ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดเอเชียใต้

สถานการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้นตลอดแนวชายแดนอินเดียและจีน

มันดีป ซิงห์

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล่าสุดทำให้สถานะของรัฐอรุณาจัลประเทศมีความเด่นชัดยิ่งขึ้นในฐานะจุดเกิดสถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงระหว่างอินเดียและสาธารณรัฐประชาชนจีน จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สูงทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียแห่งนี้ตั้งอยู่ทางใต้ของชายแดนที่เป็นข้อพิพาทระหว่างจีนและอินเดีย จีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ขนาด 90,000 ตารางกิโลเมตรในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งจีนเรียกที่แห่งนี้ว่าทิเบตใต้

การที่จีนทำการเปลี่ยนชื่อสถานที่ 11 แห่งในอรุณาจัลประเทศ ได้แก่ พื้นที่ทางดิน 2 แห่ง พื้นที่ที่อยู่อาศัย 2 แห่ง ยอดเขา 5 แห่ง และแม่น้ำ 2 แห่ง ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 นับเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวล่าสุดท่ามกลางความไม่เห็นพ้องกันอันยาวนานเกี่ยวกับเจ้าของอาณาเขตแห่งนี้ ตามรายงานของดิอินเดียนเอ็กซ์เพรส นับเป็นครั้งที่สามตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ที่จีนได้ตั้งชื่อจีนให้กับสถานที่ต่าง ๆ ภายในอาณาเขตแห่งนั้น และอินเดียก็ได้เย้ยหยันในการกระทำเหล่านั้นทุกครั้ง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอินเดียนเอ็กซ์เพรส

“เราปฏิเสธเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง” นายอารินดัม บักชี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กล่าวหลังจากที่จีนเผยแพร่รายชื่อใหม่ล่าสุดของตน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอินเดียนเอ็กซ์เพรส “อรุณาจัลประเทศเป็น เคยเป็น และจะเป็นส่วนสำคัญและส่วนที่ไม่อาจแยกจากของอินเดียได้เสมอไป ความพยายามในการตั้งชื่อที่คิดขึ้นมาใหม่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงนี้ได้”

ข้อพิพาทบริเวณชายแดนได้จุดชนวนให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารล่าสุดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 เมื่อการต่อสู้เกิดขึ้นรอบ ๆ เมืองตาวัง ซึ่งเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวทิเบตที่นับถือศาสนาพุทธในอรุณาจัลประเทศ (ภาพ: ป้ายที่มองเห็นได้จากฝั่งอินเดียของชายแดนอินเดียและจีนที่ถนนบัลมาในอรุณาจัลประเทศ) เจ้าหน้าที่อินเดียกล่าวว่า กองกำลังของกองทัพปลดปล่อยประชาชนข้ามชายแดนเข้าสู่อินเดีย และพยายามที่จะ “เปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่เพียงฝ่ายเดียว” ท้ายที่สุดแล้ว กองกำลังของจีนก็ข้ามชายแดนกลับไปยังดินแดนฝั่งตนเองเมื่อการปะทะกันโดยไม่มีการใช้อาวุธปืนสิ้นสุดลง ทั้งสองฝั่งต่างได้รับบาดเจ็บ

การต่อสู้กันที่ร้ายแรงยิ่งกว่าระหว่างกองกำลังของอินเดียและกองทัพปลดปล่อยประชาชนเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2563 ในหุบเขากัลวาน ซึ่งตั้งอยู่ในแนวชายแดนระหว่างอินเดียและจีนเช่นกัน โดยอยู่ห่างเมืองตาวังไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1,500 กิโลเมตร มีทหารอินเดีย 20 คนและกองกำลังจีนอีกไม่ทราบจำนวนเสียชีวิต

ประเทศอื่น ๆ เข้าข้างอินเดีย เช่น วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาพิจารณามติของทั้งสองพรรคเพื่อยืนยันว่าอรุณาจัลประเทศเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียที่ไม่สามารถลบล้างได้ นักวิเคราะห์ชาวอินเดียกล่าวว่า มติดังกล่าวยอมรับว่าเส้นแมคมาฮอนในยุคอาณานิคมเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

“การที่สหรัฐฯ แสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยและแข็งขันต่อข้อพิพาทชายแดนระหว่างอินเดียและจีนเป็นเรื่องผิดปกติ และมีความสำคัญอย่างยิ่งในบริบทของการเพิ่มความร่วมมือระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ เพื่อปรับความสมดุลให้การรุกรานของจีนและนโยบายการขยายอำนาจ” นางไชรี มัลโหตรา นักวิจัยที่มูลนิธิออปเซอร์เวอร์ รีเสิร์ช ฟาวน์เดชันในนิวเดลีกล่าวกับ ฟอรัม

เส้นแมคมาฮอนได้รับการกำหนดขึ้นใน พ.ศ. 2458 โดยอนุสัญญาชิมลา ซึ่งประกอบไปด้วย บริเตนใหญ่ จีน และทิเบต ซึ่งได้ประกาศอิสรภาพเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น นางมัลโหตรากล่าวว่า รัฐบาลอินเดียได้ยึดเส้นนี้เป็นชายแดนของตนกับทิเบต นั่นจึงเป็นการรวมอรุณาจัลประเทศเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอธิปไตยของอินเดีย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงยืนกรานว่าอรุณาจัลประเทศเป็นส่วนหนึ่งของทิเบต และจึงต้องอยู่ภายใต้การปกครองของจีน

พ.อ. โจว โป ผู้เกษียนอายุ จากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ได้กล่าวกับบีบีซีเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ว่าอรุณาจัลประเทศเป็น “ทิเบตใต้” และเป็นของจีน

“คำกล่าวอ้างเช่นนี้ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทอันยาวนานระหว่างอินเดียและจีน ซึ่งทำให้เกิดสงครามสงครามจีน-อินเดียใน พ.ศ. 2505 ซึ่งจีนได้รับชัยชนะเชิงยุทธศาสตร์เหนืออินเดีย” นางมัลโหตรากล่าว “แทนที่จะพยายามบรรเทาความตึงเครียด แต่จีนดูเหมือนจะมุ่งมั่นที่จะยั่วยุอินเดียผ่านการเผชิญหน้าทางทหารที่รุนแรงและการต่อสู้กันที่ชายแดนที่มีการจัดกำลังทหารไว้อย่างหนาแน่น โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่”

การหารือหารือหลายครั้งระหว่างเจ้าหน้าที่อินเดียและจีนแทบจะไม่มีผลในการลดความตึงเครียดบริเวณชายแดนลงเลย

“นอกเหนือจากการใช้กำลังทหารแล้ว จีนยังได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ หลายประการ รวมถึงการสร้างหมู่บ้านในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท การเผยแพร่แผนที่ที่เมืองต่าง ๆ ในอรุณาจัลประเทศได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นภาษาจีน และการสร้างสิ่งก่อสร้างเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค” นางมัลโหตรากล่าว

ภาพจาก: รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button