ ระบบการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์ยุคใหม่จะมีฐานปฏิบัติการมากกว่า 200 แห่ง ตั้งแต่วิทยุและขั้วสัญญาณที่ฝังตัวอยู่ในระบบประมาณ 60 ระบบ ไปจนถึงดาวเทียมที่ใช้ในการส่งสัญญาณสื่อสารเชิงกลยุทธ์เข้ารหัสไปยังเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับเครื่องบินศูนย์ควบคุมการยิงทางอากาศ อี-6บี หรือเครื่องบินศูนย์ปฏิบัติการทางอากาศแห่งชาติ อี-4บี หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เครื่องบินวันสิ้นโลก” ซึ่งจะรับภารกิจบังคับบัญชาหากระบบภาคพื้นดินล้มเหลว

หนึ่งในจุดสำคัญของระบบได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยแล้ว ใน พ.ศ. 2562 กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ได้เปิดใช้งานศูนย์บัญชาการและควบคุมที่ฐานทัพอากาศอัฟฟุตในรัฐเนแบรสกา ศูนย์บัญชาการและควบคุมแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของการบัญชาการนิวเคลียร์ของประเทศ และถือเป็นก้าวแรกในการปรับปรุงองค์กรนิวเคลียร์ทั้งหมดให้ทันสมัยและจะสนับสนุนการปรับปรุงสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์อื่น ๆ ทั้งหมด เช่น นิวเคลียร์สามเหล่าและระบบการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์

ศูนย์บัญชาการและควบคุมมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 85,100 ตารางเมตร มีบุคลากรกว่า 3,000 คนและมีสายเคเบิลเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนความอยู่รอดในระยะยาวและความน่าเชื่อถือของกองกำลังป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ศูนย์บัญชาการและควบคุมได้รับการออกแบบมาเพื่อพัฒนาไปพร้อมกับภัยคุกคามและขีดความสามารถที่เกิดขึ้นใหม่
ซึ่งช่วยให้สหรัฐฯ สามารถปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในอนาคต

ผู้นำระดับสูงจากสิบกว่าประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ 3 แห่งเข้าร่วมการสัมมนา นิมเบิล ไททัน ที่ฐานทัพเรืออัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อหารือเกี่ยวกับการป้องกันขีปนาวุธแบบพหุชาติ ดอตตี ไวต์/กองทัพบกสหรัฐฯ

การป้องปรามแบบบูรณาการ

การลงทุนของสหรัฐฯ ในการปรับปรุงระบบอาวุธทางยุทธศาสตร์ให้ทันสมัยเป็นความพยายามที่จะรักษาสมดุล เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัสเซียมีการใช้จ่ายด้านกลาโหมอยู่ในระดับสูงเพื่อปรับปรุงกองกำลังรูปแบบเดิมและกองกำลังนิวเคลียร์ให้ทันสมัย อาวุธนิวเคลียร์กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ทางทหารของจีน และยังคงเป็นลักษณะพื้นฐานของรัสเซีย พล.ร.อ. ริชาร์ด กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังมี “ความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์” โดยจะเพิ่มจํานวนหัวรบนิวเคลียร์เป็นสองเท่าหรือสามเท่าภายใน พ.ศ. 2573 อีกทั้งยังปรับปรุงความสามารถและขีดความสามารถของระบบป้องกันขีปนาวุธ กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้กล่าวว่า ร้อยละ 90 ของกองกำลังนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าทั้งรัสเซียและพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่างมีนิวเคลียร์สามเหล่า “แต่คลังอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศก็เป็นตัวชี้วัดความสามารถโดยรวมของประเทศ” พล.ร.อ. ริชาร์ดกล่าวเตือน “เราต้องพิจารณาระบบนำส่ง ความถูกต้อง พิสัย ความพร้อม การฝึกอบรม แนวคิดของการปฏิบัติการ และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าประเทศชาติสามารถทำอะไรได้บ้าง แน่นอน … เรามีคลังอาวุธขนาดใหญ่กว่าจีนในตอนนี้ แต่สองในสามของอาวุธที่เรามีไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสนธิสัญญา และผมต้องยับยั้งรัสเซียและประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศนอกกรอบอย่างเกาหลีเหนือด้วยอาวุธที่เรามีในเวลาเดียวกัน” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีการเปรียบเทียบกับสงครามเย็นสองขั้ว ซึ่งสหรัฐฯ มีอาวุธนิวเคลียร์เพียงประเทศเดียว สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในปัจจุบันนี้มีลักษณะเฉพาะคือ ประเทศที่เป็นพันธมิตรกันสองประเทศต้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก และสหรัฐฯ กับพันธมิตรของตนก็พยายามปกป้องระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา จีนและรัสเซียมีความสามารถในการยกระดับความขัดแย้งเพียงฝ่ายเดียวไปสู่ความเป็นศัตรูในระดับใดก็ได้ ในทุกขอบเขตและในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ใดก็ตามตลอดเวลา พล.ร.อ. ริชาร์ดกล่าว

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมองว่าการป้องปรามเป็นมากกว่าการปรับปรุงระบบอาวุธนิวเคลียร์สามเหล่าและระบบการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์ให้ทันสมัย นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งยังคงพัฒนาขีดความสามารถให้ก้าวข้ามขอบเขตและพรมแดนแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง การเสริมสร้างและขยายขอบเขตการป้องปรามจะครอบคลุมไปทั่วทุกด้าน ได้แก่ การป้องกันขีปนาวุธแบบบูรณาการ อวกาศ และไซเบอร์ รวมถึงการทำความเข้าใจว่าความร่วมมือต่าง ๆ อย่างเช่น ความร่วมมือกับพันธมิตร หรือฐานทางปัญญาและฐานอุตสาหกรรมของประเทศมีความจำเป็นอย่างไรในการสนับสนุนขีดความสามารถในอนาคต แนวทางการป้องปรามแบบบูรณาการนี้มีความยืดหยุ่นที่จำเป็นต่อการวางแผนและดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ปรับใช้สำหรับฝ่ายศัตรูทั้งหมด

ขีปนาวุธสกัดกั้นของระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูงยิงออกไประหว่างการทดสอบ สำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ

การบูรณาการการป้องกันขีปนาวุธเข้ากับนิวเคลียร์สามเหล่า ระบบการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์ยุคใหม่ ตลอดจนนโยบายนิวเคลียร์แห่งชาติช่วยเพิ่มขีดความสามารถและตัวเลือกต่าง ๆ และคาดว่าจะป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งใด ๆ กลายเป็นความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นในยามสงบสุข ในยามวิกฤต หรือในยามขัดแย้ง การป้องกันขีปนาวุธแบบบูรณาการเป็นภารกิจที่สำคัญและต่อเนื่องในการช่วยปกป้องดินแดน ประชากร และกองกำลังจากการโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธ ในปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธระดับยุทธบริเวณ 3 ระบบด้วยกันเพื่อโจมตีขีปนาวุธทิ้งตัวระยะสั้น ระยะกลาง และระยะไกลเพื่อปกป้องดินแดนและภูมิภาค ซึ่งระบบต่าง ๆ ได้แก่ แพทริออท แอดวานซ์ คาพาบิลิตี้-3 ภาคพื้นดินและระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง รวมถึงระบบเอจิสบนภาคพื้นทะเล แม้ว่าระบบเอจิส อะชอร์ จะสามารถนำไปใช้บนบกได้ แต่ละระบบจะใช้ระบบเรดาร์และดาวเทียมในการตรวจจับ จําแนก และติดตามภัยคุกคามหลังจากหัวรบกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและมุ่งเป้าไปที่จรวดหรือขีปนาวุธในระยะถึงที่หมาย

หากนำไปใช้อย่างเหมาะสม ระบบป้องกันขีปนาวุธแบบบูรณาการจะมีตัวเลือกที่หลากหลาย อีกทั้งปิดกั้นความสามารถของศัตรูในการใช้ขีปนาวุธโจมตีเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้ การป้องกันขีปนาวุธจึงมีการป้องปรามได้อย่างมีความมั่นใจยิ่งขึ้นโดยการทำให้ฝ่ายศัตรูเกิดความยับยั้งชั่งใจ นอกจากนี้ โครงการป้องกันขีปนาวุธที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ยังบังคับให้คู่แข่งใช้ทรัพยากรในคลังแสงขีปนาวุธของตนมากขึ้น

จีนและรัสเซียกำลังพัฒนาฐานปล่อยขีปนาวุธขั้นสูงเพื่อท้าทายโครงสร้างเรดาร์ภาคพื้นดินในปัจจุบัน เช่น เซอร์โคเนียมที่ใช้งานได้สองแบบของรัสเซียและยานพาหนะร่อนความเร็วเหนือเสียงของจีน เพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลของความสามารถที่อาจเกิดขึ้น สหรัฐฯ กำลังพัฒนาอาวุธสกัดกั้นยุคใหม่ อาวุธสกัดกั้นร่อนความเร็วเหนือเสียง และเลเซอร์พลังงานสูง รวมถึงเทคโนโลยีพลังงานทิศทางอื่น ๆ เพื่อเสริมระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีอยู่และต่อต้านภัยคุกคามจากขีปนาวุธในอนาคต

การเตือนภัยล่วงหน้าของขีปนาวุธขั้นสูงทุกประเภทยังต้องเสริมแต่งด้วยการวางแผนระดับโลกเพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์การป้องปรามแบบบูรณาการ การออกแบบระบบของคู่แข่งไม่ได้คำนึงถึงขอบเขต ภูมิศาสตร์ หรือการปฏิบัติการ นอกเหนือจากระบบเตือนภัย ติดตาม และต่อต้านแล้ว สหรัฐฯ จะต้องมีมาตรการอื่นในการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ความสามารถในการบังคับบัญชาและควบคุมกองกำลังป้องกันขีปนาวุธจะเป็นผลดีต่อการป้องปราม ระบบการบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์ยุคใหม่และระบบการบังคับบัญชาและการควบคุมร่วมทุกอาณาเขต เป็นส่วนสำคัญในการบูรณาการการป้องกันขีปนาวุธและทำให้การป้องปรามมีประสิทธิภาพมากขึ้น การบังคับบัญชาและการควบคุมร่วมทุกอาณาเขตทำให้มีวิธีการแบ่งปันข้อมูลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นทั่วทั้งกองกำลังร่วม เพื่อให้มั่นใจว่ามีเซ็นเซอร์และเครื่องยิงที่ดีที่สุดเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่อกองกำลังนิวเคลียร์และกองกำลังรูปแบบเดิม การบูรณาการการบังคับบัญชาและ
การควบคุมระบบป้องกันขีปนาวุธสามารถช่วยให้สหรัฐฯ ยับยั้งอาวุธของฝ่ายศัตรูได้ เช่น อาวุธนิวเคลียร์หวังผลต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องจับคู่กับระบบของคู่แข่ง

เรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ ยูเอสเอส เนแบรสกา ทดสอบยิงขีปนาวุธไทรเดนท์ ทู ดี5 แบบไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์ออกนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียเมื่อ พ.ศ. 2561 กองทัพเรือสหรัฐฯ

การทบทวนปฏิบัติการป้องปราม

นิวเคลียร์สามเหล่า การบัญชาการ การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์ รวมถึงการป้องกันขีปนาวุธแบบบูรณาการเป็นองค์ประกอบสําคัญในการป้องปราม จากสภาพแวดล้อมแบบหลากหลายขอบเขตในปัจจุบัน การบูรณาการยังเกิดขึ้นทั่วทั้งอวกาศ โลกไซเบอร์ และพื้นที่สีเทา ซึ่งหมายถึงการตอบโต้เชิงแข่งขันกันระหว่างผู้มีบทบาทของรัฐและนอกรัฐที่อยู่ระหว่างสงครามรูปแบบเดิมและสันติภาพ ความซับซ้อนนี้หมายความว่า กองทัพสหรัฐฯ จำเป็นต้องบูรณาการแวดวงวิชาการและอุตสาหกรรมมากขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายในการป้องปรามในปัจจุบันและอนาคต แม้ว่าภัยคุกคามจากนิวเคลียร์จะแตกต่างจากภัยคุกคามในอดีต แต่การลงทุนในความสามารถทางปัญญาก็ยังคงมีประโยชน์อยู่ ตัวอย่างเช่น แรนด์ คอร์ปอเรชัน สถาบันวิจัยในสหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาสงครามเย็นและสำรวจทฤษฎีการป้องปราม นักทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคนั้นบางคน เช่น นายโทมัส เชลลิง และนายเฮอร์แมน คาห์น มีความกล้าที่จะ “คิดนอกกรอบ” จากวิธีการทางทหารและรัฐบาลแบบดั้งเดิมเพื่อพัฒนาทฤษฎีการป้องปรามนิวเคลียร์เบื้องต้นซึ่งเป็นประโยชน์แก่โลกมานานหลายทศวรรษ

กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ กำลังหาแนวคิดใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีปฏิบัติการป้องปรามเพื่อบูรณาการปรัชญาการป้องปรามให้ครอบคลุมมากขึ้น เมื่อเปลี่ยนมุมมองพื้นฐานเกี่ยวกับการป้องปราม จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้การป้องปรามในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน และวิธีที่การป้องปรามจะช่วยพัฒนากลยุทธ์เมื่อดำเนินการตามแผนเพื่อสนับสนุนการป้องกันที่ครอบคลุมร่วมกัน ปรัชญาการป้องปรามแบบบูรณาการให้ความสำคัญกับการรวมเหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ เข้ากับทุกแง่มุมของการป้องปรามร่วมกัน

ความสามารถในการทำงานร่วมกันของพันธมิตรและหุ้นส่วนจะรักษาเสรีภาพในการดำเนินการ เพิ่มพูนความรู้และทางเลือก ตลอดจนทำให้เกิดการร่วมมือป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ความพยายามที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับหุ้นส่วนยังคงดำเนินต่อไปผ่านเกมสงคราม เช่น นิมเบิล ไททัน ประเทศทั้ง 24 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ 3 แห่งเข้าร่วมการฝึกซ้อม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการแบบพหุชาติที่มุ่งเสริมสร้างแนวคิดการทำงานร่วมกันและการป้องกันประเทศ การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ตอกย้ำว่าสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนพร้อมที่จะรับมือกับการโจมตีเชิงยุทธศาสตร์ผ่านระบบการป้องปรามแบบบูรณาการเหล่านี้ โครงการป้องปรามนิวเคลียร์แบบบูรณาการที่แข็งแกร่งยังช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ โดยจำกัดแรงจูงใจของพันธมิตรและหุ้นส่วนในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

การฝึกซ้อมพหุภาคียังช่วยป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ เชื่อว่าตนจะได้รับประโยชน์จากการใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ด้วยวิธีนี้ แม้ว่าขนาดและความรุนแรงของสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่การป้องปรามแบบบูรณาการก็ช่วยรักษาเสถียรภาพและสันติภาพของโลกเอาไว้ ด้วยความทันสมัยและความก้าวหน้าของระบบป้องปรามแบบบูรณาการของสหรัฐฯ และพันธมิตร คู่แข่งด้านนิวเคลียร์และคู่แข่งที่มีศักยภาพควรมองให้ออกว่าเป็นการลงทุนมากเกินไปและยากที่จะเอาชนะ แล้วหันมาเลือกเข้าร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางนิวเคลียร์หรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด

เมื่อภัยคุกคามจากฝ่ายศัตรูเพิ่มมากขึ้น การป้องปรามก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังปรับแต่งและพัฒนาการป้องปรามนิวเคลียร์สำหรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ การป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ต้องอาศัยการบูรณาการความสามารถในทุกด้านทั้งภายในและภายนอกกองทัพสหรัฐฯ ระบบการบัญชาการ
การควบคุม และการสื่อสารด้านนิวเคลียร์ที่ทันสมัยและการลงทุนในขีดความสามารถอื่น ๆ เช่น การป้องกันขีปนาวุธแบบบูรณาการ
จะเพิ่มทางเลือกและยกระดับการป้องปรามนอกเหนือไปจากนิวเคลียร์สามเหล่า

เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้วที่การป้องปรามได้ช่วยให้โลกไม่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรง โดยยังคงสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารและกิจกรรมทางการทูตทั้งหมดของสหรัฐฯ ทั่วโลก การป้องปรามแบบบูรณาการจะยังคงเป็นแผนรับมือและรากฐานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้

บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เปอร์ คอนคอร์เดียม เล่มที่ 12 ฉบับที่ 3
เปอร์ คอนคอร์เดียม เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำยุโรป

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button